parallax background

ภาษากับเด็กเล็ก (กรณีศึกษาเฉพาะบ้าน)

ภาษากับเด็กเล็ก (กรณีศึกษาเฉพาะบ้าน)

ประภัสสร จันทร์สถิตพร


ภาษากำหนดโลกการรับรู้ การรับรู้กำหนดทัศนคติและพฤติกรรม อยากให้ลูกของเราเป็นเช่นไร การใช้ภาษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในยุคที่เด็กๆ ได้รับโอกาสให้เรียนสองภาษาบ้าง สามภาษาบ้างตั้งแต่ยังตัวน้อยๆ หรือจะเรียกได้ว่าบางคนยังพูดไม่เป็นภาษาก็ได้รับการฝึกหัดภาษาต่างชาติทั้งอังกฤษ จีน กันแล้วเป็นต้น

นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการสื่อสารของเด็กยุคนี้และต่อไปในอนาคตที่เค้าจะก้าวเร็วไปกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ต้องนับถึงรุ่นปูย่าตายาย ซึ่งนั่นก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ดีในบริบทที่โลกปัจจุบันการสื่อสารระหว่างกันของผู้คนหลายชาติมากมายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขนาดนี้

อาจต้องยอมรับว่าประเด็นหนึ่งที่อาจจะถูกลดทอนความสำคัญไปบ้างก็คือ แก่นสาระหลักของการเรียนรู้เรื่องการใช้ภาษาของเด็กๆ รวมกระทั่งถึงผู้ใหญ่อย่างเราในทุกวันนี้ก็คือ ภาษานั้นมีหน้าที่กำหนดความหมายและอาจกำหนดความจริงที่เรารับรู้จากสิ่งรอบตัว เราเรียกต้นไม้ว่าต้นไม้โดยไม่เคยตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเรียกว่าต้นไม้ เราได้รับการตั้งชื่อพร้อมกับให้ความหมายของชื่อนั้นโดยพ่อแม่ปู่ย่าหรือคนที่รักเราโดยที่บางครั้งเราไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่ความหมายของสิ่งต่างๆ นั้นมีอิทธิพลต่อเรามากตั้งแต่เล็กจนโตหรือกระทั่งจนตาย

ลองพิจารณาประโยคเหล่านี้ไปร่วมกันนะคะ

บีเจเสียใจได้แต่ไม่ต้องร้องไห้แล้วนะ บีเจเป็นเด็กโตแล้ว

บีเจต้องแปรงฟันเองนะจะได้เก่งเหมือนป๋องแป๋ง

บีเจกินข้าวเองหมดเลย เยี่ยมที่สุด

นี่เราสนุกกันสุดยอดเลยนะเนี่ย

ประโยคข้างต้นเป็นตัวอย่างของข้อความที่ลูกชายของผู้เขียนใช้สื่อสารกลับมาหาพ่อแม่ เค้าใช้ประโยคเหล่านี้ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่เราเคยใช้สื่อสารกับเค้า จะเห็นได้ว่าข้อความทั้งหมดเป็นข้อความเชิงบวก ผ่านการคัดเลือกและควบคุมความหมายโดยผู้ใหญ่อย่างตั้งใจ

ขณะที่ลองพิจารณาข้อความด้านล่างต่อไปนี้

นี่! หยุดเลยนะ

เดี๋ยวเหอะนะ

ไม่ต้องๆ

อย่าทำอย่างนี้กับบีเจนะ

เดี๋ยวคุณแม่จะโดนจัดการ

ประโยคเหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ลูกใช้สื่อสารกลับมาหาพ่อแม่เช่นกัน เค้าใช้ประโยคเหล่านี้ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเทียบเคียงหรือเหมือนกันกับเวลาที่เราไม่พอใจเค้า ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ที่สำคัญคือแม่ใช้ข้อความเหล่านี้โดยปราศจากการควบคุมความหมายบ่อยครั้งเกิดจากความไม่ตั้งใจ แม้จะมีการขอโทษกันภายหลังแต่บ่อยครั้งก็ต้องยอมรับว่า ไม่น่าเลยน่าจะพยายามให้ดีกว่านี้

ลองพิจารณาข้อความอีกกลุ่มต่อไปนี้

คุณแม่ๆ ถ้าคุณแม่เรียกบีเจตื่นนอนตอนเช้า แล้วบีเจบอกว่า ฮื่ออออ อย่า อย่าเรียกบีเจ บีเจไม่ไปโรงเรียน อย่างนี้ไม่เอา ไม่ดี ไม่ดีใช่ไหมคุณแม่

คุณแม่ๆ แล้วบีเจเขวี้ยงของเล่นใส่คุณแม่ ใส่ปาป๊า ใส่มะเหมี่ยว ใส่พี่ไหม ไม่ได้ใช่ไหม อย่าเขวี้ยงใช่ไหมคุณแม่ ไม่เอา ไม่ดี อย่างนี้ไม่ดี

คุณแม่ๆ บีเจก็รักคุณแม่นะ บีเจก็รักปาป๊านะ

ประโยคเหล่านี้เป็นประโยคที่ลูกใช้สื่อสารในเวลาที่ไม่ตรงกับสถานการณ์นั้นๆ เช่นช่วงกำลังผ่อนคลาย ช่วงที่นึกขึ้นมาได้ ช่วงเวลาเงียบสงบเช่นกำลังจะเข้านอน หรือประโยคบอกรักก็จะเป็นประโยคที่เสมือนการตอบกลับหรือการตอบรับแต่ลูกก็ไม่ได้ใช้ในช่วงที่ต่อจากที่เราบอกรักหรือใช้เพื่อตอบคำถามเรา เค้านึกจะนำประโยคเหล่านี้มาพูดดเองเป็นเหมือนการเปิดการสนทนาบางอย่างให้เราเสียด้วยซ้ำ

ทั้งสามตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าภาษามีอิทธิพลต่อการรับรู้ จดจำ และนำกลับมาใช้ของลูกอย่างมาก ทั้งตัวถ้อยคำและส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ถ้อยคำเช่น สีหน้า แววตา น้ำเสียง และแน่นอนเมื่อการใช้ภาษาเป็นทักษะและเป็นการแสดงความสามารถในการสื่อสารอย่างหนึ่ง ลูกย่อมอยากเรียนรู้มันและทดสอบความสามารถนี้ของตนเองบ่อยๆ ซ้ำ เพื่อสั่งสมประสบการณ์การสื่อสารและการแสดงออกของตนเอง เพื่อให้ตนเองได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในฐานะที่กำลังจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าในรูปประโยคอื่นๆ ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้ยินเช่นเวลาที่เค้าอยู่โรงเรียน ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ภาษาเพื่อสร้างการยอมรับหรือแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมกับโรงเรียนและสังคม

จึงเป็นเรื่องที่เราในฐานะพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่แวดล้อมตัวลูกไม่ว่าจะเป็น เพื่อนของพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงจำเป็นต้องตระหนักถึงการใช้ภาษาของเราในการสื่อสารกับเค้าเพื่อให้ทั้งเราและเค้าเกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพรวมทั้งเกิดการรับรู้เชิงบวกที่ได้รับจากการใช้ภาษาระหว่างกัน

ครั้งหนึ่งในสมัยที่ผู้เขียนยังเด็ก เคยได้รับฉายาจากคุณครูท่านหนึ่งซึ่งชอบตั้งฉายาให้นักเรียนตามลักษณะทางกายภาพ บางคนก็โดนเรียกว่า ตุ่ม (อ้วน) ถ่าน ตะโก (ผิวคล้ำ) แห้ง (ผอมมาก) ตัวผู้เขียนเองได้รับฉายาว่า “จิ้งจก” บ้าง “เผือก” บ้าง “แห้ง” บ้าง คือเป็นคนผิวขาวและค่อนข้างผอม ผู้เขียนไม่เคยพอใจกับฉายาที่ได้รับเลย เป็นปมในใจมาตลอดเกี่ยวกับสีผิวและลักษณะทางกายภาพของตัวเอง กว่าจะเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่แก่นสารของชีวิตมากนักกับฉายาเหล่านั้น ก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ และเรื่องนี้สอนให้ผู้เขียนจะไม่ทำแบบนี้ในวันที่โตขึ้นแน่ๆ (แต่ถามว่าระหว่างทางช่วงวัยรุ่นเราเผลอไผลตั้งฉายาให้เพื่อนเราบ้างไหม คงไม่ต้องพูดถึงนะคะ)

หากเราจะอยากให้ลูกของเราเติบโตมาอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งข้างในข้างนอก ทั้งกายและใจ เราคงต้องหันกลับมาตั้งสติ ใคร่ครวญทุกครั้งก่อนการสื่อสารกับลูกๆ กำหนดจิตและความคิดให้เท่าทันอารมณ์ที่แล่นเร็วเสียยิ่งกว่าแสง ใช้ความพยายามมากที่สุดเท่าที่มีแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายแต่ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

เรามาสื่อสารด้วยภาษาที่สร้างสรรค์กับเด็กๆ ของเรากันนะคะ


บทความอื่นจากผู้เขียน

Prapassorn Chansatitporn
Prapassorn Chansatitporn
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสื่อสารการแสดง ปริญญาโทในสาขาวาทวิทยา และปริญญาเอกในสาขานิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้านสื่อสารการแสดง วาทวิทยา และนิเทศศาสตร์กว่า 15 ปี ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์การแสดงและวาทวิทยาเข้าด้วยกัน และยังมีผลงานการแสดงตามสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ