parallax background

สื่อ / สาร / สอน

สุกัญญา สมไพบูลย์


ในช่วงเวลา 3-4 ปีมานี้ ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปบรรยายพิเศษกับคณาจารย์ระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่องในหัวข้อที่มีใจความสำคัญว่าจะสอนหนังสืออย่างไรให้ถูกใจผู้เรียน หรือจะมีวิธีอย่างไรให้ผู้เรียนมีความสุขในชั้นเรียน ซึ่งเป็นมุมมองการสอนเชิงรุก ที่ไม่ได้ตระหนักแค่จะสอนอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจในบทเรียนเท่านั้น แต่มีประเด็นเรื่อง “เข้าถึง ถูกใจ”  มาเป็นสาระสำคัญในการจัดการเรียนการสอนด้วย

ในปี 2557 ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สอนอย่างไรให้เข้าถึงใจนักศึกษา Gen Z” จัดโดยสถาบันคลังสมองแห่งชาติ วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ปีถัดมามหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีได้เชิญผู้เขียนให้ไปบรรยายเชิงปฏิบัติการกับคณาจารย์ในหัวข้อ “การสื่อสารอย่างชาญฉลาด: สอนอย่างไรให้เข้าถึงใจนักศึกษาในศตวรรษที่ 21” และในปี พ.ศ. 2559 สถาบันคลังสมองแห่งชาติร่วมกับสกอ. และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้กำหนดจัดการประชุมสัมมนา หัวข้อ  “การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 2: การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนด้วยงานวิจัย” ขึ้น ในระหว่างวันที่  24–25 มีนาคม 2559  และได้เชิญผู้เขียนบรรยายเชิงปฏิบัติการในหัวเรื่องซ้ำคือ ​”การสื่อสารอย่างชาญฉลาด: สอนอย่างไรให้เข้าถึงใจนักศึกษา​”

ปลายปี 2559 ผู้เขียนได้รับเชิญอีกครั้งจากสถาบันคลังสมองของชาติ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้กำหนดจัดการประชุมสัมมนา หัวข้อ  “Innovation in Teaching & Learning : how to educate students in the changing world” ขึ้น ในระหว่างวันที่  5-6 กันยายน 2559  และได้บรรยายเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Developing T&L skills : ActorTeacher” และล่าสุดวันที่ 27 มีนาคม 2560 ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อ “The Changing Faces of the Teacher for Active learning” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “การเรียนรู้เชิงรุก ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

จากการได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษหรือบรรยายเชิงปฏิบัติการหัวข้อดังกล่าวกับคณาจารย์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตามที่แสดงให้เห็นนั้น ช่วยชี้ให้เห็นถึงกระแสการจัดการการเรียนการสอนหรือกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นความสุขใจและเข้าใจของผู้เรียน ดังนั้นการมองคุณลักษณะของผู้สอนที่เน้นเรื่องมายด์เซ็ท (mindset) หรือความเชื่อ ความคิด มุมมอง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม และทักษะการสื่อสาร (ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานคติสำคัญของสาขาวิชาวาทวิทยา) จึงเป็นแนวโน้มที่สำคัญของกาเรียนการสอนในทุกระดับตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ผู้เขียนจึงหันมาทบทวนวัตถุประสงค์ของการบรรยายและพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่ได้บรรยายแล้วและกำลังจะบรรยาย ผู้เขียนพบว่าประเด็นหลักที่มีอยู่ในทุกหัวข้อการบรรยายคือ “การสอนอย่างชาญฉลาด” ซึ่งผู้เขียนได้ตีความว่าการสอนอย่างชาญฉลาดหมายถึงการสอนที่เป็นองค์รวม การสอนที่ผู้สอนผสมผสาน“ฐานหัว” คือปัญญาความรู้ที่เข้มข้นและกว้างขวางในสาขาของตนผนวกเข้ากับ “ฐานกาย” และ “ฐานใจ” นั่นคือมีความสามารถหรือทักษะการสื่อสารขั้นสูงและจิตวิทยาในการเข้าถึงผู้เรียน เพื่อให้เกิด “กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ได้เป็นอย่างดี

สำหรับบทความนี้ผู้เขียนขอเน้นในประเด็นของการนำองค์ความรู้เชิงวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนการสอนมาเป็นแนวคิดหลักในการอธิบายและยกตัวอย่าง เพราะการ “เข้าถึง” และทำให้ผู้เรียน “ถูกใจ” นั้น ประเด็นสำคัญผู้สอนควรพิจารณาและพัฒนาให้มีในตนเอง (ไม่ว่าจะสอนวิชาใดก็ตาม)นั่นก็คือ ความสามารถในการสื่อสาร (Communication Competence) ที่ไม่ได้หมายรวมแค่การพูดเก่งหรือการเป็นผู้ฟังที่ดีเท่านั้น หากยังมีปัจจัยแนวคิดและทักษะการสื่อสารอื่นๆ อีกหลายประการที่ควรนำมาพิจารณา ดังนี้

ความสามารถในการเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้เรียน (pathos)  ในกระบวนการสร้างการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจตามหลัก Aristotle’s Persuasive Model นั้น จะมีองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารคือ ความน่าเชื่อถือของผู้สื่อสาร (ethos) หลักฐาน เหตุผล ข้อโต้แย้งที่หนักแน่น (logos) และความสามารถในการเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟังและบรรยากาศ (pathos) ในฐานะผู้สอนหรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ หลักความน่าเชื่อถือและการแสดงหลักฐานเหตุผลต่างๆ นั้น มักจะเป็นคุณสมบัติหลักที่แต่ละคนจะมี แต่ประเด็นสำคัญในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเข้า(ถึง) ใจของผู้เรียนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย เมื่อห้องเรียนมีการจัดบรรยากาศทางกายภาพที่ดี แต่ไม่สนใจบรรยากาศทางจิตวิทยาก็อาจจะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเปิดรับหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการจดจำอารมณ์เชิงบวกเอาไว้ (memory of emotion) แม้บรรยากาศห้องเรียนจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่อย่างน้อยผู้สอนก็จะไม่เกิดภาวะ “อารมณ์เสีย” ทันทีเมื่อประสบ หลักการดังกล่าวนักแสดงก็ใช้ในการฝึกฝน โดยการจดจำประสบการณ์เชิงบวก จนสามารถที่จะสร้างอารมณ์เชิงบวกและเรียกใช้ (memory recall) ได้ในภาวะต่างๆ ซึ่งเมื่อผู้สอนได้ฝึกทำบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นนิสัยและนำมาใช้ได้โดยอัตโนมัติ  โดยลักษณะดังกล่าวก็จะสัมพันธ์กับการมีอีคิว (EQ) ที่ดี โดยเฉพาะด้านการมีทักษะทางสังคม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถหาแรงจูงใจให้ตนเองได้

ความเข้าใจผู้เรียน (empathy) และความช่างสังเกต (observation) ผู้สอนที่ดีควรมี “ความไวต่อความรู้สึก” (sensitivity) นั่นคือการใส่ใจ เห็น และรู้สึกได้ถึงปฏิกิริยาหรือความรู้สึกของผู้เรียนเพื่อจะได้ปรับอารมณ์และบรรยากาศของการสื่อสาร และจะส่งผลถึงการเปิดใจยอมรับฟังผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้มีการรับฟังอย่างลึกซึ้งตามมา ซึ่งลักษณะดังกล่าวต้องมาจากการที่ผู้สอนเป็นคนช่างสังเกต และมีความใส่ใจเข้าใจผู้เรียน โดยผู้สอนควรฟังอย่างตั้งใจ และแสดงออกด้วยทีท่าที่เป็นมิตรเพื่อลดความกังวลของผู้เรียน และเปลี่ยนมุมมองที่ผู้สอนไม่ใช่ศูนย์กลางของห้อง ให้ลองมองว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ผู้เรียนไม่ตั้งใจเรียน ทำไมผู้เรียนหลับ การที่ลองสมมติหรือใช้มุมมองว่าเราเป็นอีกฝ่าย (put yourself in someone’s shoes) ก็จะช่วยให้วิธีแสดงออกของผู้สอนมีเมตตา และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การสอบถามปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหาได้

ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ครั้งหนึ่งในสมัยมัธยมศึกษา ผู้เขียนไม่ได้นำใบชบาด่างมาต้มเพื่อสกัดสารคลอโรฟิลล์  แต่นำใบพลูด่างมาเพราะเข้าใจผิด ซึ่งเมื่อต้มตามขั้นตอนก็ปรากฏว่ากลุ่มของผู้เขียนไม่สามารถสกัดคลอโรฟิลล์ได้ และผู้เขียนถูกทำโทษ (และทำให้เกิดอคติกับวิชาวิทยาศาสตร์) ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าแม้ว่าผลที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามหนังสือเรียน แต่จำเป็นมากสำหรับผู้สอนที่จะต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพื่อการอภิปรายเพิ่มเติมหรือไปช่วยค้นคว้าเป็นการบ้านมาร่วมกันในสัปดาห์ต่อไป โดยสามารถที่จะใช้อารมณ์เชิงบวกในการตักเตือน ตำหนิ หรืออธิบาย เพื่อเป็นการทำให้ผู้เรียนรู้ว่าตนผิดพลาดแต่ก็ยังมีกำลังใจ

อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับเหตุการณ์แรก นั่นคือผู้เขียนขณะเรียนชั้นประถมศึกษา ได้รับคำสั่งให้ปลูกพริกเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แต่ผู้เขียนลืมปลูกและได้ขุดพริกที่ต้นโตเต็มที่และออกผลพริกแล้วจากที่บ้านของตนมาส่งครู ปรากฏว่าของเพื่อนในชั้นเรียน เมล็ดพริกเพิ่งงอก ครูบอกให้ผู้เขียนไปดูของเพื่อนและสอนว่าในเวลาที่กำหนดให้ปลูกและปลูกตามขั้นตอนนั้นพริกจะงอกได้แค่ไหน และขอให้ผู้เขียนยอมรับว่าพริกที่นำมาส่งไม่ได้ปลูกเอก และให้ไปปลูกมาส่งใหม่ พร้อมทั้งบอกเพื่อนๆ ให้ดูว่าถ้าพริกของแต่ละคนที่นำมาส่งแล้วไปปลูกต่ออีก 3 เดือนก็จะต้นใหญ่และออกดอกออกผลเหมือนที่ผู้เขียนนำมา

สิ่งสำคัญที่ผู้สอนได้ส่งต่อมาสู่ผู้เขียนในขณะนั้นคือการสอนที่ให้ทั้งความรู้เชิงการปลูกต้นไม้ และให้ผู้เขียนละอายต่อการโกหก แต่ไม่ต้องอายในชั้นเรียนโดยการประจานหรือทำโทษต่อหน้าเพื่อน ซึ่งนั่นได้ทำให้ผู้เขียนกล่าวขอโทษด้วยความเต็มใจ รู้สึกยอมรับในการกระทำผิดของตนเองและพร้อมจะแก้ไข อีกทั้งชอบเรียนในวิชานั้นมาก เพราะผู้สอนมีความใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียน แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แม้ผู้เขียนจะไปปลูกพริกมาส่งใหม่ถูกกติกา แต่ก็ถูกหักคะแนนตามข้อตกลงในชั้นเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตกลงร่วมกัน

การเป็นนักเล่าเรื่อง (story teller)  Dale Carnegie กล่าวไว้ว่า “The great truths of the world have often been conclude in fascination stories (Gallo, 2014: 49) นั่นหมายความว่าเรื่องราวหรือความจริงที่ดีงามต่างๆ นานาในโลกนี้มักถูกบรรจุอยู่ในเรื่องเล่าชั้นยอด แต่การเล่าเรื่องนั้นไม่ได้แปลว่าผู้สอนต้องเล่านิทาน หรือสอนแบบทำเสียงสูง-ต่ำ ตลอดเวลา แต่การเล่าเรื่องคือการทำให้ผู้เรียนเห็นภาพและรู้สึกกับสิ่งที่เล่าผ่านโครงสร้างของเรื่องเล่าที่มี ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ผลออกมาเป็นเช่นไร มีบรรยากาศ มีทัศนคติ มีอารมณ์ความรู้สึกในนั้น ผู้สอนอาจนำประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง ประสบการณ์ของผู้อื่นทั้งอาจมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักหรือไม่ก็ตาม หรืออาจะเป็นเรื่องราวของหน่วยงาน องค์กร และอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับบทเรียน เป็นลักษณะการให้ตัวอย่าง การเทียบเคียงให้แนวคิด ทฤษฎีหรือประเด็นในการสอนนั้นๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น การเล่าเรื่องจากเรื่องเล่าจะช่วยให้ผู้เรียนในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น gen Z หรือ Y ที่มักต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่มีทั้งภาพ เสียง อารมณ์ความรู้สึกด้วยนั้นมีความสนใจในบทเรียนได้มากขึ้น นอกจากเรื่องเล่าจะน่าสนใจแล้วการสร้างจังหวะ (rhythm) หรือการสร้างความกลมกลืนของเนื้อหาโดยการแบ่งจังหวะของการเล่าเรื่องหรือการนำเสนอก็เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม การสร้างจุดเชื่อมโยง อาจจะมีการทิ้งให้คิด ตั้งคำถามให้เกิดความประหลาดใจ สงสัย และค่อยๆ เฉลยเหมือนการวางจังหวะของภาพยนตร์หรือละคร เชื่อมโยงการใช้จังหวะของเสียง (pace) และการเล่า (narration) ก็จะเป็นการดึงดูดความสนใจผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเรื่องเล่าที่พระไพศาล วิสาโล ได้เล่าเพื่อเทียบเคียง (analogy) เพื่อการเห็นภาพและเพิ่มความเข้าใจเชิงรูปธรรมกับการทำงานเป็นทีมว่า ในสมัยที่หลวงพ่อโต วัดระฆัง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเทศนา และต้องเดินทางโดยเรือ ขณะเดินทางนั้นสมเด็จฯ ท่านก็วางตาลปัตรพัดยศไว้ที่หัวเรือ ตัวท่านนั่งกลางเรือและลูกศิษย์วัดเป็นคนพายเรือ เมื่อมาได้ครึ่งทางน้ำก็ตื้นขึ้นเรื่อยๆ จนเรือพายลำบาก ลูกศิษย์วัดจึงกระโดดลงมาเข็นเรือแทนการพาย สมเด็จฯ ท่านเห็นว่าถ้าช่วยกันสองคนจะเร็วขึ้น จึงลงมาช่วยลูกศิษย์ เมื่อชาวบ้านเห็นเช่นนั้นก็ตำหนิลูกศิษย์วัดว่าทำไมถึงให้สมเด็จฯ ท่านลงมาเข็น สมเด็จฯ หันไปบอกชาวบ้านว่า “นี่ฉันขรัวโตเองจ้ะ สมเด็จท่านยังอยู่บนเรือ” นั่นหมายความว่า คนที่มาเข็นเรือคือหลวงพ่อโต แต่ตำแหน่งสมเด็จที่แสดงผ่านตาลปัตรพัดยศยังอยู่ที่หัวเรืออย่างสง่างาม ซึ่งเรื่องนี้เป็นการเรียบเปรยให้เห็นว่าในการทำงานนั้น แม้หัวหน้าหรือคนที่ยิ่งใหญ่จะลงมาช่วยเหลือคนที่ตำแหน่งน้อยกว่าไม่ได้แปลว่าจะทิ้งตำแหน่งหรือศักดิ์ศรีใดๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่อุปโลกน์กันขึ้นมาและมันก็ยังอยู่ที่เดิมเสมอ แต่น้ำใจในการช่วยเหลือกันของทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

การใช้เสียงเพื่อการสื่อสาร (voice and speech) เสียงเป็นเครื่องมือสื่อความที่สำคัญของผู้สอนในลำดับต้นๆ  เสียงที่น่าฟังจะช่วยนำพาเนื้อหาที่น่าฟังไปสู่ผู้เรียนได้เช่นกัน Julian Treasure (2014)ได้กล่าวไว้ใน Ted Talk หัวข้อ “How to Speak so that People Want to Listen to” ได้นำเสนอหลักการใช้เสียงที่น่าฟัง โดยฝึกฝนและใช้ร่างกายในการออกเสียงให้มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบและยกตัวอย่างกล่องเสียงของมนุษย์เป็น “กล่องเครื่องมือมหัศจรรย์” (magical tool box) ประกอบไปด้วย การวางระดับเสียง (register) น้ำเสียงที่น่าฟัง (timbre) โทนเสียงอันหลากหลาย (prosody) จังหวะการออกเสียง (pace) ระดับเสียงสูง-ต่ำ (pitch) ความดัง-เบาของเสียง (volume)

 ในการวางระดับเสียง (register) นั้น ผู้สอนควรเปล่งเสียงให้ชัดเจนด้วยการหายใจแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งจะได้เสียงที่ขับจากท้อง อก และใช้โหนกแก้มเพิ่มพลังของเสียง เพราะเสียงที่กว้างและมีพลังจะช่วยเชื่อมโยงกับความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่พูดแค่ใช้เสียงจากคอและใบหน้า เสียงจะเบา และไม่มีพลังแม้จะใช้ไมโครโฟน เสียงที่มีคุณภาพ (timbre) นั้นจะเป็นเสียงที่สดใส อบอุ่น ไม่แหบ  ในส่วนของโทนเสียงอันหลากหลาย (prosody)นั้น ผู้สอนควรจะใส่ใจในความชัดเจน และใช้เสียงให้หลากหลาย (แม้ภาษาไทยจะถูกกำกับด้วยวรรณยุกต์ทั้ง 5 เสียงก็ตาม) ไม่เข้าลักษณะของเสียงราบเรียบเป็นเสียงเดียวตลอดการสอนหรือเรียกว่า “โมโนโทน” (monotone) ซึ่งโมโนโทนต่ำจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายและง่วงนอน ในขณะที่โมโนโทนสูงอยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้ผู้เรียนมีความอึดอัดและสูญเสียสมาธิ ในส่วนของจังหวะ (pace) นั้นก็จะเป็นการกำกับคำพูดแต่ละคำให้ออกมา การเน้นย้ำอาจจะพูดให้เสียงหนักและช้า แต่ถ้าต้องการความตื่นเต้นก็อาจจะพูดให้เร็วขึ้น กระนั้นก็ตามการพูดที่เร็วก็ต้องไม่รัวจนฟังไม่รู้เรื่อง ดังนั้นฝึกการขยับรูปปากและอวัยวะในการออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจนจะสามารถช่วยให้ครูที่พูดจังหวะเร็ว สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ส่วนระดับเสียง (pitch) นั้นเสียงสูงกับเสียงต่ำก็สัมพันธ์กับการที่จะให้ “ความหมาย” นั้น “หมายความ” และระดับเสียงนี้ก็ยังสัมพันธ์กับความเร็ว ความช้า ความเงียบในบางจังหวะ และสัมพันธ์กับความดังของเสียง (volume)เช่นเดียวกัน เสียงดังช่วยกระตุ้นและสร้างความตื่นเต้นได้ ในขณะที่เสียงเบา จังหวะช้า แต่หนักแน่น ก็สามารถที่จะใช้ให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของสารนั้น

การใช้อวัจนภาษาที่สร้าง “ความหมาย” และ “หมายความ” (nonverbal communication) ในศิลปะการละครหรือสื่อสารการแสดง จะมีแนวคิดให้ผู้แสดงเข้าถึงบทบาท (characterization) และแสดงออกมาตามอารมณ์และบทบาทนั้น (dramatic action) ตัวละครที่ได้รับเป็นเช่นไรก็จะแสดงออกมาให้ตรงกับบุคลิกลักษณะ ทั้งการยืน การเคลื่อนไหว การแสดงออกทางสีหน้าและสายตา แต่สำหรับผู้สอนนั้นไม่ได้แสดงเป็นใคร แต่เป็นตัวเองในบทบาทของครู ซึ่งการนำเสนอหรือถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ผ่านน้ำเสียงที่น่าเชื่อถือและน่าฟัง สีหน้าที่เป็นมิตร รวมทั้งการเคลื่อนที่เคลื่อนไหวที่ลงตัว ก็จะส่งเสริมความหมายของเนื้อหา ให้หมายความได้ตรงตามเจตนารมณ์ของสิ่งที่สอนและตัวผู้สอนเพื่อความเข้าใจที่ดีของผู้เรียน

อวัจนภาษาเบื้องต้นที่ผู้สอนควรฝึกปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ อาทิ พฤติกรรมของเสียง (paralanguage) คือคุณลักษณะในการเปล่งเสียง ทั้ง เบา ดัง นุ่มนวล กระแทกเสียง เป็นต้น ซึ่งเสียงที่แสดงออกถึงความเกรี้ยวกราด เช่น ห้วน ดัง ตวาด ก็ย่อมจะสร้างความตึงเครียดหรือความกลัวในชั้นเรียน ต่างจากเสียงดัง แต่มีรอยยิ้มจางๆ ในเสียง ย่อมสร้างความรู้สึกเป็นมิตรให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี การใช้เสียงดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์กับการแสดงออกทางสีหน้า (facial expression) เมื่อใดที่ใบหน้าบึ้งตึงก็จะเป็นการยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีน้ำเสียงที่ยิ้มหรือใจดี ในทำนองเดียวกันถ้ายิ้มตลอดเวลาขณะพูดก็ไม่สามารถที่จะทำเสียงที่เคร่งขรึมหรือเป็นทางการ ส่วนสำคัญต่อมาในการสื่อสารด้วยอวัจนภาษาคือการใช้สายตาเพื่อการสบตา (eye contact) ซึ่งไม่ว่าห้องเรียนจะเล็กหรือจะใหญ่ ผู้สอนควรกวาดตาหรือสบตาผู้เรียนให้ทั่วถึง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสบตาทุกคน แต่สามารถเลือกโซน และมองกว้างๆ ได้ การสบการจะแสดงออกถึงความใส่ใจและให้เกียรติผู้เรียน

สำหรับการยืน (posture) หน้าชั้นเรียนนั้น ผู้สอนควรยืนท่าที่ตนเองสบายแต่ก็ควรสง่าด้วย เพื่อให้สามารถสร้างพลังการสื่อสารภายในตนเองและเสริมสร้างฮฮร์โมนในด้านความกล้าและการตัดสินใจในลักษณะที่เรียกว่า power post (Cuddy, 2012) และเลือกจุดยืนที่ขณะสอนนั้นผู้เรียนทั้งห้องสามารถที่จะมองเห็นได้ อาจจะมีการเดินหรือเปลี่ยนตำแหน่งบ้างแต่ไม่ควรเดินไปเดินมาตลอดเวลา และเมื่อใช้อากัปกิริยาหรือใช้มือประกอบการสอน (gestures) ก็ควรจะให้มือและแขนในการเน้นย้ำความหมายของสิ่งที่กำลังกล่าวถึงในบริเวณช่วงกลางลำตัว ไม่ยกแขนหรือมือไว้บริเวณใบหน้าหรือศีรษะ และไม่ยกลงต่ำกว่าบริเวณเข็มขัดหรือเอว ส่วนด้านข้างก็ควรจะใช้แขนประมาณช่วงไหล่และไม่เกินช่วงแขน ซึ่งจะช่วยทำให้ท่าทางประกอบการสอนนั้นดูกลมกลืนและช่วยสื่อสารเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป

หัวข้อและประเด็นต่างๆ ข้างต้น เป็นตัวอย่าง (ชนิดย่อ) ของคุณลักษณะเชิงความสามารถในการสื่อสารของผู้สอน โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสารของมนุษย์ที่มีตนเองเป็นสื่อ เป็นการสื่อสารที่ใช้ทั้ง สมอง กาย และใจในเวลาเดียวกัน ซึ่งนอกจากเทคนิควิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพแล้ว ถ้าผู้สอนเปิดใจและเต็มใจที่จะพัฒนาคุณลักษณะทางการสื่อสารในฐานะมนุษย์สื่อสารกับมนุษย์ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งๆ ขึ้นไป

บรรณานุกรม

  • Cuddy, A. (2012). Your body language shapes who you. Ted Talks. Available at: https://www.youtube.com/watch?v=Ks-_Mh1QhMc. Accessed 12 December 2012,
  • Gallo. C. (2014). Talk Like Ted: The 9 Public Speaking Secrets of the World’s Top Mind. New York: St Martin’s Press.
  • Griggs, T. (2001). Teaching as Acting: Considering Acting as Epistemology and Its Use in Teaching and Teacher Preparation. Teacher Education Quarterly, Spring 2001.
  • Smith, R. L. and Hansen, J. M. (1972). The Teacher/Actor. The Clearing House, Vol. 47, N0. 2 (Oct. 1972), pp. 96-98.
  • Treasure. J. (2014). How to speak so that people want to listen. Ted Talks. Available at https://www.youtube.com/watch?v=eIho2S0ZahI. Accessed 6 July 2014.
Sukanya Sompiboon
Sukanya Sompiboon
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอกในสาขา Drama จาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ มีความเชี่ยวชาญในการแสดงละครเวทีแบบ tradition-based contemporary performance ลิเกร่วมสมัยและละครร้อง มีความสามารถในการร้องเพลงและการใช้เสียงในงานบันเทิงคดี มีผลงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศหลายชิ้น โดยเฉพาะด้านสื่อสารการแสดง ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง