parallax background

การวิจัยเอกสารในฐานะเครื่องมือการศึกษาเชิงวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง

การวิจัยเอกสารในฐานะเครื่องมือการศึกษาเชิงวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง

ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร


การวิจัยเอกสาร หรือ การศึกษาเอกสาร (Documentary Research) เป็นหนึ่งในเครื่องมือการวิจัยเชิงคุณภาพที่นักวิจัย นักวิชาการหรือผู้ที่มีความสนใจแสวงหาคำตอบทางสังคมศาสตร์หรือมานุษยวิทยาสังคมวิทยามักเลือกใช้เมื่อปรากฏการณ์ที่ต้องการศึกษาวิจัยนั้นมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือหลักฐานที่เป็น “บุคคลผู้รู้” ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือแสดงออกซึ่งพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การอธิบายข้อสงสัยต่างๆได้ หรือกระทั่งแม้หากในการศึกษาแต่ละครั้งนั้นหากผู้ศึกษาวิจัยมีความต้องการตรวจสอบหรือแสวงหาคำอธิบายให้รอบด้านเกี่ยวกับโจทย์วิจัยของตนก็อาจจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสารต่างๆที่แวดล้อม “บุคคลผู้รู้” เหล่านั้นพร้อมกันไปเพื่อให้มุมมองในการแสวงหาความรู้ในการศึกษานั้นๆครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุที่การวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) เป็นวิธีการสร้างข้อสรุปจากการศึกษาจากข้อมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมักไม่ใช้สถิติหรือถ้าใช้สถิติก็ไม่ได้ถือว่าสถิติเป็นวิธีการวิเคราะห์หลัก ผู้วิเคราะห์ข้อมูลจึงนับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ จำเป็นต้องมีความรอบรู้ในเรื่องแนวคิด ทฤษฎีอย่างกว้างขวาง มีความสามารถทางภาษา สามารถถอดรหัสเชื่อมโยงข้อความ และสร้างข้อสรุปเป็นกรอบแนวคิดและตีความหมายของข้อมูลได้หลาย ๆ แบบและควรเป็นผู้มีสหวิทยาการอยู่ในตัวเอง  ทั้งนี้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพนั้นไม่ได้จำกัดการใช้เฉพาะการวิจัยเชิงคุณภาพเท่านั้น แต่สามารถใช้ร่วมในการวิจัยเชิงปริมาณที่ผู้วิจัยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น แบบสอบถามปลายเปิด การสัมภาษณ์ การสังเกต การจดบันทึกต่างๆ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วการวิจัยเอกสารมักใช้วิธีการ เช่น การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการวิเคราะห์เนื้อความ (Textual Analysis) เป็นวิธีการหลักๆ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ช่วยให้เกิดการทำความเข้าใจเอกสารในฐานะข้อมูลทางการศึกษาทั้งในระดับที่เป็นการอธิบายแจกแจงจัดประเภทให้กับข้อมูลเอกสารเหล่านั้นจนไปถึงขั้นตีความหรือค้นหาความหมายที่อยู่เบื้องลึกของเอกสาร เอกสารในความหมายของการศึกษาประเภทนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะเอกสารในเชิงสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงภาพถ่าย ภาพวาด วัตถุ จดหมายเหตุ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ วรรณคดี ฎีกา งานเขียน งานเรียบเรียง บทสุนทรพจน์ ผลผลิตสื่อประเภทต่างๆเช่น หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ สื่อเสียง ศิลปะการแสดงต่าง ฯลฯ ที่ได้ปรากฏ บันทึกไว้ล้สนแล้วแต่เป็นเอกสารในการศึกษาประเภทนี้ได้ทั้งสิ้น

วิธีการเข้าถึงแหล่งที่จะไปรวบรวมข้อมูลเอกสารที่สะดวกและนิยมใช้กัน เช่น หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดประชาชน มูลนิธิ วัด สถาบันทางการศึกษา หอจดหมายเหตุ สำนักพิมพ์ พิพิธภัณฑ์ ร้านค้า บ้าน สำนัก ฯลฯ และโดยมากต้องมีหนังสือขออนุญาต หนังสือแสดงความยินยอม เพื่อการอนุเคราะห์รวบรวมข้อมูลส่วนการพิจารณาความถูกต้องแม่นยำของเอกสารที่เป็นแหล่งข้อมูลอยู่ที่การให้รายละเอียดว่าใครเป็นเจ้าของเอกสาร เอกสารสร้างขึ้นเมื่อไร  จึงควรระบุชื่อผู้แต่ง ชื่อเจ้าของเอกสารชิ้นนั้น  ปี พ.ศ. หรือ ค.ศ. ที่เอกสารสร้างขึ้น

นอกเหนือจากการเลือกใช้วิธีการและสามารถเลือกเอกสารในการศึกษาได้แล้ว การกำหนดกรอบความคิดที่ใช้ประกอบการอธิบายเอกสารเหล่านั้นก็ถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในเชิงวิชาการที่สำคัญยิ่ง ด้วยเหตุที่การศึกษาวิจัยเอกสารในมุมมองทางวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง ให้ความสำคัญกับการพิจารณาความคิดและวิธีถ่ายทอดความคิดของมนุษย์ (Human’s thought and communications) ทั้งในรูปแบบที่เป็นสารัตถคดี (Fiction) และจินตคดี (non-fiction) ทั้งที่ผ่านวัจนภาษา (Verbal) และอวัจนภาษา (non verbal) ด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมการสื่อสารที่ได้จากเอกสารในเชิงจิตวิทยา การวิเคราะห์ปฏิบัติการทางความคิดของเอกสารที่มีต่อสังคม หรืออาจด้วยการวิเคราะห์กลวิธีในการสื่อสารเช่นการใช้ภาษา การสื่อความหมาย การลำดับความ หรือกระทั่งการเล่าเรื่องซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจศึกษาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน หรือหากจะพัฒนาการศึกษาเอกสารให้เป็นไปในทางการตีความหรือการแสวงหาการให้ความหมายก็อาจทำได้โดยใช้กรอบหรือแนวความคิดที่ว่าด้วยเรื่อง วาทกรรม อำนาจ หรือการศึกษาเอกสารในเชิงวิพากษ์เพื่อหากลไลทางบริบทแวดล้อมเช่น สังคม การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจฯลฯ ที่ประกอบรวมกันจนเกิดเป็นความหมายของเอกสารชิ้นนั้นก็ได้ด้วย

เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพประเภทอื่น เราสามารถแบ่งลักษณะเอกสารเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ 1. เอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิ (primary  document) ตัวอย่างเช่น บันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น หรือบันทึกส่วนตัว (diary) ที่ผู้เขียนแสดงความคิดและความรู้สึกของตนเองในบันทึกนั้น ตัวเอกสารสามารถเป็นเครื่องมือในการสะท้อนตัวตนของเจ้าของผู้สร้างเอกสารนั้นได้โดยตรง  2. เอกสารชั้นรองหรือเอกสารทุติยภูมิ (secondary document) มักปรากฏในรูปของเอกสารที่ได้รับทราบข้อมูลจากประจักษ์พยานเจ้าของข้อมูลด้วยวิธีการสอบถาม การสนทนาหรือการบอกเล่าสืบต่อๆ กันมา หรือได้เคยอ่านผลงานการเขียนของประจักษ์พยาน ข้อมูลจากเอกสารชั้นรองนี้จึงอาจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากกว่าเอกสารชั้นต้นเพราะเกิดจากการถ่ายทอดหลายชั้น

ทั้งนี้ปัจจัยที่จะทำให้เอกสารชิ้นนั้นมีคุณค่าหรือให้ประโยชน์กับการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นเอกสารชั้นต้นหรือไม่หากแต่อยู่ที่ปัจจัย 4 ประการอันได้แก่

  1. ความจริง (authenticity) ของเอกสาร หมายถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกสารที่สามารถระบุถึงแหล่งที่มาซึ่งมีความเชื่อมโยงปรากฏและสอดคล้องกันไม่มีปัจจัยใดที่ขัดกันเอง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การพิจารณาว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลแท้จริงหรือไม่จะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนหรือหน่วยงานที่เขียนเอกสารว่ามีความน่าเชื่อถือถือไม่ อย่างไร  รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนั้น สอดคล้องกับข้อมูลในบริบทอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาสร้างเอกสารนั้นอย่างไร
  2. ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (credibility) หมายถึง เอกสารนั้นจะต้องไม่มีข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เอกสารจำพวกหนังสือพิมพ์เมื่อเปรียบเทียบกับเอกสารประเภทบทวิจารณ์ต่างๆ เพราะเอกสาร 2 ลักษณะนี้จะมีทั้งส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงกับส่วนที่เป็นการแสดงทรรศนะ ดังนั้นหากจะนำไปใช้ในการศึกษาต้องตระหนักว่าจะสามารถตรวจสอบข้อมูลที่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือได้ครบห้วนหรือไม่
  3. การเป็นตัวแทน (representativeness) หมายถึง เอกสารนั้นสามารถใช้สะท้อนประเด็นบางอย่างของข้อมูลประเภทเดียวกัน การเป็นตัวแทนมีหลายระดับ ระดับแรก หมายถึงการที่เอกสารนั้นสามารถใช้แทนหรือเป็นแบบฉบับที่แทนเอกสารประเภทเดียวกันได้หรือไม่ และระดับที่สองคือ ข้อมูลในเอกสารที่จะนำมาวิเคราะห์นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรได้ การเป็นตัวแทนของเอกสารนั้นมีความหมายในเชิงที่ว่า เมื่อพิจารณาแล้วเอกสารที่เลือกมาเป็นส่วนเดียวที่เหลืออยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าถึงได้ก็ควรถูกระบุอยู่ในวิธีการคัดเลือกเอกสารมาศึกษาด้วยเช่นกัน
  4. ความหมาย (meaning) หมายถึง ใจความหรือสาระสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ได้จากการอ่านหรือแปลหรือตีความเอกสาร ในการให้คุณค่าว่าเอกสารใดมีความหมายมากน้อยหรือกระทั่งมีความหมายอย่างไรต้องอาศัยทักษะและความรู้ของผู้ศึกษาหรือในหลายกรณีก็ต้องอาศัยการพิจารณาจากบริบทแวดล้อมเอกสารนั้นเพื่อให้เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง

เมื่อมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าเครื่องมือการศึกษาวิจัยด้วยวิธีเชิงคุณภาพนั้นไม่ได้มีแต่เพียงการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต การสนทนากลุ่มที่เราพิจารณาได้จากบุคคลที่แวดล้อมประเด็นการศึกษาของเรา การวิจัยเอกสารก็มีระบบระเบียบในการกำหนดให้เกิดความน่าเชือถือในเชิงวิชาการไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ในทางวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง สิ่งที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์การสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์นั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่ตัวคนแต่อย่างเดียวหากแต่สารที่ปรากฏผ่านการสื่อความนั้นๆก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งที่จะใช้อธิบายหรือวิเคราะห์วิพากษ์ปรากฏการณ์การสื่อสารต่างๆให้รอบด้านสมบูรณ์ขึ้น การศึกษาเอกสารจึงถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มมุมมองในการศึกษาวิจัยทางวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงให้กว้างขวางขึ้นไปอีก ซึ่งในครั้งหน้าจะได้ลองยกตัวอย่างงานศึกษาทางวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงที่ใช้เครื่องมือการวิจัยเอกสารมาให้ได้พิจารณากันต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  • John Scott. Social Research and Documentary Sources. SAGE Benchmarks in Social Research Methods, Documentary Research Volume I. SAGE Publications, pp. 3-40. 2006.

Featured Image: A Photograph by Eric Bailey in Startup Stock Photos
Header Image: A Photograph by Hermann Traub in Pixabay

บทความอื่นจากผู้เขียน

Prapassorn Chansatitporn
Prapassorn Chansatitporn
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสื่อสารการแสดง ปริญญาโทในสาขาวาทวิทยา และปริญญาเอกในสาขานิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้านสื่อสารการแสดง วาทวิทยา และนิเทศศาสตร์กว่า 15 ปี ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์การแสดงและวาทวิทยาเข้าด้วยกัน และยังมีผลงานการแสดงตามสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ