parallax background

สื่อสารการแสดงกับบุคลิกภาพการสื่อสาร

สื่อสารการแสดงกับบุคลิกภาพการสื่อสาร

ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร


บุคลิกภาพ (Personality) ภาพลักษณ์ (Image) เป็นแนวคิดที่ได้รับการศึกษาและยอมรับกันมายาวนานว่ามีบทบาทสำคัญและสัมพันธ์กับความสามารถในการสื่อสารของบุคคล ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมปัจจุบัน ทั้งในวงวิชาการและวงวิชาชีพที่มองเรื่องบุคลิกภาพและภาพลักษณ์คือสิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติส่งเสริมให้เกิดการรับรู้จากสังคมแวดล้อมและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญให้แก่บุคคลเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการมีรับรู้เชิงคุณค่ากับตัวเจ้าของบุคลิกภาพหรือเจ้าของภาพลักษณ์นั้นแต่เพียงลำพัง นั่นหมายความว่า บุคลิกภาพหรือภาพลักษณ์ ได้สื่อสารตัวตนของเจ้าของทั้งในระดับที่ตนเองรู้ตัวและในระดับที่สาธารณะรับรู้

เราจะพบว่า สถาบันฝึกอบรมหรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่างๆล้วนมีหลักสูตรที่ว่าด้วยการพัฒนาบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ แต่ทั้ง 2 สิ่งนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งครอบคลุมต่างกัน

บุคลิกภาพ (Personality) นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้กว้างขว้าง ทั้งนี้ผู้เขียนอาจสรุปได้ว่าบุคลิกภาพหมายถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะที่เกิดจากส่งต่อทางพันธุกรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา สีผิว ฯลฯ และเกิดจากการรับรู้ เรียนรู้ สั่งสมจากประสบการณ์ที่แวดล้อมแล้วมีอิทธิพลกระทบกับบุคคลนั้นจนส่งผลเป็นทัศนคติ ความเชื่อ หรือค่านิยม ดังนั้นบุคลิกภาพจึงเป็นการผสมผสานกันทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในและแสดงออกให้ปรากฏเด่นชัดเมื่อเราสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ขณะที่ภาพลักษณ์ (Image) ในความหมายของผู้เขียน หมายถึง คุณลักษณะบุคลิกภาพภายนอกที่ปรากฏเชิงภายภาพให้เห็นได้หรือรับรู้ได้จากประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การจัดการใบหน้าและทรงผม การแต่งกาย การเดิน ยืน การแสดงออกซึ่งกิริยาอาการ ท่าที ฯลฯ  แล้วส่งผลต่อการรับรู้และแปลความหมายรวมถึงประเมินค่าภาพลักษณ์นั้นๆว่าเป็นเช่นไร เช่น ดูดี น่ามอง ทันสมัย กระฉับกระเฉง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์มีความหมายลึกซึ้งและซับซ้อนต่างกันกับบุคลิกภาพแต่ทั้งสองสิ่งก็ส่งอิทธิพลต่อการสร้างความ “น่าเชื่อถือ” ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับความน่าเชื่อถือที่เกิดกับตัวเองที่เราเรียกว่าความเชื่อมั่น หรือ ความมั่นใจ และถ่ายทอดออกมาในระดับความน่าเชื่อถือที่มีต่อผู้อื่น บ่อยครั้งที่เราพบว่าความน่าเชื่อถือส่งผลลัพธ์ที่มากกว่านั้นจนอาจเรียกได้ว่าเป็น Charisma ซึ่งหมายถึง ความน่าดึงดูด ลักษณะดึงดูดให้บุคคลอื่นเข้าหา บ่อยครั้งที่เราพบว่าบุคคลที่มีบุคลิกภาพการแสดงออกที่ดีซึ่งส่วนใหญ่จะมีภาพลักษณ์น่าดึงดูดนั้นชวนให้เราอยากเข้าไปทำความรู้จักโดยที่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างมีหลักการด้วยซ้ำว่าเพราะเหตุใด

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนั้น บุคลิกภาพเป็นเรื่องของการสื่อสารเพราะบุคลิกภาพพัฒนาจากความรู้สึกนึกคิดความต้องการภายในของบุคคลที่ต้องการหรือถ่ายทอดให้ทั้งกับตัวเองหรือผู้อื่นได้เข้าใจ แต่บุคลิกภาพไม่เพียงเป็นการสื่อสารธรรมดาหากแต่ต้องให้ปรากฏแก่สายตาและเหมาะสมตามบทบาทสถานภาพด้วยขึ้นอยู่กับความคาดหวังของบุคคล เนื่องจากเราอาจต้องยอมรับว่าบุคลิกภาพที่ดึงดูดและน่าสนใจนั้นอาจไม่ใช่บุคลิกภาพแท้ๆ ดั้งเดิมของเราที่ยังไม่ได้ขัดเกลาหรือพัฒนา เพราะท่ามกลางบทบาทและสถานภาพต่างๆ ที่เราต้องรับผิดชอบนั้นจะมีความคาดหวังจากทั้งตัวเราที่มีต่อตัวเองและจากผู้คนรอบข้างด้วย ดังนั้นบุคลิกภาพจึงต้องอาศัยการ Perform หรือ แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมหรือสอดคล้องกับบทบาท เมื่อเรากล่าวถึงคำว่าบทบาท (Role) เราจึงควรได้ทำความเข้าสองสิ่งนี้ในมิติที่จะสัมพันธ์กันต่อจากนี้ด้วยแง่มุมทางสื่อสารการแสดงด้วย

สื่อสารการแสดง หรือ Performing Art Communication หมายถึง การสื่อสารด้วยกลวิธีการแสดงออก Express ที่อาศัยแนวปฏิบัติบางประการจากศาสตร์ด้านการศิลปะแสดง Performing Arts หรือ การละคร Drama เข้ามาผนวก โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารไปยังผู้รับให้เกิดความรู้สึกกระทบทางอารมณ์หรือจินตนาการอันจะนำไปสู่การรับรู้เชิงเหตุผลหรือข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ส่งสารต้องการเสนอเพื่อให้การสื่อสารมีศิลปะเข้ามาผสมผสาน เพราะจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของการรับรู้ของมนุษย์คือต้องเพลิดเพลินหรือได้รับความพึงพอใจขณะสื่อสารไปพร้อมกันด้วย

องค์ประกอบของสื่อสารการแสดงที่น่าสนใจที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้แสดงหรือนักแสดง (Actor) ซึ่งอุปกรณ์ของการเป็นนักแสดงที่ดีนั้นจะต้องมีความสามารถในประเด็นต่อไปนี้คือ การจัดการท่วงท่าและการเคลื่อนไหวร่างกาย (Body Posture and movement การสื่อสารสายตา (Eye communication) การจัดการการใช้เสียง (Tone of Voice) การจัดการการใช้พื้นที่ (Stage Area) และการจัดการภาพรวมของตนเองที่ปรากฏบนเวที (Physical Appearance on stage) ซึ่งทั้งหมดอาจเรียกรวมกันได้ว่าเป็น Acting tools หรือเราอาจเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น Outer Character หรือ outer personality ได้

บุคคลที่ได้รับการฝึกฝนด้านการละครหรือการแสดงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่จะจัดการอุปกรณ์เหล่านี้ของตนให้พร้อมกับการเลือกสรรหยิบใช้ให้ตรงความต้องการ เช่น การใช้สายตาสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกทั้งทางตรงทางอ้อมของตัวละครเมื่อต้องแสดงบทรัก บทโศก ย่อมต่างกัน หรือการใช้สายตาเพื่อสื่อสารความรู้สึกที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่คิดข้างในกับที่แสดงออกข้างนอก นักแสดงที่ถูกฝึกฝนมาอย่างเชี่ยวกรำก็จะสามารถสื่อสารได้อย่างสมบทบาท หรือเมื่อได้รับบทบาทเป็นผู้สูงอายุ การใช้เสียงหรือการเคลื่อนไหวร่างกายย่อมแตกต่างไปจากปกติหากผู้แสดงไม่ได้เป็นผู้สูงวัยจริง หรือการสวมบทบาทผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย การเคลื่อนที่ การใช้ร่างกายรวมทั้งภาพรวมหรือรูปลักษณ์ที่ปรากฏในการแสดงก็ย่อมแตกต่างไปจากการสวมบทบาทเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงปกติ หรือกระทั่งการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่บ่งบอกวัย อาชีพ หรือรสนิยมบางอย่าง การถือหรือหิ้วอุปกรณ์เช่น ไม้เท้า การมีสายวัดพาดไว้ที่คอ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องสื่อสารความหมายที่เปลี่ยนไปให้เกิดขึ้นในการรับรู้ของผู้ชม เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อเราพิจารณาสื่อสารการแสดงในฐานะที่เป็นวิธีการในการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง แค่เพียงเราย้ายจุดสนใจสาระหลักที่เป็นเรื่องสมมติหรือเรื่องเล่าเรื่องแต่งมาเป็นการนำเสนอสาระที่เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริง ก็สามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสื่อสารการแสดงกับบุคลิกภาพการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้นได้แล้ว ขณะเดียวกันในโอกาสต่อไปอาจจะได้กล่าวถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างสาระ (Content) กับ รูปแบบหรือวิธีการ (Form or Style) เพิ่มเติมด้วย

ปรากฏการณ์ในสังคมขณะนี้ที่กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับการติดตามจากทั้งสื่อสารมวลชนและสื่อสารทางเลือกเช่น สื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง เฟซบุค ทวิตเตอร์ หรือกระทั่งแอพลิเคชั่นไลน์ คือกรณีที่มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการฝึกอบรม ในฐานะผู้สร้างแรงกระตุ้น หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมผู้ฟัง  2 ท่าน สุภาพสตรีทั้งคู่มีความขัดแย้งและได้ใช้การสื่อสารด้วยช่องทางต่างๆ ระหว่างกันจนส่งผลให้เกิดการรับรู้ในระดับสาธารณะคือมีการจัดแถลงข่าวจากทั้ง 2 ฝ่าย จากกรณีนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า 1.บุคคลทั้ง 2 ท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ มีความรู้ความเชี่ยวชาญและฝึกนตนเองมาอย่างดีในฐานะผู้ที่จะใช้บุคลิกภาพสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งคู่มีผู้ให้ความนิยมชมชอบและให้ความเคารพนับถือในวงกว้างขวางอย่างมาก ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายจึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษไม่นับว่าประเด็นปัญหาความขัดแย้งนั้นคืออะไร

เมื่อสังคมจัดวางตนเองเป็นผู้ชม (Audience) แล้ว สถานการณ์ที่ถูกสื่อสารผ่านสาธารณะจึงเปรียบเสมือนการแสดง (Performance) ชิ้นหนึ่ง กรณีนี้สำหรับผู้เขียนเองตั้งข้อสังเกตต่อมาว่า 2.บุคลิกภาพการสื่อสารและการแสดงออกของบุคคลทั้ง 2 ท่านนี้ที่จากเดิมได้รับการยอมรับนับถือและได้รับความสนใจอยู่แล้วในระดับหนึ่งก็จะพัฒนาขึ้นไปได้อีกมากเมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติ บุคลิกภาพที่เคยเป็นภาพจำหรือประสบการณ์เดิมที่สาธารณชนมีต่อบุคคลทั้ง 2 ท่านนี้จะถูกท้าทายด้วยสถนการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ในทางหนึ่งอาจจะยิ่งเสริมแรงให้เกิดความเคารพนับถือและศรัทธามากยิ่งขึ้นไปอีกแต่ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่งก็อาจส่งผลให้เกิดการถดถอยหรือลดวางความไว้เนื้อเชื่อใจหรือเชื่อถือหรือกระทั่งเลิกสนใจไปได้เช่นกัน ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเพิ่มต่อไปว่า 3.เพราะระหว่างที่สังคมวางตัวเป็นผู้ชมย่อมรู้สึกเกิดอารมณ์คล้อยตามและเกิดความรู้สึกร่วม แต่เมื่อพ้นระยะของการจัดวางให้ตนเองเป็นผู้ชมการแสดงนั้นๆแล้วก็จะถอยกลับมาที่ความต้องการและกรอบประสบการณ์ของตนเอง หากสิ่งใดที่ผู้รับสารพิจารณาแล้ว ไม่มีประโยชน์และขัดกับกรอบความคิดทัศนคติเดิมของตนที่มีอยู่ก่อนผู้รับสารก็จะไม่เปิดรับสารนั้นเมื่อไม่เกิดการเปิดรับการสื่อสารก็ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบไม่มีประสิทธิภาพไปได้ นั่นจึงส่งผลให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตประการสุดท้ายต่อไปว่า 4. บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายอาจต้องใช้ห้วงเวลาระยะหนึ่งในการทบทวนรูปแบบและวิธีการในการจัดการบุคลิกภาพและการสื่อสารแสดงออกของตนให้สามารถส่งผลในทางบวกต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินไปเพื่อให้เกิดความคลี่คลายไปในทางที่ดีได้

ในการเรียนสื่อสารการแสดงนั้นเราพบว่า บุคลิกภาพการสื่อสารและทักษะการแสดงออกมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและหมั่นตรวจสอบขัดเกลา ในสภาวะปกติเราอาจสามารถสื่อสารและใช้บุคลิกภาพแสดงออกได้อย่างเหมาะสมกับบทบาทที่เราได้รับ อยากเล่นหรือต้องการใช้บทบาทนั้นเพื่อสื่อสารให้บรรลุเป้าหมายได้ในระดับที่เราจัดการได้และพึงพอใจ แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นทักษะย่อมหมายถึงการลงแรงที่จะทำซ้ำๆ และหาโอกาสในการได้รับคำแนะนำ รับฟังข้อคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมเพื่อให้เมื่อถึงสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน คับขันหรือภาวะไม่ปกติโดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อขัดแย้งไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ทางเดียวที่เราจะเอาตัวรอดพ้นผ่านไปได้โดยไม่ทำให้ความรุนแรงของสถานการณ์นั้นเพิ่มคือ การมีคลังของทางเลือกในการสื่อสารและการแสดงออกที่หลากหลายและการมีความสามารถในการจัดการหรือควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน เช่น อารมณ์ขุ่นมัว อคติ ความโกรธ ที่จะไม่ทำให้เราสื่อสารได้อย่างเหมาะสมออกไปได้ดี จะเป็นหนทางที่นำเราไปสู่ความเป็นผู้มีบุคลิกภาพ ภาพลักษณ์ที่น่าไว้วางใจและเป็นคนที่สื่อสารได้ในทุกโอกาสอย่างแท้จริง

Featured Image: A Photograph by Igor Link on Pixabay
Header Image: A Photograph by Ryan McGuire on Pixabay

บทความอื่นจากผู้เขียน

Prapassorn Chansatitporn
Prapassorn Chansatitporn
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสื่อสารการแสดง ปริญญาโทในสาขาวาทวิทยา และปริญญาเอกในสาขานิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้านสื่อสารการแสดง วาทวิทยา และนิเทศศาสตร์กว่า 15 ปี ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์การแสดงและวาทวิทยาเข้าด้วยกัน และยังมีผลงานการแสดงตามสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ