parallax background

โพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์กับการสื่อสารในศตวรรษที่ 21

โพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์กับการสื่อสารในศตวรรษที่ 21

ปรีดา อัครจันทโชติ


หากว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหมุดหมายสำคัญของการก่อเกิดกระแสปรัชญา “โพสต์โมเดิร์นนิสม์” (Postmodernism) ซึ่งอาจเรียกขานว่า “หลังสมัยใหม่นิยม” หรือ “นวยุคนิยม” ก็ตามที การเกิดขึ้นและแพร่หลายของวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ก็เป็นเหตุสำคัญหนึ่งของปรัชญา “โพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์” (Post-postmodernism) หรือ “หลัง-หลังสมัยใหม่นิยม”

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าโพสต์โมเดิร์นนิสม์นั้น “ล้าสมัยไปเสียแล้ว” (Potter and Lopez, 2001: 4) โดยนักวิชาการเหล่านี้เชื่อว่ารอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 20 กับ 21 นั้นเป็นช่วงเวลาของการก้าวเข้าสู่โลกยุคโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์ หรือบ้างก็เรียกว่าเป็น “โพสต์โมเดิร์นนิสม์ 2.0”

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจากโพสต์โมเดิร์นนิสม์มาสู่โพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์นั้นมิได้เป็นการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือมิได้เป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงประเภท (kind) แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงระดับความรุนแรง (intensity) (Nealon, 2012) และมิได้หมายความว่าโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างของโพสต์โมเดิร์นนิสม์ ในทำนองเดียวกับที่โพสต์โมเดิร์นนิสม์ก็มิได้ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างของโมเดิร์นนิสม์

ในศตวรรษที่แล้ว มนุษย์อาจสร้างนวัตกรรมด้านการคมนาคมอย่างเช่นเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง จนถึงยานอวกาศ สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ทำให้มนุษย์เดินทางในโลกกายภาพได้อย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตในช่วงปลายศตวรรษที่แล้วต่อเนื่องจนมาถึงต้นศตวรรษนี้ กลับทำให้มนุษย์เดินทางในโลกไซเบอร์ได้รวดเร็วกว่ามาก ทั้งยังสามารถขนถ่ายข้อมูลได้แบบไม่จำกัด มนุษย์สามารถท่องเที่ยว หาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนสังสรรค์กับผู้คนในดินแดนอื่นได้ทั้งที่ยังนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน การปฏิวัติดิจิทัลทำให้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่มนุษย์ในยุคนี้ขาดไม่ได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้การเคลื่อนตัวจากโพสต์โมเดิร์นมาสู่โพสต์-โพสต์โมเดิร์นมีลักษณะดังนี้

  1. โลกยุคโพสต์โมเดิร์นนิสม์เน้นการตั้งคำถามถึงเรื่องอำนาจ ดังเช่นที่ปรากฏในงานของมิเชล โก้ (Michel Foucault) ในขณะที่โลกโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์เน้นการสร้างความร่วมมือ การสร้างความผูกพันร่วม (engagement) และพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังที่อีริค กันส์ (Eric Gans) บอกว่ายุคโพสต์โมเดิร์นนั้นเป็น “การคิดแบบเหยื่อ” (victim thinking) ซึ่งถูกกระทำจากอำนาจ ขณะที่โพสต์-โพสต์โมเดิร์น หรือที่เขาเรียกว่าโพสต์มิลเลนเนียม นั้นเป็น “การสนทนาแบบไม่ใช่เหยื่อ” (non-victimary dialogue) หรือการก้าวพ้นไปจากความคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อของอำนาจ (Gans, 2011) การใช้ชีวิตในยุคนี้เน้นการเข้าไปมีส่วนร่วม พัวพัน แลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อใหม่กลายเป็นสิ่งสำคัญทำให้คนติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น จึงกลายเป็นช่องทางที่ส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคล ผู้บริโภค กลุ่ม องค์กร เข้าไปสร้างความผูกพันระหว่างกัน
  2. ด้วยเหตุที่ช่วงเวลาปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษที่ 21 ศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ได้ก้าวข้ามออกจากอาณาเขตของตนเองไปปะทะสังสรรค์กับศาสตร์อื่นๆ ดังนั้น มิคาอิล เอ็ปสไตน์ จึงกล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการข้ามพ้น (Trans-ism)  (Epstein, Genis, and Vladiv-Glover, 1999) โลกยุคโพสต์โมเดิร์นเชื่อในเรื่องความหลากหลาย ไม่มีสิ่งใดที่เรียกว่า “ดีที่สุด” และเริ่มพูดถึงเรื่องการผสมผสาน แต่โดยนัยแล้วมักหมายถึงการผสมกันระหว่างของสองอย่าง หรือเอาคุณลักษณบางอย่างของสิ่งหนึ่งมาผสมอยู่ในสิ่งของหลักอีกอย่างหนึ่ง (เช่น นำเอาวิธีการทำงานแบบคนญี่ปุ่นมาปรับใช้กับคนไทย นำเอาองค์ประกอบหรือเทคนิคการเล่าเรื่องแบบหนังฮ่องกงมาใช้ในหนังไทย) ขณะที่โลกโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนั้นถือว่าการ “ผสม” กันนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการผสมกันระหว่างของสองชนิดเท่านั้น แต่สามารถ “ก้าวข้าม” ออกจากปริมณฑลเดิมของตนเองไปปะทะสังสรรค์กับสิ่งที่อยู่ในปริมณฑลอื่นๆ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมา   ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง “การข้ามพ้นท้องถิ่น” (translocal) “การข้ามพ้นวัฒนธรรม” (transculturalism) หรือ “การข้ามพ้นสื่อ” (transmedia) ก็ล้วนอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งความคิดนี้ (นอกจากนี้นักปรัชญาอย่าง เอนริก ดุสเซล – Enrique Dussel ยังเรียกแนวคิดของเขาที่วิพากษ์ปรัชญาโพสต์โมเดิร์นนิสม์ว่า transmodernism)
  3. โลกยุคโพสต์โมเดิร์นปฏิเสธความเชื่อในเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่ (grand narrative) ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือของวิทยาศาสตร์ ความเชื่อมั่นต่อเสรีภาพโดยสัมบูรณ์ ฯลฯ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าเล็กๆ (micronarratives)  ของท้องถิ่นอันหลากหลาย ขณะที่โลกโพสต์-โพสต์โมเดิร์นหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าที่สื่อสารกับสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่ออย่างเช่น “เราทำได้” “เปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” การรณรงค์ที่นักการเมืองจะใช้หาเสียงกับประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสรรค์อย่างประณีตและใคร่ครวญถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ฟังอย่างรอบคอบ นอกจากนี้อัตลักษณ์กับประสบการณ์จริงของปัจเจกบุคคลอาจไม่สำคัญเท่าเรื่องเล่าที่เขาแสดงต่อสาธารณะ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ “ดราม่าแสงเหนือ” ที่เป็นข่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นต้น
  4. โลกเสมือนจะทวีความสำคัญ แม้ว่าในปัจจุบันนี้ โลกเสมือนจะยังไม่อาจแทนที่หรือท้าทายโลกกายภาพได้เช่นจินตนาการที่ปรากฏในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หลายๆ เรื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านับวันมนุษย์ยิ่งมีแนวโน้มจะใช้ชีวิตในโลกเสมือนมากขึ้นกว่าในอดีต ในทางตรงข้าม ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อคนรอบข้างในโลกกายภาพก็เปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและรูปแบบ นอกจากนี้มนุษย์ยังอาจใช้โลกเสมือนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการสื่อสารกับคนรอบข้างในโลกกายภาพ

นอกเหนือจากคำว่า “โพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์” แล้ว ยังมีถ้อยคำอื่นที่ใช้เรียกถึงแนวคิดในช่วงยุคสหัสวรรษใหม่ ไม่ว่าจะเป็น meta-modernism, pseudo-modernism, digimodernism, automodernism, altermodernism, hypermodernity เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือแนวคิดเหล่านี้ล้วนมีวัฒนธรรมดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น โดยภาพรวมแล้ว แนวคิดข้างต้นเหล่านี้นี้มีลักษณะกว้างๆ คือ แสดงถึงการเคารพในธรรมชาติ วัฒนธรรม ทั้งของตนเองและผู้อื่น เป็นการแสวงหาการเติมเต็มทั้งในเชิงกายภาพ อารมณ์ และจิตวิญญาณ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ได้จัดโครงสร้างใหม่ให้กับธรรมชาติของผู้เขียน ผู้อ่านและตัวบท รวมถึงความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้

แนวคิดเหล่านี้เชื่อว่าสังคมปัจจุบันเป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นโดยอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์แบบอินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เราสามารถ คลิก กดปุ่ม โทร เลือก ดาวน์โหลด ท่องโลกได้   (Kirby, 2006) โลกยุคโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์เป็นโลกของเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้สื่อ (User-generated content) ทำให้ปัจเจกบุคคลเกิดความรู้สึกของการได้ควบคุม จัดการ สร้างความเกี่ยวโยงเข้ากับสิ่งต่างๆ ตัวบทที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตจำนวนมากไม่ได้มีความเป็น “ประพันธกร” (authorship) เหมือนอย่างงานวรรณกรรม คนส่วนใหญ่นั้นต้องการให้ปัจเจกบุคคลจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เพจเหล่านั้นใช้งานได้ รวมถึงสามารถเพิ่มเติมแก้ไขข้อมูลได้ อย่างเช่นเว็บไซต์โอเพ่นสตรีตแม็ป (OpenStreetMap / OSM) และวิกิพีเดีย เป็นต้น

ในหนังสือชื่อ Digimodernism: How New Technologies Dismantle the Postmodern and Recogfigure Our Culture และบทความ Successor state to an empire in free fall เอกสารทั้งสองชิ้นนี้เขียนโดย อลัน เคอร์บี้ (Alan Kirby) เขากล่าวว่าช่วงปลายทศวรรษ 90 จนถึงต้นสหัสวรรษใหม่ เทคโนโลยีใหม่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียน ตัวบท และผู้อ่านไปอย่างถาวร สื่อใหม่ทำให้ผู้ชมผู้รับสารมีความสามารถที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการเปลี่ยนเนื้อหาตัวบท รวมถึงการลดบทบาทตามขนบของผู้เขียนเดี่ยว (single author) ตัวบทกลายเป็นสิ่งที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนจำนวนมากที่ไม่เปิดเผยตัว ผู้อ่านกลายเป็นผู้เขียน ตัวบทมีอายุสั้นหรือไม่เสถียร เนื่องจากผู้ใช้มีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเนื้อหา นอกจากนี้เคอร์บี้ยังเห็นว่าสถานะทางอารมณ์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวบท (Kirby, 2009; Kirby, 2010) จะเห็นได้จากบางประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจนเกิดการเรียกกันว่า “กระทู้ดราม่า” ซึ่งเนื้อหาและอารมณ์ในความคิดเห็นของผู้อ่านกลายเป็นกระแสและส่วนหนึ่งของตัวบท

วรรณกรรมที่เป็นตัวแทนของยุคนี้เน้นที่การบูรณาการระหว่างเหตุผลกับการรับความรู้สึก เช่นเรื่อง The God of Small Thing (1997) ของ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) นักเขียนสตรีชาวอินเดีย (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ “เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ” แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก) นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงฝาแฝดชายหญิงชื่อราเฮลกับเอสธา ที่มีจิตใจเชื่อมต่อกัน นวนิยายเรื่องนี้ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมุมมองการเล่าเรื่องแบบสัพพัญญูสลับกับการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครราเฮล โดยตลอดทั้งเรื่องนำเสนอการมองโลกแบบเด็ก นอกจากนี้ยังใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบตัดสลับช่วงเวลาไปมาแบบที่วรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นนิยมใช้

ตัวอย่างที่สำคัญอีกเรื่องคือ White Teeth (2000) โดย ซาดี้ สมิธ (Zadie Smith) นักเขียนชาวอังกฤษ เนื้อหาสะท้อนความเป็นโพสต์-โพสต์โมเดิร์น โดยกล่าวถึงกลุ่มตัวละครที่มีพื้นหลังแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น แอฟโร่-แคริบเบียน ยิว และมุสลิม พวกเขามีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนผ่านช่วงเวลาอันยาวนาน ครอบคลุมเวลาเกือบ 150 ปีของประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคม วรรณกรรมเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าเรื่องจากมุมมองที่หลากหลายเช่นเดียวกัน

สินค้าทางวัฒนธรรมรวมถึงสื่อมวลชนแบบโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนั้น การเข้าแทรกแซงของปัจเจกบุคคลถือว่ามีความสำคัญมาก สำหรับนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน เมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเรื่องนี้จบ และสำนักพิมพ์ได้พิมพ์เป็นเล่มออกสู่ท้องตลาด การกำหนดเนื้อหาก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ เช่นเดียวกับ ละคร บ้านทรายทอง ที่อำนาจในการกำหนดเนื้อหาอยู่ที่ผู้ประพันธ์ สถานีโทรทัศน์ และฝ่ายผลิต (หรืออาจรวมถึงสปอนเซอร์) ผู้อ่านและผู้ชมมีสิทธิ์แค่ตีความเท่านั้น สำหรับกรณีละครโทรทัศน์อาจแย้งได้ว่าการเลือกนักแสดงนั้นส่วนหนี่งเป็นผลมาจากความนิยมของดาราในกลุ่มผู้ชม จึงถือว่าอำนาจในการกำหนดความหมายอยู่ในมือผู้ชมระดับหนึ่ง แต่ “การมีส่วนร่วม” ของผู้ชมในลักษณะนี้ก็เทียบกันไม่ได้เลยกับรายการเรียลลิตี้อย่างเช่นรายการ The Star หรือ Academy Fantasia ที่ผู้ชมมีสิทธิ์มากกว่าแค่ตีความ ตัวบทแบบโพสต์-โพสต์โมเดิร์นเกิดขึ้นจากการโหวตทางโทรศัพท์ให้ผู้เข้าแข่งขัน หรือในกรณีละคร สงครามนางงาม ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง One ในปี 2558 ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประกวดนางงามเรื่องนี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโหวตเพื่อเลือกว่าตัวละครใดสมควรชนะเลิศการประกวดนางงามในตอนจบ การโหวตนี้เป็นส่วนสำคัญของตัวบทของรายการ เท่ากับว่าผู้ชมนั้นได้สร้างสรรค์รายการด้วยตัวของพวกเขาเอง

นอกจากรายการจำพวกเรียลิตี้โชว์หรือการแข่งขันที่ให้ผู้ชมลงคะแนนแล้ว ตัวบทในยุคโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ชม ยังรวมถึงรายการควิซโชว์ที่ให้ผู้ชมโทรศัพท์เข้ามาทายคำตอบ รวมถึงรายการวิทยุอย่างเช่น Club Friday ที่เรื่องเล่าของผู้ฟังจัดเป็นต้วบทที่สำคัญของรายการ  ผู้ชมนั้นมีอำนาจและมีความสำคัญของตนเองในการเป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหา เพราะว่าการโทรศัพท์เข้ามาโหวตหรือตอบคำถาม หรือโทรมาเล่าประสบการณ์ของตนเองก็ดี ต่างเป็นส่วนหนึ่งของตัวบท และที่สำคัญก็คือรายการเหล่านี้ไม่สามารถผลิตซ้ำให้เหมือนเดิมได้

สรุป

อันที่จริงแล้วใช่ว่านักวิชาการทั้งหมดจะยอมรับการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์ ในลักษณะเดียวกับที่บางส่วนก็มิได้ยอมรับการมีอยู่ของโพสต์โมเดิร์นนิสม์มาแต่ไหนแต่ไร บ้างก็ว่า “หลัง-หลังสมัยใหม่” นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “หลังสมัยใหม่” เช่นเดียวกับที่บางคนเชื่อว่า “หลังสมัยใหม่” ก็เป็นเพียงแค่ส่วนต่อขยายของ “สมัยใหม่” นั่นเอง มิพักจะต้องกล่าวถึงความไม่เห็นพ้องกันในเรื่องนิยามหรือคุณลักษณะของโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนิสม์

แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธมิได้ก็คือ แม้ว่าลักษณะสำคัญบางประการของโลกในอดีตจะยังคงดำรงอยู่หรือไม่ แต่ปรัชญาแนวคิด สภาพสังคม ลักษณะทางศิลปวัฒนธรรม สื่อมวลชน และพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ในยุคปัจจุบันล้วนมีความเปลี่ยนแปลงจากในยุคศตวรรษที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ

ไม่ว่าเราจะเรียกแนวคิดหรือโลกที่ว่านี้ว่าอะไรก็ตามที

รายการอ้างอิง

  • Epstein, M., Genis, A., and Vladiv-Glover, S. (1999). Russian Postmodernism: New Perspective on Post-Soviet Culture. New York: Berghahn Books.
  • Gans, Eric (June 3, 2000). The Post-Millennial Age. Anthropoetics. Retrieved Dec 17, 2016. https://www.anthropoetics.ucla.edu/views/vw230/
  • Kirby, Alan.  (2006). The Death of Postmodernism And Beyond. Philosophy Now (November–December 2006). Retrieved June 17, 2011
  • Kirby, Alan.  (2009). Digimodernism: How New Technologies Dismantle the Postmodern and Reconfigure our Culture.  New York: Continuum.
  • Kirby, Alan. (2010).  Successor state to an empire in free fall. Retrieved Jan 16, 2016. https://www.timeshighereducation.com/features/successor-states-to-an-empire-in-free-fall/411731.article
  • Nealon, Jeffrey T. (2012). Post-postmodernism, or the Cultural Logic of Just-in-time Capitalism. California: Stanford University Press.
  • Potter, Garry and Lopez, Jose. (eds.) (2001).: After Postmodernism: An Introduction to Critical Realism. London: The Athlone Press.
Preeda Akarachantachote
Preeda Akarachantachote
รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ - คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง นักวิชาการนิเทศศาสตร์ผู้สนใจปรากฏการณ์การสื่อสารโดยใช้กรอบแนวคิดวัฒนธรรมศึกษา อีกทั้งยังสนใจสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน และสื่ออันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมจีน นอกจากบทบาทการเป็นนักวิชาการแล้วยังเป็นนักสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็กและเยาวชน มีผลงานเขียนและแปลวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงเขียนบทแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์