parallax background

The Intern: กลยุทธ์การสร้างความประทับใจในที่ฝึกงาน

The Intern: กลยุทธ์การสร้างความประทับใจในที่ฝึกงาน

ปภัสสรา ชัยวงศ์, ณัฐรัตน์ ตรีชัยพรศักดิ์, นพธิรา เอกสิทธิชัย และ พัทธ์วลี อธิชาธนะสิริ


เวียนกลับมาอีกครั้ง สำหรับโครงการปริญญานิพนธ์ทางวาทนิเทศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า senior project ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายของนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวาทนิเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ (สนับสนุนทุนดำเนินงานโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่เคยเป็นมาเสมอ) วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการ คือ การเปิดพื้นที่การเรียนรู้แบบ Action Research เพื่อให้นิสิตนำความรู้ทางวาทนิเทศและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาประยุกต์ใช้ เรียนรู้กระบวนการการบริหารโครงการอย่างมืออาชีพและครบวงจร มีความสมจริงสมจังเพื่อจะพร้อมเข้าสู่การทำงานและการบริหารโครงการในอนาคต และจะได้เผยแพร่ต่อผู้สนใจทางเว็บไซต์ของทางภาควิชาฯ ตามรอยของรุ่นพี่นิเทศ จุฬาฯ 49

ในปีนี้ ผู้สอนได้กำหนดธีมโครงการปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” เพื่อสอดรับกับแนวทางของมหาวิทยาลัยว่าด้วย “นวัตกรรม คิด ทำ เพื่อสังคม” และยังคงจัดการเรียนการสอนแบบ intensive และ exclusive ดังที่เคยปฏิบัติมา ในเชิงกระบวนการ หลังจากแต่ละกลุ่มได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ “ตลาด” ซึ่งได้แก่ การอ่านบทความ งานวิจัย และเก็บข้อมูลเบื้องต้นจากกลุ่มเป้าหมายของตนเองแล้ว นิสิตก็ได้เสนอหัวข้อปริญญานิพนธ์ จากนั้นทำการค้นคว้าแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อ “สร้างและพัฒนาหลักสูตร” ที่จะใช้ฝึกอบรม มีการคิดโปรแกรม กิจกรรมการดำเนินหลักสูตร จำนวนเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงวิธีการทดสอบประเมินผลต่างๆ หลังจากนั้นก็เสนอ Proposal การจัดงาน รวมทั้งแผนการดำเนินโครงการโดยตามงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะนิเทศศาสตร์ฯ เพื่อคณะกรรมการของภาควิชาฯ อนุมัติ ก่อนจะลงมือดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ รวมถึงการประเมินผลโครงการ การอภิปราย และเขียนข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในอนาคต

สำหรับโครงการชุดแรกที่จะดำเนินการเผยแพร่ (project dissemination) ผ่านแพลตฟอร์มนี้ ได้แก่ โครงการ The Intern: กลยุทธ์การสร้างความประทับใจในที่ฝึกงาน สรุปและนำเสนอโดยนิสิตณัฐรัตน์ ตรีชัยพรศักดิ์ นิสิตนพธิรา เอกสิทธิชัย และ นิสิตพัทธ์วลี อธิชาธนะสิริ

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

The Intern: กลยุทธ์การสร้างความประทับใจในที่ฝึกงาน โดย ณัฐรัตน์ ตรีชัยพรศักดิ์, นพธิรา เอกสิทธิชัย และ พัทธ์วลี อธิชาธนะสิริ

นอกจากบริบทการฝึกงานแล้ว กลยุทธ์ “การสร้างความประทับใจ” ที่นำเสนอในโครงการนี้ยังสามารถนำไปใช้กับการทำงานจริง หรือชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านการสร้าง First Impression การวิเคราะห์พื้นที่ Self ของตนเอง รวมทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อนตามกรอบแนวคิดหน้าต่างโจฮารี นอกจากนี้ แนวทางการวิเคราะห์สถานการณ์ บุคคลผู้เกี่ยวข้อง ตนเอง รวมถึงการประเมินทางเลือกต่างๆ ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ ยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความสามารถในการสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โครงการปริญญานิพนธ์นี้นำเสนอเพียงตัวอย่างการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาความสามารถในการสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจภายใต้เงื่อนไขเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการยังพบข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น กรอบเวลาในการดำเนินงาน จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น หากท่านผู้อ่าน/ท่านผู้ฟังมีข้อเสนอแนะ ข้อชวนคิดต่างๆ สามารถแชร์เข้ามาได้ผ่านช่องทาง inbox ของแฟนเพจ Speech Communication Network เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวาทนิเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและบริหารจัดการความประทับใจต่อไปค่ะ

Featured Image: A Photograph by StartupStockPhotos on Pixabay
Header Image: A Photograph by Kai Kalhh on Pixabay

Papassara Chaiwong
Papassara Chaiwong
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปภัสสรา ชัยวงศ์ - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและเอกจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับวาทวิทยา ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านการสื่อสารในองค์กร การสื่อสารระหว่างบุคคลในบริบทต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีกับการสื่อสารของมนุษย์