parallax background

ข้อสังเกตการสื่อสารของสื่อมวลชน จากคำนำหนังสือพระนิพนธ์ ‘จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์’ ในสายพระเนตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ข้อสังเกตการสื่อสารของสื่อมวลชน จากคำนำหนังสือพระนิพนธ์ ‘จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์’ ในสายพระเนตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร


การรายงานข่าวหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องจากการสวรรคตของพระบรมวงศานุวงศ์นับแต่อดีตจนในห้วงเวลาแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีทิศทางการนำเสนอข่าวทั้งพระราชพิธีในส่วนของสำนักพระราชวัง การแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจของพสกนิกร บรรยากาศโดยรวมของสังคมนั้นปรากฏรูปแบบหรือหลักเกณฑ์ใดที่กำกับอยู่หรือไม่ สิ่งใดที่สื่อสารมวลชนยังคงถือปฏิบัติและสิ่งใดที่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

อาจเป็นข้อคำถามที่สามารถหาคำตอบได้เมื่อได้ศึกษาในรายละเอียดรอบด้าน รวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วนพอก็อาจเป็นหนทางในการอธิบายกระบวนการทำงานของสื่อมวลชนไทยเมื่อต้องรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียเนื่องจากการสวรรคตของเชื้อพระวงศ์ที่เป็นที่รัก ซึ่งผลจากการศึกษาดังนั้นก็อาจสามารถสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทย ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของสังคมไทยโดยรวมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยได้

ในวโรกาส 9 ปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 ผู้เขียนมีความประสงค์อยากนำเสนอแนวการศึกษาวิจัยเอกสารชิ้นหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การไขข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อสังเกตเบื้องต้นที่กล่าวมาได้ โดยก่อนอื่นนั้นต้องกล่าวถึงด้วยว่าหนังสือพระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีการรวบรวมที่สำคัญไว้ทั้งสิ้น 25 เล่มแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดพระราชวงศ์  11 เรื่อง หมวดพระนิพนธ์แปล  3 เรื่อง หมวดสารคดีท่องเที่ยว 10 เรื่อง และบทความวิชาการ  1 เรื่อง ในบรรดาหนังสือพระนิพนธ์เหล่านี้ มี 2 เรื่องซึ่งอยู่ในหมวดพระราชวงศ์ ทรงใช้วิธีการนิพนธ์จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารจากสื่อหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ อันได้แก่ เล่มแรก “จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์  Popular Chronicle From The Press, The Demise of the Princess Mother” กับเล่มถัดมาคือ “ส่งเสด็จสมเด็จย่า ประมวลเรื่องจากหนังสือพิมพ์” ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอบทวิเคราะห์การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำนำในพระนิพนธ์“จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์  Popular Chronicle From The Press, The Demise of the Princess Mother” ซึ่งควรค่าแก่การพิจารณาเพื่อเป็นหลักคิดและการตระหนักถึงความสำคัญของการบันทึกข้อมูลข่าวสารที่เป็นระบบอันส่งประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งค้นคว้าของคนรุ่นหลัง รวมทั้งยังกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่ใช้การเข้าถึงหรือบันทึกข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือบุคคลทั่วไปควรได้คำนึงถึงจริยธรรมในการสื่อสาร การเคารพและรับผิดชอบต่อต้นตอของแหล่งข้อมูลอีกทั้งยังพึงใช้จิตสำนึกสาธารณะในการคัดเลือกเนื้อหาว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรนำเสนอในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง พระนิพนธ์ “จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์ Popular Chronicle From The Press, The Demise of the Princess Mother” ซึ่งจากนี้จะเรียกว่า “จดหมายเหตุชาวบ้านฯ” มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ต่อผู้ได้มีโอกาสอ่าน ในฐานะที่เป็นสื่อกลางของการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติชิ้นหนึ่ง ขณะเดียวกันอาจถือได้ว่ายังมีบทบาทสำคัญ ในการเป็นเอกสารเพื่อการศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์ ในแง่ของการรายงานข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมาชิกในราชวงศ์ได้เป็นอย่างดีอย่างดีเพราะรวบรวมจากหนังสือพิมพ์จำนวนมากและหลากหลาย คือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจนมีระยะเวลาในการรวบรวมข่าวที่ปรากฏค่อนครอบคลุมเหตุการณ์ คือกินระยะเวลากว่า สองเดือน ข้อความที่ปรากฏในคำนำทั้งหมดมีดังนี้ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, 2539)

คำนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เวลา ๒๑.๑๗ น. วันรุ่งขึ้นและวันต่อ ๆ ไปหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวการสวรรคตและพระราชประวัติอย่างละเอียด นักหนังสือพิมพ์ได้แสดงความเคารพและอาลัยของตนเองและของประชาชนอย่างจริงใจ ข่าวฆาตกรรมและเหตุร้ายอื่น ๆ หายไปจากหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์ไทยอยู่นาน ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจและประสงค์จะเก็บหนังสือพิมพ์เหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึก อุปสรรคคือกระดาษหนังสือพิมพ์เหลืองเร็ว ขาดง่าย และอ่านยากเพราะขนาดใหญ่และเรื่องต่อ ๆ กันหลายหน้า ต้องพลิกและค้นหาด้วยความยากลำบากกว่าจะจบ ข้าพเจ้าจึงเอามาถ่ายสำเนาไว้และตัดต่อเป็นเรื่อง ๆ ปิดลงบนแผ่นกระดาษ

เมื่อสองสามวันผ่านไป ข้าพเจ้าได้มีความคิดว่าน่าจะจัดหน้าให้เรียบร้อยและพิมพ์เป็นหนังสือ อาจมีผู้ที่ได้อ่านหนังสือเหล่านี้แล้วแต่ไม่สามารถเก็บไว้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ หรืออยากอ่านอีกครั้งอย่างครบถ้วนเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมทุกข์กันเป็นใจเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงปรึกษาผู้ที่เคยทำหนังสือด้วยกันมาหลายครั้งและโรงพิมพ์เพื่อทราบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อที่ปรึกษาออกความเห็นว่าน่าจะทำ ข้าพเจ้าก็เริ่มจัดรูปเล่ม

หนังสือพิมพ์ที่ใช้ก็คือหนังสือพิมพ์ ๕ ฉบับที่รับอยู่เป็นประจำ ๓ ฉบับเป็นภาษาไทย อีก ๒ ฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ๓-๔ สัปดาห์ต่อมามีผู้นำหนังสือพิมพ์ “มติชน” มาให้ ข้าพเจ้าเห็นว่ารูปถ่ายและการวางบทความส่วนหนึ่งน่าดู ข้าพเจ้าจึงเลือกมาลงในบทที่ ๑ และบทที่ ๒ และได้ใช้ภาพสำหรับปกด้วย บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ได้แสดงการไว้อาลัยเป็นจำนวนมากได้เลือกมาเพียงจำนวนน้อย เฉพาะที่ประทับใจ เลขที่ของบทนั้นนับไปตั้งแต่หลังวันที่สวรรคตหนึ่งวัน เช่นวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๘ คือบทที่ ๑ สำหรับหนังสือพิมพ์ ๕ ฉบับที่รับประจำข้าพระเจ้าได้พิมพ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าเรื่องจะซ้ำกันบ้างแต่ก็เพราะอยากให้ผู้อ่านสามารถเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ด้วยกันเอง

ทั้งภาพและบทความได้ใช้ตัวหนังสือเป็นต้นฉบับ มิได้ขอรูปจริงมาหรือพิมพ์ใหม่ อยากให้มีความรู้สึกว่าเป็นหนังสือพิมพ์จริง ๆ ดังนั้นบางรูปอาจไม่ชัดนัก สีก็เป็นไปตามสีของต้นฉบับ ตัวสะกดอาจมีผิดและการแยกอักษรในปลายและต้นบรรทัดอาจแปลก ๆ หน่อย ข้อความก็อาจมีผิดพลาดไปบ้าง ส่วนมากจะไม่ได้แก้ แต่บางครั้งได้เขียนข้อสังเกตเมื่อเห็นว่าผิดอย่างมาก ในขั้นแรกคิดว่าจะทำจนถึง ๕๐ หรือ ๑๐๐ วัน แต่เมื่อได้จัดหน้าตามขนาดหนังสือแล้ว ๑๖ วันก็เกือบ ๖๐๐ หน้าแล้ว จึงต้องหยุดแค่นั้น ภาพและเรื่องที่น่าสนใจยังมีเหลืออีกจำนวนมาก ซึ่งคงต้องใช้ทำหนังสืออีกแบบหนึ่ง

นิตยสารและหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับได้ลอกหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” ของข้าพเจ้ามากกว่า ๓ บรรทัดเพื่อเป็นอัญญพจน์โดยมิได้ขออนุญาต ข้าพเจ้าไม่อยากทำเช่นเดียวกัน จึงให้โทรศัพท์ไปถามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่าจะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าไม่และยินดี เว้น The Nation ซึ่งขอให้เอ่ยที่มาเมื่อใช้รูปภาพของเขา ข้าพเจ้ามิได้เขียนให้เป็นพิเศษแต่ทุกครั้งที่เป็นภาพของหนังสือพิมพ์นี้ ข้าพเจ้าได้ทิ้งชื่อของหนังสือพิมพ์หรือของผู้ถ่ายไว้บนขอบของภาพ

โดยที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับชาวบ้าน ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะมอบให้ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศและให้ทุกตำบลที่มีสถานที่อ่านหนังสือ

(ลงลายพระนาม)

มกราคม ๒๕๓๙

จะเห็นได้ว่า ในย่อหน้าแรกนั้นพระองค์ได้เริ่มต้นจากการกล่าวถึงที่มาของการจัดทำหนังสือว่าสืบเนื่องจากการรายงานข่าวสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีของหนังสือพิมพ์จำนวนมาก ขณะเดียวกันในลำดับถัดมาได้ทรงกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของเนื้อหาและอารณ์ที่ปรากฏในการรายงานข่าวนั้นๆว่ามีรูปแบบที่เน้นการกล่าวถึงการสวรรคตและพระราชประวัติ อีกส่วนหนึ่งคือการสะท้อนความรู้สึกส่วนพระองค์ที่มีต่อเนื้อหาข่าวต่างๆรวมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตว่าการทำหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าวที่เว้นการนำเสนอข่าวฆาตกรรมหรือข่าวร้ายต่างๆว่าเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจในการจัดเก็บบันทึกข้อมูลเหล่านั้น ในตอนท้ายของย่อหน้าพระองค์ปรารภถึงข้อจำกัดในกระบวนการเก็บบันทึกข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ด้วยว่าขนาดและคุณภาพของกระดาษเป็นอุปสรรคที่ต้องแสวงหาวิธีในการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบขึ้น จากเนื้อความส่วนนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าพระองค์ทรงใส่พระทัยต่อการจัดเก็บบันทึกข้อมูลข่าวสารและทรงมีความละเอียดในการพิจารณาเครื่องมือและวิธีการที่จะจัดเก็บข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระเบียบอีกทั้งยังเป็นผู้ไวต่อสถานการณ์รอบตัวและมีความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับสื่อหนังสือพิมพ์ทั้งเรื่องการกำหนดเนื้อหาในหน้าหนึ่งของข่าวหนังสือพิมพ์ว่ามีลักษณะเฉพาะดังที่ได้ยกมาและเรื่องคุณลักษณะเฉพาะของสื่อ

ในย่อหน้าที่สองได้กล่าวถึงการพัฒนารูปแบบและวิธีการบันทึกจัดเก็บข้อมูลข่าวสารต่างๆให้มีความถาวรคงทนและสะดวกต่อการนำเสนอจึงได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญซึ่งในที่นี้ใช้คำว่า “เคยทำหนังสือด้วยกันมาหลายครั้ง” โดยระบุว่าเพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลในการได้กลับมาทบทวนถึงเหตุการณ์และได้ทรงตั้งข้อสังเกตว่าจากการรายงานข่าวช่วงเวลานี้ทรงเห็นความรู้สึกร่วมที่ประชาชนมีต่อการสวรรคตคือ “ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมทุกข์กันเป็นใจเดียวกัน” ในเนื้อความส่วนนี้สามารถสื่อความหมายได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ตระหนักในอิทธิพลของสื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อหนังสือพิมพ์ว่ามีผลกระทบต่อการสร้างการรับรู้และการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

ในย่อหน้าที่สาม พระองค์กล่าวถึงแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำหนังสือพระนิพนธ์จดหมายเหตุชาวบ้านฯ จากข้อความในย่อหน้านี้สะท้อนว่าทรงให้ความสำคัญกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองมากกว่าหนึ่งแหล่งจากการบอกรับหนังสือพิมพ์หลากหลายมากกว่าหนึ่งฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นประจำ อีกทั้งยังขยายให้เห็นว่าในการจัดเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อพัฒนาหนังสือพระนิพนธ์จดหมายเหตุชาวบ้านฯนี้อาจจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่มีคุณภาพเช่นการจัดวางองค์ประกอบของภาพที่สวยงามด้วย ในย่อหน้าเดียวกันนี้เองพระองค์ได้ชี้แจงวิธีการลำดับเนื้อหาในหนังสือพระนิพนธ์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจโดยง่าย อีกทั้งระบุสาเหตุของการกำหนดขอบเขตของเนื้อหาบางว่าส่วนใดมีไม่ครบและส่วนใดที่จะได้บันทึกไว้ทั้งหมดอย่างชัดเจนโดยเป้าหมายสำคัญคือทรงเล็งเห็นว่าควรให้ผู้อ่านได้มีโอกาสศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายแหล่งด้วยตัวเอง

ย่อหน้าที่สี่ได้ทรงกล่าวถึงคุณลักษณะของข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ โดยไม่ได้ทรงปรับแต่งใดๆนอกเหนือจากที่จะพบว่ามีข้อผิดพลาดที่ควรแก้ไขให้ถูกต้องก็จะทำเท่าที่จำเป็น จากย่อหน้านี้เองที่ทำให้ได้พบว่าทรงมีความเคารพในข้อมูลต้นทางและทรงละเอียดถี่ถ้วนในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างมากนอกเหนือจากนั้นยังได้ทรงเป็นผู้นิพนธ์งานที่อยู่บนฐานของความเป็นจริงอย่างมากเพราะเหตุที่ข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอนั้นมีมากมายจนพบข้อจำกัด จากที่ตั้งพระทัยว่าจะรวบรวมเหตุการณ์ระหว่าง 50 หรือ100 วัน ก็ต้องตัดสินใจหยุดการเก็บรวมรวมข้อมูลไว้ที่ 16 วันคิดเป็นกว่า 600 หน้าในการจัดพิมพ์เนื่องจากไม่ต้องการให้หนังสือพระนิพนธ์มีความยาวหรือจำนวนหน้ามากเกินไปซึ่งทรงเห็นว่าต้องนำข้อมูลส่วนที่เหลือบางส่วนไปจัดทำหนังสือในรูปแบบอื่นต่อไป

ย่อหน้ารองสุดท้ายถือเป็นใจความที่แสดงออกว่าในฐานะผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเพื่อสื่อสารกับสาธารณะพระองค์ทรงตระหนักถึงเรื่องจริยธรรมในการสื่อสาร ทรงยกตัวอย่างว่าสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารและหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับที่ได้ลอกหนังสือพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง”ของพระองค์เกินกว่า 3 บรรทัดโดยไม่ได้ขออนุญาตซึ่งทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ในการจัดทำหนังสือพระนิพนธ์จดหมายเหตุฯนี้จึงทรงขออนุญาตหนังสือทุกฉบับทางโทรศัพท์และได้รับการตอบรับยินดีและไม่ต้องขออนุญาตทางลายลักษณ์อักษรขณะที่ได้ระบุชื่อหนังสือพิมพ์หรือชื่อผู้ถ่ายภาพหากเป็นข้อมูลที่มาจาก The Nation ตามที่ได้มีการขอให้เอ่ยถึงที่มา ในย่อหน้านี้หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วข้อสังเกตของพระองค์อธิบายถึงประเด็นจริยธรรมการสื่อสารของสื่อสารมวลชนได้ชัดเจนว่ายังคงเป็นปัญหาที่สำคัญและควรได้รับการพิจารณาแก้ไขซึ่งวิธีการที่เหมาะสมที่สุดก็คือการมีวิจารณาญานและการตระหนักรู้ของสื่อมวลชนเอง

เมื่อถึงย่อหน้าสุดท้าย ทรงได้กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายและช่องทางการเผยแพร่หนังสือโดยทรงใช้คำว่า “โดยที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับชาวบ้าน” สะท้อนว่าทรงบันทึกข้อมูลข่าวสารเพื่อสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและระบุว่าหนังสือจะถูกส่งไปยังห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศอีกทั้งทุกตำบลที่มีสถานที่อ่านหนังสือ สามารถสะท้อนได้ว่าพระองค์มีพระประสงค์ให้ชาวไทยเป็นผู้ใฝ่รู้และเห็นควรให้การอ่านและการสร้างสถานที่สำหรับอ่านหนังสือมีครอบคลุมทั่วไปทั้งประเทศ

จากข้อสังเกตทีได้พบในคำนำในพระนิพนธ์“จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์  Popular Chronicle From The Press,The Demise of the Princess Mother” ควรที่นักเรียนนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ วิชาชีพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารจะถือเป็นหลักคิดให้ตระหนักได้ถึงอิทธิพลของกระบวนการสร้างสรรค์สารต่างๆและใคร่ครวญว่าการสื่อสารนั้นพึงต้องตั้งต้นจากความตั้งใจและปรารถนาที่จะสื่อในสิ่งที่ถูกต้อง นักการสื่อสารที่ดีควรพยายามแสวงหาวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและไม่ควรลืมที่จะพิจารณาถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและเลือกรับข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนผู้รับสารให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้อย่างมีจริยธรรมกำกับเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมโดยรวม

เอกสารอ้างอิง

  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์ Popular Chronicle From The Press, The Demise of the Princess Mother. สำนักพิมพ์วงศ์จร: กรุงเทพมหานคร, 2539.

บทความอื่นจากผู้เขียน

Prapassorn Chansatitporn
Prapassorn Chansatitporn
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสื่อสารการแสดง ปริญญาโทในสาขาวาทวิทยา และปริญญาเอกในสาขานิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้านสื่อสารการแสดง วาทวิทยา และนิเทศศาสตร์กว่า 15 ปี ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์การแสดงและวาทวิทยาเข้าด้วยกัน และยังมีผลงานการแสดงตามสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ