แนวการศึกษาวิจัยสื่อจินตคดีและสื่อสารการแสดงด้วยมุมมองเชิงสุนทรียนิเทศศาสตร์
ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร
จากที่ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการวิจัยเชิงคุณภาพอย่างหนึ่ง ส่วนสำคัญคือการวิจัยเอกสารถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสวงหาคำตอบจากหลักฐานที่เป็นตัวแทนของบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้หรือเพื่อเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านนอกเหนือจากการสัมภาษณ์หรือการสนทนากลุ่มเพราะเอกสารในที่นี้มิได้หมายถึงแค่เพียงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์เท่านั้นแต่กินความรวมถึงผลผลิตทางการสื่อสาร เช่น ผลงานที่ถ่ายทอดผ่านสื่อภาพ สื่อเสียง สื่อการแสดง บทสัมภาษณ์หรือถ้อยคำที่ปรากฏตามแหล่งต่าง ๆ ฯลฯ ที่แวดล้อมบุคคลอยู่ด้วย
ในการศึกษาวิจัยด้านสื่อสารการแสดง นอกเหนือจากจะมองผลผลิตจากการสร้างสรรค์การแสดงในมิติที่เป็นรูปธรรม เช่น องค์ประกอบทางศิลปะที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็น ฉาก แสง สี เสียงและดนตรี เสื้อผ้าอาภรณ์ องค์ประกอบทางการแสดงของผู้แสดงทั้งความสามารถในการแสดงและการสื่อสารบทบาทของตัวละครแล้ว เป็นที่พบได้กว้างขวางว่าการศึกษาตัวบท (Text) ที่สื่อสารผ่านบทละครหรือบทสำหรับการแสดงถูกใช้เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญสำหรับการศึกษาวิจัยในวงวิชาการสื่อสารการแสดงเพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการส่งผ่านความหมายที่ถูกนำเสนอผ่านศาสตร์ด้านการละครหรือการแสดงที่ส่งผ่านจากผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นผู้เขียนบทหรือผู้กำกับ ในวงการศึกษาวิจัยว่าด้วยการแสดงหรือการศิลปะการละครก็มีผลงานการศึกษาวิเคราะห์ลักษณะนี้อยู่จำนวนมาก
หากพิจารณาถึงแนววิธีการศึกษาวิจัยด้วยการวิจัยเอกสารที่ถูกนำปรับมาใช้ในการศึกษาตัวบทการแสดงต่าง ๆ นั้น อาจมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลายอย่างกว้างขวาง เช่น เมื่อเราพิจารณาเอกสารนั้นในฐานะวรรณกรรมหรือใช้เกณฑ์การประเมินวิเคราะห์เชิงความงามหรือกลวิธีทางภาษาของบทนั้น ๆ การวิจัยเอกสารในลักษณะนี้อาจต้องอาศัยองค์ความรู้เชิงภาษาศาสตร์หรือวรรณกรรมวิเคราะห์ประกอบ เมื่อเราพิจารณาเอกสารนั้นในฐานะสารที่สื่อความหมายด้วยวิธีการนำเสนอเชิงละครหรือการแสดง เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาวิเคราะห์หรือประเมินเอกสารนั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในด้านสื่อ การสื่อความหมาย สารและการสร้างสรรค์สารเข้ามาประกอบ รวมทั้งหากบทหรือบทที่ใช้ในการแสดงประเภทต่าง ๆ มีโครงสร้างและไวยากรณ์ของการสื่อสารบทนั้น ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น บทสำหรับการแสดงละครเวที บทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์หรือกระทั่งบทสำหรับรายการแสดงลักษณะอื่น เช่น บทสำหรับการแสดงดนตรี หรือเกมส์โชว์ ผู้วิจัยที่จะวิจัยเอกสารลักษณะนี้ก็ควรต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดหรือทฤษฎีที่นอกเหนือจากแค่การพิจารณาตัวบทในแง่ภาษาหรือการสื่อความแต่เพียงลำพัง
รองศาสตราจารย์ถิรนันท์ อนวัชิศิริวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ที่ได้เปิดแนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียนิเทศศาสตร์ให้เป็นที่รู้จักในห้วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงแนวทางการศึกษาสื่อจินตคดี (imaginative media) หรือสื่อที่มุ่งเน้นคุณประโยชน์ด้านความเพลิดเพลินใจ ในบทความเรื่อง สุนทรียนิเทศศาสตร์:เอกภาคในทวิภาคแห่งองค์ความรู้การสื่อสาร
ในบทความนี้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาสื่อประเภทบันเทิงคดีมีแนวอยู่ 2 แนวทางกว้าง ๆ คือ แนวทางที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของสื่อต่อผู้รับสารกับแนวทางที่สนใจตัวผลผลิตในฐานะภาพสะท้อนความเป็นจริงของสังคม และมีแนวทางหนึ่งที่การใช้มุมมองทฤษฎีแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) เช่น ใช้หลักของสัญวิทยาเข้ามาวเคราะห์ระบบ การให้ความหมายหรือวิพากษ์ตัวบทซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาต่อไปสู่การวิเคราะห์วิพากษ์เชิงรื้อสร้าง (Deconstruction) ทำให้เห็นถึงความลื่นไหลของความหมายที่ตัวบทมี
จุดต่างอย่างหนึ่งที่อาจถือเป็นหัวใจสำคัญในการศึกษาด้านสื่อสารการแสดงที่รองศาสตราจารย์ถิรนันท์ได้ระบุไว้ก็คือสื่อจินตคดีนั้นมีคุณลักษณะรูปแบบเด่น ๆแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ จินตคดีที่มีเรื่องเล่าหรือโครงสร้างเชิงละครเป็นหลัก คือมี แก่นเรื่อง (Theme) โครงเรื่อง(Plot) ตัวละคร(Characters) ปฏิสัมพันธ์และบทสนทนาระหว่างตัวละคร (Interaction/Dialogue) สถานที่หรือฉาก(Setting) มุมมองในการเล่า (Point of view)และลีลาในการนำเสนอเรื่อง (Style and Tone) งานประเภทนี้ เช่น ละครประเภทต่าง ๆ ทั้งจารีตและร่วมสมัยหรือผ่านสื่อต่าง ๆ กับอีกประเภทคือจินตคดีที่มีโครงสร้างเชิงละครบางส่วน ดังนั้นจินตคดีเป็นคำความหมายกว้างที่ครอบคลุมถึงสื่อทุกชนิดที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่อผู้ส่งผู้รับ ในขณะที่สื่อจินตดคีประเภทสื่อสารการแสดงนั้นจำเป็นต้องมีองค์ประกอบด้านการแสดง (Performance/Acting) กำกับอยู่ด้วย สื่อสารการแสดงจึงมีความหมายเฉพาะตัวและพึ่งพาองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ที่สัมพันธ์หรือเข้ามาอำนวยการให้กับการแสดงประเภทนั้น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
ในบทความเรื่อง ลิเก:สุนทรียนิยมแห่งการแสดงไทยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ (สุกัญญา,2546) ได้กล่าวถึงการแสดงลิเกที่มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องยาวนานตลอดเวลาโดยผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์ดั้งเดิมกับการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยเพื่อเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้ชมและมีผลพลอยได้คือรายรับที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตคณะลิเก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา ใช้กลวิธีการศึกษาทั้งการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและมุมมองเชิงชาติพันธุ์วรรณาเพื่อเข้าไปอธิบายทั้งเบื้องหน้าฉากการแสดงและเบื้องหลังโรงลิเกในฐานะที่เป็นทั้งสื่อสารการแสดงเพราะเป็นสื่อที่สะท้อนบริบทสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในห้วงเวลานั้น ๆ ได้ รวมทั้งใช้การศึกษาวิจัยเอกสารเพื่อหาเส้นทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของการแสดงลิเก การวิเคราะห์บทหรือคำร้องคำกล่าวที่ใช้ในการเล่น ตั้งแต่ระดับความสวยงามของคำและเสียงประกอบคำต่าง ๆ เช่นดนตรีหรือเสียงร้องจนไปถึงการวิเคราะห์ในระดับสัญนิยมจากการวิเคราะห์องค์ประกอบและโครงเรื่องหรือวาทกรรมที่ปรากฏในการแสดงจากการตีความเนื้อเรื่องและสถาการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญ
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ ได้ศึกษาการแสดงงิ้วจีนที่ปรากฏเป็นมหรสพอยู่ในเมืองไทยในบทความชื่อ งิ้วจีนสัญชาติไทย สุนทรียรูปข้ามแผ่นดิน (ปรีดา,2546)ทั้งในเชิงของประวัติศาสตร์ บทบาทหน้าที่ รวมทั้งแบบแผนหรือรูปลักษณ์ของการแสดงที่ปรากฏจากประเทศจีนจนเดินทางข้ามมาถึงประเทศไทย ผศ.ดร.ปรีดาได้ใช้แนวการวิจัยเอกสารเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อศึกษาประวิติและพัฒนาการ วิเคราะห์ตัวบทสำหรับการแสดงงิ้ว ผลการศึกษาในบริบทไทยชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากการเป็นศิลปะการแสดงระดับราชสำนักใช้เพื่อแสดงความงดงามทางศิลปะในงานสมโภชหรืองานพระราชพิธีในครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อล่วงเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งปัจจุบันงิ้วลดทอนความเป็นอุปรากรชั้นสูงมาสู่การแสดงประกอบพิธีกรรมตามศาลเจ้าหรืองานเชิงพิธีต่าง ๆ ของประชาชนทั่วไป แต่หน้าที่ในเชิงการกล่อมเกลาสั่งสอนคุณธรรมตามแนวคิดแบบจีนก็ยังแฝงอยู่ในเนื้อหาอย่างต่อเนื่องและรอคอยให้มีการพัฒนาปรับปรุงสร้างสรรค์อยู่ต่อไป
การวิจัยด้วยวิธีการวิเคราะห์เอกสารที่ปรากฏในบทความของอาจารย์ ดร.จิรยุทธุ์ สินธุพันธุ์ เรื่อง ชีวทัศน์และจินตทัศน์ในภาพยนตร์ของสัตยาจิต เรย์ (จิรยุทธ์,2546) นำเสนอรูปแบบการศึกษางานสื่อจินตคดีโดยใช้บุคคลเป็นจุดตั้งต้นในการศึกษาแล้วเชื่อมโยงไปถึงการพิจารณาตัวบทที่แวดล้อมบุคคลนั้น ทั้งจากการวิเคราะห์งานเขียน เรื่องสั้น หรือภาพยนตร์ที่สัตยาจิตได้สร้างขึ้น หรือกระทั่งการศึกษาจากภาพยนตร์บันทึกการสัมภาษณ์ที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นเดียวที่บันทึกแล้วปรากฏอยู่ให้ศึกษาได้ เพื่อจะนำมาสู่การหาแก่นแนวคิดหลักและประเมินหรือให้คุณค่ากับผลผลิตและตัวบุคคลนั้นเพื่อที่จะได้เป็นองค์ความรู้ต้นแบบซึ่งจากบทความนี้ อาจารย์ ดร.จิรยุทธ์ พยายามชี้ให้เห็นว่า สื่อภาพยนตร์หรือผลงานทางศิลปะที่มีกลวิธีหรือความรู้ในการสร้างสรรค์มาจากตะวันตกเมื่อเดินทางมาถึงมือของสัตยาจิต ในฐานะที่เป็นคนอินเดียแล้วก็สามารถสื่อสารให้มุมมองที่แฝงไปด้วยรากเหง้าแห่งอารยธรรมเบงกอลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้
จะเห็นได้ว่าการนำแนววิธีการศึกษาแบบการวิจัยเอกสารมาใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาข้อสงสัยหรือเพื่ออธิบายและสร้างองค์ความรู้ทางด้านสุนทรียนิเทศศาตร์ทั้งที่เป็นสื่อจินตคดีและสื่อสารการแสดงนั้นช่วยเติมเต็มความครบถ้วนสมบูรณ์ให้กับประเด็นต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือที่สามารถชี้นำให้งานศึกษาวิจัยนั้น ๆ เกิดความน่าเชื่อในถือฐานะที่เป็นกระบวนการเชิงการวิจัยคุณภาพได้ เพราะลำพังแต่การชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะหรือองค์ประกอบของตัวสารหรือสื่อแต่เพียงลำพังนั้นก็อาจจะทำให้ขาดมิติที่เชื่อมโยงการสื่อความหมายระหว่างผู้ผลิตสาร ตัวสื่อและช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารรวมทั้งมุมมองของบริบทแวดล้อม ที่มาและการประเมินหรือให้คุณค่าต่อการสื่อสารครั้งนั้นไปได้
รายการอ้างอิง
- จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์. (2546). ชีวทัศน์และจินตทัศน์ในภาพยนตร์ของสัตยาจิต เรย์. สุนทรียนิเทศศาสตร์ การศึกษาสื่อสารการแสดงและสื่อจินตคดี. กรุงเทพ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
- ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์. (2546). สุนทรียนิเทศศาสตร์: เอกภาคในทวิภาคแห่งองค์ความรู้การสื่อสาร. สุนทรียนิเทศศาสตร์ การศึกษาสื่อสารการแสดงและสื่อจินตคดี. กรุงเทพ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
- ปรีดา อัครจันทโชติ. (2546). งิ้วจีนสัญชาติไทย สุนทรียรูปข้ามแผ่นดิน. สุนทรียนิเทศศาสตร์ การศึกษาสื่อสารการแสดงและสื่อจินตคดี. กรุงเทพ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
- สุกัญญา สมไพบูลย์. (2546). ลิเก: สุนทรียนิยมแห่งการแสดงไทย. สุนทรียนิเทศศาสตร์ การศึกษาสื่อสารการแสดงและสื่อจินตคดี. กรุงเทพ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
Header Image: A Photograph by Intographics in Pixabay