parallax background

เวลาเป็นของมีค่า: วาทกรรมสมเด็จย่า โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เวลาเป็นของมีค่า: วาทกรรมสมเด็จย่า โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร


ย้อนไปในห้วงเวลาแห่งการสูญเสียหนึ่งในสมาชิกราชสกุลมหิดลตามแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 2 นาฬิกา 54 นาที

หนังสือพิมพ์รวมทั้งสื่อมวลชนไทยหลายๆแขนง ได้เสนอข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   อย่างต่อเนื่อง พระกรณียกิจหลายด้านได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ หนึ่งในนั้นคือด้านการเขียน พระนิพนธ์หลายเรื่องได้รับการตีพิมพ์ใหม่ และหลายเรื่องอยู่ในความสนใจของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ว่าด้วยพระราชวงศ์

หนังสือพระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีการรวบรวมที่สำคัญไว้ทั้งสิ้น 25 เล่มแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดพระราชวงศ์ หมวดพระนิพนธ์แปล สารคดีท่องเที่ยว และบทความวิชาการ ในบรรดาพระนิพนธ์ทั้งหมด มี 4 เรื่องซึ่งอยู่ในหมวดพระราชวงศ์ ที่มีลักษณะเป็นเรื่องต่อ หรือเป็นการทรงนิพนธ์ต่อกัน คือ คู่แรก พระนิพนธ์จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์ “Popular Chronicle From The Press, The Demise of the Princess Mother” กับเล่มถัดมาคือ “ส่งเสด็จสมเด็จย่า ประมวลเรื่องจากหนังสือพิมพ์” ส่วนอีกคู่หนึ่งคือ “แม่เล่าให้ฟัง” กับเล่มถัดมาคือ “เวลาเป็นของมีค่า Busy Fingers”

จากการตั้งข้อสังเกตของผู้เขียน  พระนิพนธ์ทั้งสี่เล่มล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือ แม่ ของพระผู้ทรงนิพนธ์ ซึ่ง พระนิพนธ์ แม่เล่าให้ฟัง นั้นได้ถูกนำเสนอรวมถึงนำไปเป็นข้อความอ้างอิงในหลายกรณีเมื่อสื่อต้องการรายงานพระราชประวัติ และพระประวัติ ของราชสกุลมหิดล ในวโรกาสสำคัญๆต่างๆเสมอ หากแต่ พระนิพนธ์ เวลาเป็นของมีค่า ซึ่งมีลักษณะการเขียนที่คล้ายหนังสือสาธิต มีภาพประกอบที่ถือเป็น “ภาพส่วนตัว” มากมาย กลับไม่ค่อยได้รับการนำเสนอมากเท่า

หากเราพิจารณา พระนิพนธ์ เวลาเป็นของมีค่า ในฐานะ สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะเล่มหนึ่ง ซึ่งจากการได้ศึกษาพระนิพนธ์ที่กล่าวมาทั้งสี่เล่ม ผู้เขียนพบวาทกรรมที่อาจเป็นสื่อสะท้อน ความสัมพันธ์ระหว่าง คนไทย กับคำว่า สมเด็จย่า ใน สังคมไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยใช้กรอบแนวคิดวาทกรรมจากสื่อ Media Discourse เป็นกรอบสำคัญในวิเคราะห์

แนวคิดวาทกรรมจากสื่อ มาจากแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis) ของ Norman Fairclough (อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท, 2551) ซึ่งตามทรรศนะของเขา การวิเคราะห์วาทกรรมจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ วิเคราะห์สภาพการณ์ในการสื่อสาร (Analysis of Communication Events) กับ วิเคราะห์แบบแผนการใช้ภาษาและประเภทของวาทกรรม (Analysis of the Order of Discourse) ซึ่งเมื่อนำแนวองค์ประกอบทั้งสองมาใช้วิเคราะห์ พระนิพนธ์ เวลาเป็นของมีค่า ทำให้ได้ข้อค้นพบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ในประเด็นการวิเคราะห์สภาพการณ์ในการสื่อสาร (Analysis of Communication Events) สิ่งที่ต้องพิจารณามี 3 ส่วนคือ ตัวบท (Text) ปฏิบัติการทางวาทกรรม (Discursive Practice) และ ปฏิบัติการทางสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural Practice)

ตัวบท (Text) หรือ เนื้อหาสาระของสื่อ ในที่นี้คือแง่รูปแบบของวาทกรรมที่เรียงร้อยเข้าด้วยกันและภาษาที่ใช้ในการสื่อสารทั้งวัจน และอวัจนภาษา พยางค์ คำ ประโยค โดยพิจารณา 3 ประเด็นหลักคือ นำเสนออะไรให้สังคม (Representations) สร้างอัตลักษณ์อะไรแก่สังคม (Identities) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องอย่างไร (Relations) เมื่อใช้กรอบการวิเคราะห์ดังกล่าว เวลาเป็นของมีค่ามีลักษณะสาระหลักดังต่อไปนี้

แบ่งเป็นหมวด ลักษณะการเขียนเรื่องแบบแบ่งเป็นหมวดนี้ พบได้เสมอในงานพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ ซึ่งใน เวลาเป็นของมีค่านั้น แบ่งเป็น 6 หมวดคือ การเล่นและงานอดิเรก เครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบดินเผา พระพุทธรูป ภาพปัก และดอกไม้ภูเขาโดยอาศัยการลำดับเรื่องตามเวลา ในบทแรกเป็นการเกริ่นนำ ไล่เลียงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งนับเป็นอวัจนภาษาหลักอย่างหนึ่งในการเขียนป็นหนังสือที่มีการประกอบกันระหว่าง ภาพถ่าย(สี) และ ภาษาเขียนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ สัดส่วนระหว่างภาพและตัวหนังสือนั้นใกล้เคียงกันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตตัวบท ต้องการให้สาระในหนังสือมีความเป็นรูปธรรม

ภาษาชาวบ้าน รูปแบบใช้ภาษาเป็นแบบไม่เป็นทางการ ไม่พบคำราชาศัพท์มากมายนักทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชวงศ์ นอกเสียจากในกรณีที่เป็นพระนามหรือพระยศ เน้นภาษาที่เป็นกิริยาแบบบรรยายและอธิบาย มากกว่าการพรรณนา เช่นคำเรียกสมเด็จพระศรีนครินทราบรทราชชนนีว่า แม่ แม่วาด แม่เขียนลาย ฯลฯ

เล่าเรื่อง 2 ภาษา ในพระนิพนธ์ที่มีชื่อภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วยส่วนใหญ่จะเป็นพระนิพนธ์ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับ เวลาเป็นของมีค่า หรือ Busy Fingers จะมีเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษกำกับอยู่ทั้งเล่ม

จากตัวบทที่ปรากฏส่งผลต่อปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา 3 ประการ ว่านำเสนออะไรให้สังคม (Representations) สร้างอัตลักษณ์อะไรแก่สังคม (Identities) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องอย่างไร (Relations)ดังนั้น เวลาเป็นของมีค่า จึงเป็นสื่อที่ นำเสนอ (Representations) คุณค่าของเวลาและงานอดิเรก ให้สังคม สะท้อนจากตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า Busy Fingers” ขอบเขตและแก่นของเรื่องถูกวางกรอบไว้ด้วยเงื่อนไขของการใช้เวลา ที่เรียกว่าเวลาว่าง หรือเวลาที่นอกเหนือจากการทำงาน ที่เราทุกคนล้วนแต่มีเวลาว่าง จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ภาระหน้าที่รับผิดชอบในงานของแต่ละคน แต่ในเวลาที่นอกเหนือจากงานนั้น “แม่” ในตัวบท เลือกทำ “งาน” อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่มาจากการแสวงหาความงามในเชิงศิลปะ ด้วยกรรมวิธีและวัสดุที่แตกต่าง โดยมีลักษณะการบรรยายด้วยภาพและข้อความที่สะท้อนถึงขั้นตอนการทำ การใช้เวลาและผลที่ได้จากการ ทำ  “งานอดิเรก” เหล่านั้น อย่างเรียบง่าย ธรรมดาแต่มีคุณค่าอย่างน้อยที่สุดคือคุณค่าของผู้ใช้เวลาเอง และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งของหรือสิ่งประดิษฐ์ที่มาจากเวลาว่างเหล่านั้น

สร้างอัตลักษณ์ (Identities) ศิลปินผู้รอบรู้ แก่สังคม โดยเหตุที่ ผล“งาน” ของ “แม่” ที่ได้นำเสนอในตัวบททั้งหมด เป็นงานเชิงศิลปะในหลากหลายสาขา เช่นงานวาด งานปั้น งานปัก ฯลฯ หลักฐานพบได้จากภาพถ่าย ประกอบคำบรรยายถึงผลงานแต่ละชิ้น หรือการแบ่งเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ต่างๆตามประเภทของศิลปะแต่ละแขนง โดยนัยหนึ่งจึงเป็นการบ่งบอกถึงตัวผู้ใช้เวลาว่างว่ามีความเป็นศิลปิน ส่วนอีกนัยหนึ่ง “ศิลปิน” ในที่นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงการยกย่อง (ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต) เทิดทูน พรสวรรค์ของ “แม่” ของผู้ผลิตตัวบท เพราะในบทการเล่นและงานอดิเรก ซึ่งถือเป็นบทนำได้มีการบรรยายไว้ว่า “ อยากทำอะไรเกี่ยวกับศิลปะ เช่น การเขียนรูป อยากทำมาก ถึงแม้ว่าไม่มีพรสวรรค์” หรือ “ถ้าท่านพิศดูรูปหน้าปก ท่านจะเห็นได้ว่า แม่มองดอกไม้ที่ถืออยู่อย่างลึกซึ้งกว่ามองความงามภายนอกเท่านั้น ในสายตาจะมีคำถามว่า “จะทำอย่างไรจึงจะรักษาความสวย ความงามและธรรมชาติของดอกไม้นี้ไว้ได้”

ผู้รอบรู้ เป็น อัตลักษณ์ที่สะท้อนได้เด่นชัดมากจากตัวบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับข้อความหรือบรรยายความไว้ในผลงานของ “แม่” ทั้งด้านดาราศาสตร์ ด้านภาษาศาสตร์ ศาสนาหรือกระทั่งด้านลักษณะเฉพาะของพรรณพืช เช่น ในตอนหนึ่งของบท ดอกไม้ภูเขา ผู้ผลิตตัวบทเขียนไว้ว่า

ปีหนึ่งนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ Daninos ไปอยู่โรงแรมที่แม่ไปพักอยู่ทุกปี เขาได้เขียนในหนังสือ Vacances a tous prix มีข้อความดังต่อไปนี้ ซึ่งเชื่อว่าหมายถึงแม่ ซึ่งเขาไม่รู้จัก “มีผู้หญิงสาวคนหนึ่ง ที่น่ารักมาก ซึ่งเก็บดอกไม้ที่ภูเขาและจัดช่อเล็กๆ ซึ่งเธอแอบไปวางบนโต๊ะของหนุ่มสาว เธอเป็นคนจำพวกที่รู้จักชื่อของทุกสิ่งทุกอย่าง : ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ ทะเลน้ำแข็ง ตอนค่ำบนเฉลียงของโรงแรม เธอท่องชื่อดาวให้ฟัง เช่น Anteres, Cassiopee, la Lyre และให้ความรู้แก่คนอย่างฉัน ซึ่งนอกจากดาวจระเข้แล้วไม่รู้เรื่องเลย”

แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง (Relations) เชิงความใกล้ชิดในครอบครัว ผลงานจากการใช้เวลาว่างแต่ละชิ้น จะมีที่มา ขั้นตอน กระบวนการผลิต อธิบายกำกับไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการแสดงความรักความผูกพันระหว่างผลงานที่ผลิต กับสมาชิกในครอบครัว ว่าทำให้ใคร เนื่องในโอกาสอะไร เช่นทำให้ในวันเกิด วันปีใหม่ ซึ่งนอกจากความใกล้ชิดในครอบครัวที่ปรากฏระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวด้วยกันเองแล้วนั้น ตัวบทยังเปิดโอกาสให้คนอ่าน ได้รับรู้ความรู้สึกใกล้ชิดดังกล่าว เสมือนหนึ่งว่าได้อยู่ร่วมกับครอบครัวของ “แม่” ความสัมพันธ์ในฐานะคนอ่านจึงไม่ได้เป็นไปในลักษณะไกลเกินความเข้าใจ หากแต่เป็นความสัมพันธ์ที่สัมผัสได้และสร้างความรู้สึกใกล้ชิดได้ง่ายดายมาก

การวิเคราะห์สภาพการณ์ทางการสื่อสารยังต้องอธิบายถึง ปฏิบัติการทางวาทกรรม (Discursive Practice) เราพบว่าผู้ผลิตตัวบท สมเด็จพระพี่นางฯ มีความรอบคอบและมีความเชี่ยวชาญในการผลิตงานพระนิพนธ์เสมอ ดังจะเห็นได้จากการ เขียนคำนำหรือคำปรารภในการผลิตงานทุกชิ้น จะมีการชี้แจงที่มาที่ไป (Text Production) ไว้อย่างชัดเจนและระบุถึงผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อผู้อ่านได้อ่าน (Text consumption) กำกับไว้ด้วย จะเห็นได้ว่า ในแง่นี้ ผู้ผลิตตัวบท สร้าง “เวลาเป็นของมีค่า” เพื่อเป็นเครื่องอุทิศในโอกาสที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะมีพระชนมายุครบ 7 รอบ มุ่งหวังให้รายได้จากการจำหน่ายหนังสือถวายเป็นพระราชกุศลอีกประการหนึ่ง ดังนั้นเรื่องที่เป็น Private จึงถูกเขียนให้เป็น Public เพราะหนังสือพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งสืบเนื่องจากการทำให้เป็นสาธารณะนี้ ส่งผลให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างเจ้าของเรื่อง (สมเด็จย่า) ผู้ผลิตตัวบท (สมเด็จพระพี่นาง) และคนอ่านไปด้วย คนอ่านจะได้ติดตาม “การใช้เวลาส่วนพระองค์” ของชนชั้นเจ้านาย อย่างใกล้ชิดทั้งอดีต ปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของ ครอบครัว

ส่วนด้าน ปฏิบัติการทางสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural Practice) บริบทที่ส่งผลให้เกิดวาทกรรม ในแง่ของปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรมที่เห็นเด่นชัด ได้แก่เรื่องการให้ความพิเศษกับวันสำคัญๆของบุคคลสำคัญ ดังที่ได้กล่าวมาว่า หนังสือนี้เป็นที่ระลึกเนื่องในวันครบ 7 รอบของสมเด็จย่า ในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุอันเป็นที่เคารพและชื่นชม มักผูกติดอยู่กับสุขภาพกายใจที่แข็งแรงและคุณงามความดีของผู้ใหญ่เหล่านั้น การรวบรวมเอาผลงานหรือความสามารถที่มีมาแต่อดีตเป็นเครื่องสะท้อนคุณค่าของผู้สูงอายุในลักษณะหนึ่ง เช่นในกรณีข้าราชการวัยเกษียณ มักได้รับการกล่าวถึงผลงานหรือคุณงามความดีที่ผ่านมา อาจเป็นบริบทหนึ่งของการสร้างตัวบท

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เวลาเป็นของมีค่า เป็นคล้ายหนังสือเล่มต่อของ แม่เล่าให้ฟัง ที่สามารถหลุดพ้นจากข้อจำกัดของการหาข้อมูลแบบเล่าให้ฟัง ด้วยเหตุที่การเขียนอัตชีวประวัตินั้นต้องอาศัยการสัมภาษณ์เป็นวิธีสำคัญในการทำงาน และบางครั้งก็เกิดความผิดพลาดในการตีความได้ ดังนั้นหากมีหลักฐานหรือสิ่งของใดที่จะเป็นเครื่องบอกเรื่องราวได้ดีด้วยตัวเองและยังไม่เป็นที่ปรากฏโดยทั่วไป มีขอบเขตหรือแก่นที่ชัดเจน ก็น่าจะเป็นหัวใจสำคัญให้เกิดการนำมาเป็นข้อมูลในการผลิตงานเขียน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเนื้อหา หรือการทบทวนเรื่องราวที่อาจยังไม่ได้เผยแพร่มาก่อนได้มากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งก็มีผลกับผู้ที่ได้รับทราบเนื้อหาใน แม่เล่าให้ฟัง มาแล้ว ได้ติดตามมาต่อเนื่องได้ใน เวลาเป็นของมีค่า นี้

เมื่อวิเคราะห์สภาพการณ์ทางการสื่อสารได้ครบถ้วนเพื่อให้การพิจารณาการสื่อสารในเชิงวาทกรรมครบถ้วนยิ่งขึ้นแล้วยังต้องวิเคราะห์แบบแผนการใช้ภาษาและประเภทของวาทกรรม (Analysis of the Order of Discourse) คือการดูว่าวาทกรรมมีการใช้ภาษาประเภทใด และการใช้การประพันธ์ในรูปแบบใด คือดู language and genre โดยดูความสัมพันธ์ใน 2 ประเด็นคือ ความสัมพันธ์แบบตัวเลือก (choice relation) ที่วิเคราะห์สาเหตุที่สื่อนำเสนอรูปแบบการใช้ภาษาดังกล่าว และความสัมพันธ์แบบโยงใย (chain relation) เป็นการวิเคราะห์ความต่อเนื่อง โยงใยซึ่งกันและกันของวาทกรรมที่สื่อสร้างขึ้น ด้านการใช้ภาษา (language) และรูปแบบการประพันธ์ (genre) ดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วในตอนต้นว่า ลักษณะภาษาที่ใช้ในการผลิตตัวบท เวลาเป็นของมีค่านั้น เป็น ภาษาที่ไม่เป็นทางการ เน้นการสื่อสารที่กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย เป็นงานเขียนที่เน้นการบรรยายและอธิบายความมากกว่าการพรรณนา ความเด่นของภาษาที่ปรากฏในตัวบท คือภาษาที่แสดงความใกล้ชิด ระหว่างผู้ผลิตตัวบทกับเจ้าของเรื่องที่กล่าวถึง (สมเด็จพระพี่นางและสมเด็จย่า) อีกทั้งยังสื่อความใกล้ชิดกับคนอ่านด้วยในที ด้วยลักษณะภาษาที่คล้ายการสนทนา การชี้ชวนให้ตั้งข้อสังเกต เสมือนว่าผู้อ่านเป็นบุรุษที่สอง ที่ทรงสนทนาด้วย รูปแบบการประพันธ์ที่เป็นกึ่งสารคดีอัตชีวประวัติ ที่สะท้อนผ่านการเล่าเรื่อง ด้วยฉากและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีต มีมุมมองที่เน้นความเป็นกลางคือเป็นผู้เล่าเรื่อง แต่มีลักษณะพิเศษคือสอดแทรกความเป็นส่วนตัวจากมุมมองของคนในครอบครัวในบางช่วงบางตอน

รูปแบบภาษาและลักษณะคำประพันธ์ที่ปรากฏ น่าจะเป็นความตั้งพระทัย หรืออาจเป็น Style ในการทรงนิพนธ์งานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงฯ ที่ต้องการให้ตัวบทปลอดจากความเป็นทางการ วัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สามารถเรียนรู้ แก่นของเรื่องที่ ผู้ผลิตตัวบทต้องการนำเสนอได้โดยง่าย เพราะเป็นหนังสือที่พิมพ์เพื่อการขายโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่อีกนัยหนึ่งนั้น รูปแบบภาษาที่ถูกเลือกมานำเสนอ รวมทั้งลักษณะคำประพันธ์ที่ปรากฏ เป็นเสมือนการขยายโอกาสในการได้เข้าใกล้ชีวิตของชนชั้นเจ้านายโดยได้รับอนุญาต  เป็นการเลือกความสัมพันธ์แบบตัวเลือก (choice relation)ที่สื่อถึงการแสดงสถานภาพของเจ้าของเรื่อง ผู้ผลิตตัวบทที่มีต่อกัน และต้องการให้ผู้อ่านได้รับรู้ เพื่อตระหนักถึงความเหมือนกันของชนชั้นเจ้านายกับประชาชนทั่วไปในแง่ของ เวลา ที่เป็นสัจธรรมสำหรับทุกคน หากแต่ คนที่ใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า คือคนที่มีคุณค่าควรแก่การกล่าวขานถึง

ในแง่ ความสัมพันธ์แบบโยงใย (chain relation) เป็นการวิเคราะห์ความต่อเนื่อง โยงใยซึ่งกันและกันของวาทกรรมที่สื่อสร้างขึ้น จะพบว่า ในพระนิพนธ์ เวลาเป็นของมีค่า นี้เป็นหนังสือเล่มที่สองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้รับการเสนอต่อจาก แม่เล่าให้ฟัง ซึ่งมีรูปแบบการเขียนที่ไม่แตกต่างกันมากนักในแง่ การเล่าเรื่อง หากแต่ความแคบหรือความเฉพาะเจาะจงของเรื่องที่สองนี้จะมีมากกว่า  แต่ก็แสดงถึง การดึงเอาประเด็นที่ผู้ผลิตตัวบท เห็นว่าเป็นลักษณะเด่นที่เจ้าของเรื่องมี และยังคงสะท้อนความธรรมดาสามัญที่ปรากฏในวิถีชีวิตของเจ้าของเรื่อง หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีอย่างเด่นชัด ซึ่งแม้ในปัจจุบันการนำเสนอของสื่อต่างๆก็ยังนิยมที่จะเลือกกล่าวถึงลักษณะเด่นเรื่อง ความเป็นสามัญ ของชีวิตของพระองค์อยู่เสมอ

ในความสัมพันธ์ที่ปรากฏนี้นั่น อาจต้องอ้างอิงถึงพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะผู้ผลิตตัวบท เพื่ออภิปรายถึงปัจจัยภายในที่น่าจะส่งผลต่อการผลิตตัวบท

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466  ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงมีพระอนุชา 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวัยพระเยาว์ ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีในหลายประเทศ ทั้ง เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา

จนมาถึงเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย แต่ต่อมาสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำ พระโอรส-พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และเข้าศึกษาที่สวิสเซอร์แลนด์ สอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาเป็นที่ 1 ของโรงเรียนและเป็นที่ 3  ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนจบการศึกษาปริญญาตรี ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ระหว่างนั้นได้ทรงศึกษาหลักสูตรสังคมศาสตร์-ครุศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญาและจิตวิทยา

เมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยในปีพ.ศ.2493 พระบรมราชชนนีรับสั่งแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ โดยเริ่มต้นทรงเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปี 2501 ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอรับพระราชทานพระกรุณาให้ทรงเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ทรงรับงานสอนและเป็นหัวหน้าสาขา สอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ระหว่างนั้นได้รับการกราบทูลเชิญให้เป็นองค์บรรยายพิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ภายหลังภารกิจด้านอื่นๆ มากเป็นลำดับจึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเสด็จฯเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไป รวมทั้งทรงรับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศส แก่คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ต่อมาเมื่อทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทรงมีพระเมตตาเสด็จฯไปสอนโดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี เช่นอาจารย์อื่นๆ

ในด้านการเขียน เมื่อพระชนมายุประมาณ 9 พรรษา ได้ทรงเริ่มออกวารสาร “รื่นรมย์” โดยทรงชักชวนพระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่อง ทรงทำหน้าที่ บรรณาธิการ และทรงเขียนบทความลงวารสารนี้ด้วย ผลงานพระนิพนธ์ที่ได้มีการรวบรวมไว้มีจำนวนมากถึง 25 เรื่อง เกี่ยวกับพระราชวงศ์ 11 เรื่อง พระนิพนธ์แปล 3 เรื่อง พระนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยว 10 เรื่อง และบทความทางวิชาการ 1 เรื่อง

จากที่กล่าวมาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ผลิตตัวบท เป็นผู้มีความรู้ ได้รับการศึกษาในระดับสูงและมีผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยม มีความสามารถทางการเขียนที่เกิดจากการได้สั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่ยังเด็ก การได้เติบโตในวัฒนธรรมที่หลากหลายในต่างประเทศ การได้รับการสนับสนุนด้านการอ่านและการเขียนจากครอบครัว รวมทั้งพรสวรรค์ที่มีในตนเองได้สร้างเสริมให้ผู้เล่าเรื่องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการสื่อสารด้วยการเขียนทั้งในภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

อีกทั้งการได้บรรยายวิชาการความรู้แก่บุคคลหลากหลาย การถ่ายทอดและการใช้ทักษะการสื่อสารในเชิงวิชาการ มีส่วนอย่างยิ่งที่จะสร้างให้ผู้เล่าเรื่องมีระบบ ระเบียบวิธีคิดและวิธีการสื่อสารที่ดี เป็นขั้นเป็นตอน นอกจากประเด็นความสามารถทางด้านการสื่อสารที่ปรากฏแล้ว จากพระประวัติ พบว่า ผู้ผลิตตัวบท มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นใกล้ชิดมากกับเจ้าของเรื่อง ในฐานะที่เป็น “ลูกสาว” ที่สนิทสนมอย่างยิ่งกับผู้เป็นแม่

เมื่อทำการวิเคราะห์คำนำ และคำส่งท้าย จะพบว่า ผู้เล่าเรื่องได้ชี้แจงถึงความประสงค์ ความมุ่งหมายในการจัดทำหนังสือไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งอ้างอิงถึงที่มาที่ไปของสิ่งของที่เป็นผลงานศิลปะประเภทต่างๆ ที่ใช้เป็นข้อมูลหลักในการผลิตหนังสือ อย่างเคร่งครัด  บทสรุปของคำส่งท้ายมีนัยที่น่าตีความอยู่มาก ดังที่ปรากฏว่า

“ท่านได้เห็นผลงานต่างๆหลายชนิด ซึ่งจะบอกว่างามหรือไม่งามก็แล้วแต่ความเห็นและรสนิยมของแต่ละคน แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นั่น สิ่งที่ข้าพเจ้าประสงค์จะให้ท่านเห็นคือ วิธีหนึ่งระหว่างหลายร้อยพันวิธีที่จะกำจัดความเบื่อ ความเหงา วิธีนี้คือ การสร้างความงามเฉพาะตัว ความพอใจส่วนตัวในวัยเด็ก จนถึงวัยชราโดยไม่ต้องมีพรสวรรค์ โดยไม่ต้องใช้จ่ายมากนักเหมือนงานอดิเรกบางชนิด เช่น การ “เล่น” ของเก่า นาฬิกา รถยนต์ โดยไม่ลำบากหรือสร้างความลำบากให้ผู้อื่น แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความรักสิ่งที่ทำ รสนิยม และความอดทน

วาทกรรมที่สะท้อนผ่านตัวบท เวลาเป็นของมีค่า มีการสรุปไว้เช่นนี้ ด้วยต้องการบ่งบอกถึง ตัวตนของเจ้าของเรื่องผู้เป็นแม่ ที่ถ่ายทอดโดยลูกสาว เป็นข้อชัดจริง และต้องการเน้นย้ำ ถึงความงามและสัจธรรมในการดำเนินชีวิต ที่หล่อหลอมให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น คนธรรมดาที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่อยู่ในสถานภาพของการเป็นแม่ของพระมหากษัตริย์  ซึ่งไม่ไกลเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเรียนรู้เป็นแบบอย่าง ด้วยความเคารพและเทิดทูนอย่างสูง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขนานพระนามว่าเป็น สมเด็จย่า ของคนไทย

เอกสารอ้างอิง

  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา. เวลาเป็นของมีค่า. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2530 (อัดสำเนา)
  • อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท. กรอบวิเคราะห์วาทกรรมจากสื่อ. เอกสารประกอบคำบรรยายวิชาวาทกรรมกับสังคม, 2551

บทความอื่นจากผู้เขียน

Prapassorn Chansatitporn
Prapassorn Chansatitporn
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสื่อสารการแสดง ปริญญาโทในสาขาวาทวิทยา และปริญญาเอกในสาขานิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้านสื่อสารการแสดง วาทวิทยา และนิเทศศาสตร์กว่า 15 ปี ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์การแสดงและวาทวิทยาเข้าด้วยกัน และยังมีผลงานการแสดงตามสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ