parallax background

วัฒนธรรมบันเทิงบนชุมทางอาเซียน

วัฒนธรรมบันเทิงบนชุมทางอาเซียน
Entertainment Culture at the ASEAN Crossroads

จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์


ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ คงไม่มีหัวเรื่องใดที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนากันบ่อยครั้งเท่ากับเรื่องราวของประชาคมอาเซียน การรวมตัวอย่างเป็นรูปธรรมของชาติสมาชิก 10 ชาติในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าย่อมจะนำกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่มาสู่ชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แง่มุมต่างๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า การบริหารรัฐกิจและการศึกษา ไดัถูกนำมาเล่าขานผ่านวงสนทนาวิชาการและสื่อสารมวลชนกันอย่างสม่ำเสมอ ณ เวลานี้เรารู้จักเพื่อนบ้านกันมากขึ้นในความเป็นรัฐชาติและเขตเศรษฐกิจการเมือง ในฐานะของแหล่งส่งป้อนวัตถุดิบและบริการ ในฐานะของตลาดทางการค้าและการลงทุน แต่ในฐานะมนุษย์และสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนนั้นเรากลับรู้จักกันน้อยมาก เรายังคงสัมพันธ์กันอย่างคนแปลกหน้าด้วยสายตาดูถูกดูแคลนและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อคติทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เรามีต่อกันมาเนิ่นนานนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะเลือนจางหายไปโดยง่าย

บทความชุด “วัฒนธรรมบันเทิงบนชุมทางอาเซียน” เป็นผลผลิตจากความสนใจส่วนตัวและการเก็บเล็กผสมน้อยของผู้เขียน ในการสำรวจและศึกษาสื่อบันเทิงคดีอันเป็นที่นิยมและเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละชาติสมาชิก โดยมีสมมติฐานว่าวัฒนธรรมบันเทิงเหล่านี้จะเป็นหน้าต่างที่เปิดออกไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในอาเซียนและจะทำให้เราได้รู้จักกันและกันมากขึ้นในมิติของความเป็นมนุษย์

ทำไมต้องเป็นวัฒนธรรมบันเทิง?

เพราะผู้เขียนเชื่อว่าวัฒนธรรมบันเทิงมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ ผู้เขียนหยิบยืมการให้ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” มาจากเรย์มอนด์ วิลเลี่ยมส์ (1993) ผู้ซึ่งมองว่าวัฒนธรรมเป็นระบบของสัญญะอย่างหนึ่งที่กลุ่มคนหรือชุมชนยอมรับและใช้เป็นสื่อกลางในการประกอบสร้าง แลกเปลี่ยนและสืบทอดความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงสร้างของความรู้สึก” อันเป็นความหมายเชิงอารมณ์และประสบการณ์ที่เชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิดและค่านิยมของกลุ่มคนในพื้นที่และเวลาหนึ่งๆ  เข้าไว้ด้วยกัน ในทัศนะของวิลเลี่ยมส์นั้นโครงสร้างของความรู้สึกจะทำงานอย่างมีประสิทธิผลมากในกระบวนการสื่อสารของงานศิลปะและบันเทิงคดีที่สร้างและเสพย์กันในชุมชนนั้นๆ กล่าวในอีกนัยยะหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมบันเทิงเป็นจิตสำนึกร่วมที่เชื่อมโยงปัจเจกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชน พร้อมๆ กันกับที่เป็นพื้นที่ทางการสื่อสารที่มนุษย์ใช้ครุ่นคิดทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต

อย่างไรก็ตามผู้เขียนต้องขอย้ำว่า ความหมายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของวัฒนธรรมบันเทิงไม่ใช่ความหมายเชิงข้อมูลที่นำเสนอภาพของโลกอย่างที่เป็นอยู่ ความหมายในพื้นที่แห่งนี้เป็นความหมายเชิงจินตนาการที่แสดงภาพของโลกที่อาจเป็นไปได้ในจิตสำนึกของผู้คน กล่าวคือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมหรือละครอาจไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ก็จะชี้ให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่ในความคิดคำนึงของคนในสังคมนั้นๆ หรือภาพของนักแสดงยอดนิยมที่ปรากฎอยู่ตามสื่อก็ไม่ได้บอกเราว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีรูปร่างหน้าตาเช่นนั้นเพราะสิ่งที่มันแสดงให้เราเห็นก็คือแบบอย่างของความงามที่สังคมนั้นๆ ให้คุณค่าและใฝ่ฝันถึง

ภูมิทัศน์วัฒนธรรมบันเทิงอาเซียน

การเดินทางของผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการสำรวจบันเทิงคดีในอาเซียน อันประกอบด้วยการละครและฟ้อนรำ ทัศนศิลป์และคีตศิลป์ กีฬาและการละเล่น ตลอดจนการบริโภคอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพื่อที่จะดูว่ามีการสร้างสรรค์และเสพย์บันเทิงคดีรูปแบบใดอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง จากนั้นผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะอันเป็นเฉพาะของบันเทิงคดีในแต่ละพื้นที่และมองหาความเชื่อมโยงกับบันเทิงคดีที่พบในพื้นที่อื่นๆ ข้อค้นพบสำคัญที่ผู้เขียนได้พบในระหว่างทางก็คือวัฒนธรรมบันเทิงในภูมิภาคแห่งนี้ก็มีลักษณะที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่มากกว่าที่เราคิด เมื่อผสานข้อค้นพบของผู้เขียนเข้ากับความรู้พื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ผู้เขียนก็ได้ลองจำแนกภูมิทัศน์วัฒนธรรมพื้นถิ่นอาเซียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแถบเทือกเขาและที่ราบสูง
  2. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแถบที่ราบบนพื้นทวีป
  3. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแถบคาบสมุทรและหมู่เกาะ

การมองวัฒนธรรมบันเทิงอาเซียนโดยอาศัยกรอบภูมิทัศน์วัฒนธรรม ช่วยให้ “เรา” ที่หมายรวมทั้งผู้อ่านและผู้เขียน สามารถมองก้าวข้ามพรมแดนของความเป็นรัฐชาติออกไปได้ในเบื้องต้น อีกทั้งยังช่วยเปิดเผยให้เราเห็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาติสมาชิกที่มีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่ ตัวอย่างที่อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นตัวอย่างด้านวัฒนธรรมทางดนตรีที่ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมเผยให้เราเห็นการกระจายตัววงดนตรีที่มีการประสมวงด้วยเครื่องเคาะล้วนๆ แบบกาเมลัน-กุลินตางในแถบฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียไล่เรื่อยมาจนถึงแถบจังหวัดนครศรีธรรมราชบนคาบสมุทรมาลายา ในขณะที่เมื่อเดินทางเข้าเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำในไทย พม่า ลาว และกัมพูชาเราก็จะพบการกระจายตัวของเสียงดนตรีที่ประสานเสียงด้วยเครื่องสายและเครื่องเป่าแบบมโหรี-ปี่พาทย์มากขึ้น โดยเมื่อยิ่งเดินทางลึกเข้าไปสู่เขตเทือกเขาและที่ราบสูงของพม่า ลาว ไทยและเวียดนามเราก็จะได้ยินเสียงเครื่องสายและเครื่องเป่าเด่นชัดขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็จะเห็นได้ว่าดนตรีพื้นถิ่นอาเซียนที่มีรายละเอียดและชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น ปี่พาทย์ hsaing-waing กาเมลัน กุลินตาง ฯ นั้น ล้วนแต่มีเสียงของเครื่องเคาะ เช่น กลอง ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบเป็นเสียงหลักในการประสมวงด้วยกันทั้งสิ้น

อัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน

การที่ชาติสมาชิกอาเซียนมีวัฒนธรรมร่วมกันนั้นในมิติหนึ่งก็เหมือนกับมีน้ำยาประสานอันวิเศษที่จะเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ ในประชาคมเข้าด้วยกันได้ แต่ในมุมกลับกันความเหลื่อมซ้อนนี้เองที่เป็นตัวก่อปัญหาให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาติสมาชิกอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการบริโภควัฒนธรรมบันเทิงนั้นถูกนำไปเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ความเป็นรัฐชาติและอัตลักษณ์ของชาติ

เมื่อราวปี พ.ศ. 2550 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งมาเลเซียได้เผยแพร่โฆษณาชุด “Rasa Sayang Eh!” ไปทั่วโลกเพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศมาเลเซีย ในชั่วเวลาไม่นานหลังจากออกอากาศ โฆษณาที่มีความยาวเพียง 2 นาที 13 วินาทีนี้ก็ได้กลายเป็นชนวนปัญหาความสัมพันธ์ระดับประเทศระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายได้โดยง่าย ปัญหาของโฆษณาชุดนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาการชวนเชื่อหรือการที่มาเลเซียให้ภาพด้านลบของอินโดนีเซีย แต่ปัญหานั้นอยู่ที่การที่มาเลเซียนำเพลง “Rasa Sayangge” เพลงพื้นบ้านสั้นๆ ที่ทั้งสองประเทศถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของมาใช้ประกอบการนำเสนอตัวตนของมาเลเซียสู่สายตาชาวโลก โดยอินโดนีเซียยืนยันว่าเพลงดังกล่าวมีต้นกำเนิดมาจากหมู่เกาะโมลุกกะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอินโดนีเซียและกล่าวหามาเลเซียว่าเป็นโจรขโมยอัตลักษณ์ ในขณะที่มาเลเซียก็แก้ต่างว่ามาเลเซียเองก็เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะNusantaraจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเป็นเจ้าของร่วมในเพลงๆ นี้

หากมองอยู่ห่างๆ กรณีความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียอาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ถ้าเราลองนึกเทียบกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อครั้งที่กัมพูชาจะจดสิทธิบัตรท่ารำเขมรซึ่งคล้ายคลึงกับท่ารำไทย หรือเมื่อครั้งที่มีข่าวลือว่านักแสดงยอดนิยมของไทยคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่าปราสาทนครวัดเป็นของประเทศไทยจนทำให้เกิดเหตุการณ์เผาสถานฑูตและธุรกิจไทยในกรุงพนมเปญ เราก็จะพบว่าประเด็นความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์นั้นเป็นประเด็นเล็กๆ แต่ซับซ้อนละเอียดอ่อนจนสามารถที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับมหภาคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตลักษณ์และตัวตนนั้นถูกนำไปผูกอยู่กับวัฒนธรรมบันเทิงที่ประกอบด้วยเนื้อหนัง อารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการที่สามารถจับต้องได้

ในทางวัฒนธรรมศึกษาตัวตนหรืออัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นของปัจเจกบุคคลหรือชุมชนล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจินตนาการของมนุษย์ เรามักจะรวมเอาสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ เราเข้ามารวมกันไว้ส่วนหนึ่งและจำแนกสิ่งที่เราคิดว่าไม่ใช่ตัวเราหรือของๆ ออกไปอยู่ในส่วนอื่น กล่าวคือในขณะที่เราจินตนาการถึงตัวตนของเรานั้นเราก็มักจะจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเราไปพร้อมๆ กัน ในจินตนาการของรัฐชาติร่างกายและตัวตนของอินโดนีเซียจึงประกอบด้วยพื้นที่ทางกายภาพและการแสดงออกทางวัฒนธรรมของเกาะโมลุกกะ และด้วยเหตุนี้การที่มาเลเซียนำเพลง “Rasa Sayangge” ไปใช้ในโฆษณาการท่องเที่ยวของตนจึงเปรียบได้กับการอ้างสิทธิในตัวตนและร่างกายของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตามอัตลักษณ์ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวหรือมีขอบเขตแน่นอน อวตาร บราห์ (1996) นักมานุษยวิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับผู้อพยพย้ายถิ่นได้ตั้งข้อสังเกตว่าอัตลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้บริบทแวดล้อมหนึ่งๆ เมื่อบริบทแวดล้อมเปลี่ยนชุมชนและปัจเจกก็จะพยายามค้นหาอัตลักษณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับการดำรงอยู่ในพื้นที่ เวลาและสถานการณ์ใหม่ ในข้อนี้เราจะเห็นได้ชัดจากกรณีอัตลักษณ์ของมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ในช่วงเวลาปกติก็ไม่ได้ผูกพันอยู่กับเพลงพื้นบ้านหรือวัฒนธรรมจากเกาะโมลุกกะนี้สักเท่าไร เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วอัตลักษณ์ของอินโดนีเซียก็จะผูกพันอยู่กับศิลปวัฒนธรรมราชสำนักบนเกาะชวา ในขณะที่อัตลักษณ์ของมาเลเซียก็มักจะโยงใยอยู่กับพัฒนาการของรัฐสุลต่านบนคาบสมุทรมาลายา แต่เมื่อเกิดกรณีเพลง “Rasa Sayangge” ขึ้นมา เราก็จะเห็นว่าทั้งสองประเทศต่างก็พยายามที่จะรวมเอาวัฒนธรรมที่เคยเป็นอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของตน นอกจากนี้แล้วที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คืออัตลักษณ์ของความเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Nusantara ที่มาเลเซียยกอ้างขึ้นมานั้นในมุมหนึ่งก็เป็นจินตนาการที่รัฐชาติอินโดนีเชียสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิ์โบราณที่โดยปกติแล้วประวัติศาสตร์ของรัฐชาติมาเลเชียมักจะพยายามแยกตัวออกห่างหรือพูดถึงเพียงผ่านๆ เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ในบริบทของความเป็นรัฐชาติ วัฒนธรรมบันเทิงถือเป็นเครื่องเสริมสร้างอัตลักษณ์ที่ทำให้รัฐชาติหนึ่งแตกต่างจากรัฐชาติอื่นๆ หากมองในบริบทของความเป็นประชาคมอาเซียน คำถามของเราก็คือ วัฒนธรรมบันเทิงจะสามารถมีพลังในการเชื่อมโยงสมาชิกของประชาคมนี้เข้าด้วยกันได้หรือไม่? และอะไรคืออัตลักษณ์และตัวตนของอาเซียนที่ถูกสื่อสารออกมาในวัฒนธรรมบันเทิงชุดเดียวกันนี้?

วัฒนธรรมบันเทิงบนชุมทางอาเซียน

เนื้อหาของบทความชุด “วัฒนธรรมบันเทิงบนชุมทางอาเซียน” ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนแนวคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์และจิตสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมบันเทิงของชาติสมาชิกอาเซียนใน 3 กลุ่มเนื้อหาด้วยกัน คือ

  1. ร่างกายในพื้นที่และเวลา
  2. จินตนาการและความใฝ่ฝัน
  3. ตัวตนและความเป็นอื่น

ร่างกายในพื้นที่และเวลา

ร่างกายของมนุษย์นั้นเป็นเครื่องแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์และตัวตนของปัจเจกที่เด่นชัดที่สุด ในมุมมองของนักปรากฏการณ์นิยม ร่างกายของมนุษย์เป็นคลังข้อมูลสำคัญที่จดบันทึกประสบการณ์และความทรงจำร่วมของสังคมเอาไว้ เนื้อหาของบทความในกลุ่มนี้จะครอบคลุมการสำรวจรูปลักษณ์และความหมายของร่างกายที่ปรากฏในจิตรกรรมและนาฏศิลป์จารีตนิยมที่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ผ่านเลยมาจนถึงการค้นหาร่างกายและการเคลื่อนไหวแบบใหม่ของนักเต้นในนาฏศิลป์ร่วมสมัย ตลอดจนการวิเคราะห์แรงปรารถนาและจิตสำนึกของสังคมที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายของนักแสดงยอดนิยม

นอกจากนี้ ผู้เขียนก็ยังจะสำรวจร่างกายของวัฒนธรรมในรูปของสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น โรงละครและศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้เขียนสนใจว่าสังคมแต่ละสังคมจินตนาการอะไรเกี่ยวกับตนเองผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรมและเนื้อหาของชิ้นงานที่นำมาจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้ ภายใต้กลุ่มของเนื้อหาเดียวกันนี้ ผู้เขียนก็อยากที่จะแนะนำนักการละครร่วมสมัยของอาเซียนที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้เห็นตัวตนของพวกเขาทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์และในรูปของผลงาน

จินตนาการและความใฝ่ฝัน

บทความในกลุ่มนี้จะเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่แสดงออกมาในสื่อบันเทิง เราอยากรู้ว่าผู้คนในอาเซียนคิดฝันอะไรอยู่? และเรามีความคิดฝันร่วมกันหรือไม่?

ผู้เขียนจะเริ่มต้นการสำรวจจินตนาการของอาเซียนผ่านวรรณกรรมและกวีนิพนธ์ ที่เป็นรูปแบบของการแสดงออกทางความคิดและอารมณ์ที่เข้มข้นที่สุด จากนั้นเราก็พุ่งความสนใจไปที่ดนตรีร่วมสมัยและเพงประชานิยมที่อาจเป็นภาษาสากลของอาเซียนที่เราสามารถใช้สื่อสารระหว่างกันได้โดยแทบไม่ต้องการการแปลความหมาย

นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนก็จะให้ความสนใจกับ ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในอาเซียนที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดทั้งรูปลักษณ์ เนื้อหาและวีธีการแสดงออก โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องเล่าแบบซินเดอเรลล่าที่แสดงภาพชะตาชีวิตที่เปลี่ยนจากร้ายเป็นดีของเด็กสาวกำพร้าผู้อาภัพที่อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงใจร้าย เราจะพบโครงเรื่องที่ประกอบด้วยเรื่องราวความขัดแย้งริษยาในครอบครัว การทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว และการพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของนางเอกเช่นนี้กระจายอยู่ในทุกประเทศ ในทุกรูปแบบของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นนิทานสำหรับเด็ก ละครพื้นบ้าน หรือนวนิยายและละครเริงรมย์ร่วมสมัย

เรื่องเล่าอีกประเภทหนึ่งที่เราพบบ่อยในสื่อบันเทิงอาเซียนก็คือเรื่องผี ไม่น่าเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วผู้คนในอาเซียนมีจิตนาการเกี่ยวกับความกลัวที่คล้ายๆ กัน ผีกระสือ ผีกระหัง หรือผีปอบ ฯลฯ ที่เราคิดว่าเป็นผีแบบไทยๆ นั้นกลับมีฝาแฝดอาศัยอยู่ในหลายๆ ประเทศในอาเซียน ความเชื่อเรื่องผีที่เรามีร่วมกันนี้อาจเป็นคำอธิบายให้แก่ความสำเร็จในระดับภูมิภาคของภาพยนตร์สยองขวัญที่สร้างโดยผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้

ในจำนวนบันเทิงคดีที่ผู้เขียนสนใจสำรวจ รายการประเภทเกมส์โชว์อาจเป็นวัฒนธรรมบันเทิงที่สะท้อนให้เห็นความใฝ่ฝันของคนในสังคมหนึ่งๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะรางวัลที่แจกแถมกันในรายการเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นสิ่งที่ผู้คนในแต่ละสังคมปรารถนาอยากจะได้มาเป็นเจ้าของ ซึ่งในสำหรับบางสังคมรางวัลที่เป็นสุดยอดปรารถนานั้นอาจเป็นบ้านหรือรถ ในขณะที่สำหรับบางสังคมสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของการเป็นผู้ชนะ นอกจากนี้แล้วสิ่งที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือวิธีการที่ผู้แข่งขันจะได้มาซึ่งรางวัลเหล่านั้น กล่าวคือ ในบางสังคมการที่คนๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยแรงกายและสมองแต่สำหรับบางสังคมแล้วความสำเร็จอาจต้องอาศัยเพียงโชคล้วนๆ

ตัวแทนของภาพความฝันที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือบันเทิงคดีประเภทนิตยสารเชิงไลฟ์สไตล์ที่เติบโตขึ้นอย่างมากไปพร้อมๆ กับอำนาจในการบริโภคจับจ่ายของผู้คนในอาเซียนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาพของไลฟ์ไสตล์ที่ปรากฏอยู่ในหน้านิตยสารเหล่านี้เป็นทั้งภาพในจินตนาการที่แต่ละประเทศมีเกี่ยวกับตนเอง และในขณะเดียวกันก็เป็นภาพที่แสดงดินแดนในฝันที่ผู้คนใช้หลีกหนีออกไปจากความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งสำหรับหลายๆ ประเทศดินแดนเหล่านั้นอาจมหานครอันทันสมัย ในขณะที่สำหรับบางประเทศก็อาจจะเป็นชายหาดและป่าเขาหรือย่านตลาดเก่าร้อยปี

กีฬาเป็นมหรสพกึ่งพิธีกรรมที่มนุษย์ใช้แสดงออกถึงความเป็นกลุ่มก้อนและความเป็นชาติได้อย่างไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ในการเชียร์กีฬาเราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชนได้อย่างชัดเจน หากไม่นับการชุมนุมปราศรัยหรือประท้วงทางการเมืองแล้วพื้นที่ริมขอบสนามกีฬาอาจเป็นพื้นที่เดียวที่เราจะเห็นมนุษย์แสดงอารมณ์อันพลุ่งพล่านออกมาได้โดยไม่ต้องปกปิด การแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ เช่น เอเชี่ยนเกมส์หรือโอลิมปิกส์ ในมิติหนึ่งนั้นก็เป็นการละเล่นกระชับมิตรระหว่างชุมชน แต่ในอีกมิติหนึ่งนั้นก็เป็นดั่งโลกจำลองขนาดย่อมของการแข่งขันทางการเมืองและการศึกสงคราม

ในท่ามกลางความวุ่นวายของโลกมหรสพทางจิตวิญญาณเป็นสื่อกลางที่น้อมนำใจของเราสู่อุดมคติแห่งชีวิต ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังก้าวไปข้างหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะหวนคืนสู่หลักธรรมทางศาสนา นอกจากนี้การกำเนิดของศาสนาใหม่ๆ หรือการมองพิธีกรรมและศาสนธรรมดั้งเดิมในมุมใหม่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการค้นหาความหมายทางจิตวิญญาณของผู้คนในบริบทที่เปลี่ยนไป

ตัวตนและความเป็นอื่น

ความรู้สึกเชื่อมโยงนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นชุมชนความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมที่กลายเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนล้วนมีกำเนิดมาจากการที่คนกลุ่มหนึ่งไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับตัวตนหรืออัตลักษณ์หลักของสังคมทั้งสิ้น ปัญหายะไข่ ปัญหาปัตตานี ปัญหามินดาเนา ปัญหาอาเจะห์ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและชาติพันธ์ที่อาเซียนจะต้องหาทางแก้ไข

วัฒนธรรมบันเทิงมีพลังในการเชื่อมโยงและแบ่งแยก “พวกเรา” ออกจาก “พวกเขา” ในกระบวนการค้นคว้าข้อมูลเพื่อจัดนิทรรศการให้ครั้งนี้ทำให้เราเมีประสบการณ์ด้วยตนเองว่าการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมนั้นทำให้ “เรา” รู้สึกเชื่อมโยงกับ “เขา” ได้อย่างไร เราค้นคว้าข้อมูลเอกสาร สืบค้นข้อมูลภาพและเสียง ทำการวิจัยภาคสนาม เอาข้อมูลต่างๆ มาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวเพื่อนำมาเล่าต่อด้วยมุมมองและเสียงของเรา “พวกเขา” ที่เคยอยู่ข้างนอกนั่นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ชุมชนเรา”

ศาสตราจารย์เบนเนดิก แอนเดอร์สัน (1991) ได้ให้ทัศนะว่า “ชุมชน” ไม่ว่าจะเป็นชุมชนใดๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของมนุษย์ โดยความเป็นชุมชนนั้นไม่จำเป็นที่ต้องถูกนิยามด้วยพื้นที่ทางกายภาพหรือการปะทะสังสรรค์ตัวต่อตัวเท่านั้น แต่ความเป็นชุมชนยังเกิดขึ้นจากความรู้สึกความเชื่อมโยงกันของมนุษย์ที่มีความสนใจหรือมีอัตลักษณ์บางอย่างร่วมกัน ซึ่งในทัศนะของวอลเตอร์ ฟิชเชอร์นั้นความรู้สึกเชื่อมโยงกันดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “เรื่องเล่า” ที่คนในชุมชนหนึ่งๆ ร่วมกันเขียนขึ้นอย่างเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่คนในชุมชนนั้นๆ ต้องการจะให้เป็น (Fisher 1992 cited in Hinchman & Hinchman 2001: xxv). ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อว่าเราไม่สามารถปล่อยให้อนาคตของประชาคมอาเซียนอยู่ในแต่มือของนักปกครองหรือนักกฏหมายเพียงถ่ายเดียว ประชาชนทุกคนในประชาคมอาเซียนจะต้องมาร่วมกันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต อารยธรรม ความเป็นมาและอนาคตของชุมชนในจินตนาการแห่งนี้

บรรณานุกรม

  • Anderson, B., Imagined communities : reflections on the origin and spread of nationalism (London : Verso, 1991)
  • Brah A., Cartographies of Diaspora (London : Routledge, 1996)
  • Hinchman, L. P. & Hinchman, S.,  Memory, Identity, Community: The Idea of Narrative in the Human Sciences (Albany : State University of New York Press)
  • Nicholson, H. Applied Drama: the gift of theatre (London: Palgrave)
  • Williams, R., Culture and Society (London : The Hogarth Press)


Jirayudh Sinthuphan
Jirayudh Sinthuphan
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ - ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย