parallax background

อัตลักษณ์กับความหมายภายใต้หน้ากาก: ควันหลงจากรายการ The Mask Singer

อัตลักษณ์กับความหมายภายใต้หน้ากาก: ควันหลงจากรายการ The Mask Singer

ปรีดา อัครจันทโชติ


แม้ว่ารายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ซีซั่นที่ 2 จะปิดฉากลงพร้อมกับชัยชนะของหน้ากากซูโม่แล้ว แต่ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับหน้ากากบางประเด็นชวนให้ขบคิด

หน้ากากนั้นโดยทั่วไปแล้วมีหน้าที่สำหรับการป้องกันตัว หลอกลวง สร้างความบันเทิง หรือไม่ก็ใช้ประกอบพิธีกรรม หลักฐานที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีการใช้หน้ากากมาไม่ต่ำกว่า 9,000 ปีแล้ว

หน้ากากในยุคแรกเริ่มถูกนำมาใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม แต่ละภูมิภาคแต่ละวัฒนธรรมต่างใช้หน้ากากแตกต่างกันไป ในอียิปต์โบราณใช้หน้ากากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำมัมมี่ ในแอฟริกาใช้หน้ากากเพื่อเป็นตัวแทนวิญญาณของสัตว์หรือบรรพบุรุษ ในประเทศจีนมีตำนานเล่าว่าหลานหลิงอ๋องมีใบหน้างดงามราวอิสตรี จนต้องสวมหน้ากากลงสู่สมรภูมิรบเพื่อสร้างความน่าเกรงขามต่อหน้าศัตรู

ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากเพื่อวัตถุประสงค์ใดหรือในบริบทใด ขึ้นชื่อว่า “หน้ากาก” แล้ว ความสำคัญย่อมมีอยู่ 2 อย่าง นั่นคือความสำคัญขณะใส่กับขณะถอด

อันที่จริงแล้ว “การใส่หน้ากาก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวัฒนธรรมบันเทิง หลายๆ วัฒนธรรมมีการแสดงประเภทสวมหน้ากากหรือการอำพรางใบหน้านักแสดงด้วยวิธีอื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโขน งิ้ว โนะ ฯลฯ

แม้ “การถอดหน้ากาก” เองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน หากเราสนใจเฉพาะตัวตนของบุคคลขณะสวมหน้ากาก ภายใต้หน้ากากของเขาจะเป็นใครก็ไม่ใช่เรื่องที่เราใคร่รู้ เช่น ขณะชมโขน เรารับรู้ว่าผู้สวมหัวโขน (หรือหน้ากาก) ลิงเผือกนั้นคือหนุมาน มากกว่าจะสนใจว่าผู้แสดงคือใคร

ขณะที่การรับรู้อีกแบบนั้นตรงกันข้าม แม้เราจะรับรู้ตัวตนของมนุษย์หน้ากาก แต่เราก็ตระหนักว่ายังมีอีกหนึ่งตัวตนซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากาก ตัวตนที่ว่านี้อาจแตกต่างสุดขั้ว หรือเหลื่อมซ้อนกับตัวตนบนหน้ากาก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็รู้ว่ามี “คนอีกคนหนึ่ง” อยู่ภายใต้หน้ากาก และเราก็อยากรู้จักตัวตนนั้น

แน่นอนว่าไคลแม็กซ์ของรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ในแต่ละเทปนั้นย่อมอยู่ที่ช่วงถอดหน้ากาก อารมณ์และความตื่นเต้นของคนดูจะพุ่งถึงขีดสุดก็ต่อเมื่อใบหน้าที่เปิดเผยนั้น ไม่ใช่ใบหน้าที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็น (โปรดสังเกตอากัปกิริยาของเหล่ากรรมการในเทปที่ไม่มีใครทายถูกเป็นตัวอย่างประกอบ) แต่ตรงกันข้าม เมื่อเราในฐานะคนดู “เดาถูก” ความตื่นเต้นย่อมไม่เท่ากับกรณีแรก

การถอดหน้ากากจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราสนใจอยากรู้ตัวตนภายใต้หน้ากาก สำหรับมวยปล้ำ (ไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นกีฬาหรือการแสดงก็ตาม) ให้ความหมายกับการถอดหน้ากากมาเนิ่นนาน โดยปกติแล้วการถอดหน้ากากคู่ต่อสู้ที่สวมหน้ากากถือเป็นเรื่องต้องห้าม ยกเว้นการแข่งขันบางนัดที่มีเดิมพันว่าผู้แพ้จะต้องถูกถอดหน้ากาก การถอดหน้ากากจึงหมายถึงทั้งความพ่ายแพ้และการเปิดเผยความลับ (ซึ่งรายการ The Mask Singer ก็รับเอาความหมายแบบนี้มา) แต่นอกจากนี้แล้ว การถอดหน้ากากยังมีความหมายถึงการแสดงอำนาจของผู้พิชิตที่สามารถทำลายศักดิ์ศรีของผู้แพ้ ส่วนผู้แพ้ก็ต้องรับความอัปยศทั้งจากความพ่ายแพ้ การถูกเปิดเผยความลับ และถูกย่ำยีศักดิ์ศรีไปพร้อมกัน

ในปีที่แล้ว (2559) เกิดคดีความเกี่ยวกับ “หน้ากาก” ของนักมวยปล้ำที่เม็กซิโก เมื่อนักมวยปล้ำอาชีพคนหนึ่งที่ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า เอล ฮิโจ เดล ซานโต (El Hijo del Santo) เป็นคดีดวามฟ้องร้องเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจกับองค์กรทริปเปิ้ลเอ (AAA) ซึ่งเป็นสถาบันมวยปล้ำแห่งหนึ่งในเม็กซิโก ทนายความของทริปเปิ้ลเออ้างว่า การฟ้องร้องและเอกสารหลักฐานการฟ้องร้องควรจะต้องกระทำโดยปัจเจกบุคคลตามกฎหมาย ไม่ใช่กระทำโดยอัตลักษณ์ของนักมวยปล้ำสวมหน้ากาก นั่นหมายความว่า เดล ซานโต ถูกบีบให้ต้องถอดหน้ากากและเปิดเผยตัวตนภายใต้หน้ากากต่อหน้าสาธารณชนในศาล แต่ที่สุดแล้วศาลก็ตัดสินว่าเขาไม่ต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากศาลเห็นว่าอาชีพนักมวยปล้ำสวมหน้ากากของเขานั้นจำเป็นต้องได้รับการปิดบังตัวตน (The Telegraph, 2016)

นอกจากมวยปล้ำแล้ว การ์ตูนมวยปล้ำก็ยังรับความหมายของการถอดหน้ากากมา ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากเสือ คินนิคุแมน การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังในยุคทศวรรษ 1970-1980 นักมวยปล้ำสวมหน้ากากทุกคนล้วนยึดถือหน้ากากของตนเป็นเหมือน “ศักดิ์ศรีที่ไม่อาจถูกทำลายได้” การถูกถอดหน้ากากจึงมีความหมายมากกว่าแค่ความพ่ายแพ้ และดูเหมือนว่าการปกป้องหน้ากากยังสำคัญกว่าการปกป้องชีวิตของตนเอง

หากพ่ายแพ้ก็อาจแก้มือใหม่ได้ในโอกาสข้างหน้า แต่การถูกเปิดเผยใบหน้าภายใต้หน้ากากย่อมไม่เปิดโอกาสให้เจ้าของหน้ากากแก้ตัวอีกครั้ง….

ทีนี้ลองมาดูพวก “มนุษย์หน้ากาก” อย่างซุเปอร์ฮีโร่กันบ้าง….

มนุษย์จอมพลังจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะปกปิดตัวตนด้วยการสวมหน้ากากขณะปฏิบัติภารกิจ

แบทแมน สไปเดอร์แมน วันเดอร์วูแมน ฯลฯ พวกเขาและเธอต่างปกปิดไม่ให้ผู้คนรู้ว่าอัตลักษณ์ภายใต้หน้ากากนั้นเป็นอย่างไร

สำหรับซูเปอร์แมน แม้จะไม่สวมหน้ากาก แต่การถอดแว่นตาแล้วแต่งชุดประหลาดๆ ก็ให้ผลเดียวกับการสวมหน้ากากอยู่นั่นเอง (หรืออันที่จริงแล้วร่างคลาร์ก เคนท์ น่าจะเป็นร่างสวมหน้ากากมากกว่า?)

หน้ากากของพวกเขาบางคนอาจเป็นแหล่งที่มาของพลังพิเศษ แต่ที่แน่นอนก็คือ ฉับพลันที่พวกเขาเลือกที่จะสวมหน้ากากออกปฏิบัติภารกิจ ก็เท่ากับพวกเขาได้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ขึ้น พร้อมๆ กับปกปิดอัตลักษณ์เดิมของตน

คำถามก็คือ สิ่งที่พวกเขาปกปิดคืออะไร ตัวตนที่แท้ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ข้อเท็จจริง หรือความลับ?

การสวมหน้ากาก คือกระบวนการที่ปัจเจกบุคคลใช้ “หน้ากาก” ในการปกปิดบุคลิกตามธรรมชาติของตนเอง (เพราะถ้าเหมือนกันทุกอย่างก็คงไม่รู้จะต้องสวมหน้ากากไปทำไม) เพื่อให้อยู่ได้ท่ามกลางการเผชิญกับการข่มเหงคุกคาม ความกดดัน หรือปัญหาความขัดแย้งบางอย่างจากคนรอบข้างหรือสังคม

บางครั้งคนเราต้องสร้างอัตลักษณ์แบบสวมหน้ากาก (masked identity) ขึ้นเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้ หรือไม่ก็ปลอมอัตลักษณ์ที่พึงปรารถนาของสังคมเพื่อสร้างการยอมรับ เราพบอัตลักษณ์แบบนี้ได้มากในโลกอินเทอร์เน็ต โดยการปลอมประวัติและสถานะในสื่อสังคมที่แสดงต่อสาธารณะ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่เราสามารถสร้างอัตลักษณ์ และสื่อสารอัตลักษณ์ดังกล่าวไปยังผู้คนจำนวนมากได้โดยไม่ต้องเห็นหน้าค่าตากัน โดยเหตุที่ “หน้าตา” เป็นองค์ประกอบสำคัญของอัตลักษณ์ การไม่เห็นหน้าตาจึงหมายถึงไม่เห็นอัตลักษณ์บางส่วน

การสวมหน้ากากคือการสร้างอัตมโนทัศน์ (self-concept) ในอุดมคติทั้งในเชิงส่วนตัว (เราอยากเห็นตัวเราเป็นอย่างไร) และในเชิงสังคม (เราอยากให้คนอื่นเห็นตัวเราเป็นอย่างไร) ผู้สวมหน้ากากอาจรู้สึกปลอดโปร่ง เนื่องจากการสวมหน้ากากช่วยให้เขาสลัดหลุดจากอัตมโนทัศน์ในเชิงสังคมที่เป็นจริง (เราคิดว่าคนอื่นคิดว่าตัวเราเป็นอย่างไร) เราเห็นมโนทัศน์แบบนี้จากนักร้องหลายคนในรายการ The Mask Singer ที่เปิดเผยภายหลังถอดหน้ากากว่า แนวเพลงที่ร้องในการแข่งขันเป็นแนวเพลงที่อยากร้อง แต่ไม่ใช่แนวเพลงที่ผู้ฟังของตนเองอยากฟัง การสวมหน้ากากจึงเป็นการสลัดหลุดจากอัตลักษณ์ของตน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อแฟนเพลงที่คาดหวังว่าตนเองควรจะร้องเพลงแบบไหน รวมถึงสลัดหลุดจากการประทับตราว่าตนเองเป็นนักร้องจำพวกไหน ไม่ว่าจะเป็น “นักร้องขายหน้าตา” “สายแดนซ์” ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จะเกิดอะไรขึ้นหากว่าหน้ากากนั้นถูกสวมบ่อยและยาวนานจนเจ้าตัวลืมใบหน้าที่แท้จริงของตนไป หรือไม่อาจแสดงใบหน้าที่แท้จริงได้ด้วยเหตุผลบางประการ หากเป็นเช่นนี้ผู้สวมหน้ากากย่อมต้องเผชิญกับความขัดแย้งในจิตใจ เกิดเป็นการต่อสู้กันระหว่างอัตลักษณ์ 2 แบบ ดังเช่นที่เกิดกับตัวละครเซินเต๋อในเรื่อง คนดีแห่งเสฉวน (A Good Person of Setzuan) โดย แบร์โทลต์ เบรคชท์ (Bertolt Brecht) นักเขียนบทละครชาวเยอรมัน เซินเต๋อนั้นถูกคนรอบข้างเอารัดเอาเปรียบด้วยความที่เธอเป็นคนดี เธอจึงต้อง “สวมหน้ากาก” เป็นซุ่ยทาซึ่งมีบุคลิกตรงข้ามกับเซินเต๋อ เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนก็เห็นเซินเต๋อน้อยลง ขณะที่ซุ่ยทาปรากฏตัวมากขึ้นทุกที…

สำหรับบางสถานการณ์ การใส่หรือถอดหน้ากากจึงไม่สำคัญเท่ากับเจ้าตัวรู้หรือไม่ว่าตนเองกำลังสวมหน้ากากอยู่

เหล่ามนุษย์จอมพลังสวมหน้ากากต้องถูกคาดหวังจากสังคมทั้งในแง่การแบกรับภาระหน้าที่ และถูกตามล่าเพื่อเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริง เช่นเดียวกับเหล่าหน้ากากในรายการ The Mask Singer เมื่อผู้แข่งขันเข้ารอบลึกๆ ไปย่อมถูกคาดหวังว่าจะร้องเพลงที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็ถูกตามล่าจากกรรมการและคนดูทางบ้าน ในการสืบหาตัวตนใต้หน้ากาก

สำหรับรายการ The Mask Singer การถูกถอดหน้ากากอาจหมายถึงความพ่ายแพ้ ขณะเดียวกันการถูกถอดหน้ากาก (ความจริงน่าจะเรียกว่า “ได้ถอดหน้ากาก” มากกว่า) ก็อาจหมายถึงการปลดเปลื้องจากภาระ ความกดดันที่โถมทับด้วยเช่นกัน เราจึงเห็นสีหน้าโล่งใจจากเหล่านักร้องหลังจากถอดหน้ากาก

ขณะที่เหล่าซุเปอร์ฮีโร่ซึ่งไม่เคยถูกถอดหน้ากาก ก็ต้องรับภาระปกป้องโลกกันต่อไป

รายการอ้างอิง

The Telegraph.  (2016). Mexican wrestler wins battle to protect masked identity. Retrieved Sep 1, 2017 from https://www.telegraph.co.uk/news/2016/04/22/mexican-wrestler-wins-battle-to-protect-masked-identity/

Featured Image: An Image captured from The Mask Singer 2 EP.20 on YouTube
Header Image: An Image captured from The Mask Singer 2 EP.20 on YouTube

Preeda Akarachantachote
Preeda Akarachantachote
รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ - คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง นักวิชาการนิเทศศาสตร์ผู้สนใจปรากฏการณ์การสื่อสารโดยใช้กรอบแนวคิดวัฒนธรรมศึกษา อีกทั้งยังสนใจสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน และสื่ออันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมจีน นอกจากบทบาทการเป็นนักวิชาการแล้วยังเป็นนักสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็กและเยาวชน มีผลงานเขียนและแปลวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงเขียนบทแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์