parallax background

The Mask Singer: ปรากฎการณ์อยากรู้ อยากเห็น และอยากมีส่วนร่วมของสังคมไทย

The Mask Singer: ปรากฎการณ์อยากรู้ อยากเห็น และอยากมีส่วนร่วมของสังคมไทย

ปรีดา อัครจันทโชติ


ความสำเร็จของรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล จนถึงกับผู้ผลิตอย่างบริษัทเวิร์คพอยต์ต้องผลิตรายการซีซั่น 2 ทันทีที่การแข่งขันจบลงพร้อมกับชัยชนะของหน้ากากทุเรียน

นอกจากได้ฟังเพลงไปพร้อมกับการคาดเดาผู้อยู่ภายใต้หน้ากาก สนุกไปกับความยียวนของผู้เข้าแข่งขัน และการปล่อยมุกของคณะกรรมการแล้ว รายการนี้ยังได้บอกอัตลักษณ์และพฤติกรรมการสื่อสารของคนไทยอีกไม่น้อย

แม้จะจัดเป็นรูปแบบการประกวดร้องเพลง ซึ่งพบเห็นดาษดื่นบนจอโทรทัศน์ในปัจจุบัน หากแต่ “การแข่งขัน” ที่ดำรงอยู่ในรายการไม่ใช่เป็นเพียงแค่การแข่งขันระหว่างผู้เข้าแข่งขันอย่างที่ปรากฏในรายการประกวดร้องเพลงอื่นๆ

สิ่งที่รายการ The Mask Singer ทำได้ไกลกว่ารายการอื่น (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) ก็คือทำให้ “การแข่งขัน” มีมิติที่หลากหลาย นอกจากการแข่งขันระหว่างผู้เข้าแข่งขันแล้ว ยังมีการแข่งขันระหว่างกรรมการด้วยกัน (ใครจะทายถูก ใครจะเสียหน้า) ระหว่างผู้เข้าแข่งขันกับกรรมการ (กรรมการจะจับได้ไหมว่าตัวตนภายใต้หน้ากากนี้คือใคร และผู้เข้าแข่งขันจะปิดบังอัตลักษณ์ของตนเองได้) ระหว่างทีมงานกับผู้ชม (คล้ายๆ กับการแข่งขันระหว่างผู้เข้าแข่งขันกับกรรมการ แต่ “ทีมงาน” ในที่นี้ยังรวมถึงกรรมการ ฝ่ายผลิตรายการ และทางสถานีโทรทัศน์ ที่พยายามทุกวิถีทางไม่ให้ข่าวรั่วว่าผู้เข้าแข่งขันเป็นใคร) การแข่งขันทั้งสองแบบนี้คล้ายกับความสัมพันธ์แบบนวนิยายหรือภาพยนตร์แนว “อาชญากร-นักสืบ” ที่ทั้งสองฝ่ายชิงไหวชิงพริบกัน ฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่อำพรางและหลบหนี ส่วนอีกฝ่ายมีหน้าที่เปิดเผยและไล่ล่า

นอกจากนี้ “การแข่งขัน” ยังรวมถึงการแข่งระหว่างผู้ชมเอง เพื่อพิสูจน์ว่า “นักสืบ” คนใดจะคลี่คลายปริศนาได้เป็นคนแรก และเปิดเผยสมมติฐานพร้อมกับหลักฐานที่ตนเองมีให้คนอื่นคล้อยตาม

ขึ้นชื่อว่าการแข่งขันก็ย่อมมีการเชียร์ โดยเฉพาะถ้าเป็นการแข่งขันที่ชวนให้คนดู “ลุ้น” ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ

แน่นอนว่า “ใคร” ในที่นี้ย่อมมิได้หมายถึงเพียงแค่ผู้เข้าแข่งขัน หากยังรวมถึงกรรมการ ทีมงาน หรือแม้แต่ผู้ชม

นี่เป็นกรอบเบื้องต้นของความนิยมในรายการที่เป็นส่วนทำให้รายการน่าติดตามและสร้างกระแสได้ในวงกว้าง (แน่นอน เหตุผลส่วนอื่นย่อมรวมถึงความประณีตของฝ่ายผลิต และองค์ประกอบอื่นๆ อีก) แต่นอกจากนี้แล้วรายการ The Mask Singer ยังได้สะท้อนถึงอัตลักษณ์การสื่อสารของคนไทย นั่นคือ ความอยากรู้ อยากเห็น และอยากมีส่วนร่วม

อยากรู้

ในสถานการณ์การเล่าเรื่องที่เป็นความลับ (ของคนอื่น) ให้ผู้อื่นฟัง เรามักพบวลีว่า “รู้แล้วเหยียบไว้นะ…” “อย่าไปบอกใครนะว่า….” เรื่องเล่าซุบซิบใดที่มีวลีเหล่านี้ประกอบ เรื่องเล่านั้นก็ได้ยกระดับคุณค่าของมันขึ้นมาทันที ด้วยเหตุที่มันเป็น “เรื่องลับเฉพาะ” ที่ผู้รู้อยู่ในวงจำกัด มิหนำซ้ำบางเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ได้รับถ่ายทอดมาจาก “วงใน” อีกที สิ่งที่มักตามมาหลังจากนั้นก็คือเรื่องลับเฉพาะเหล่านี้มักถูกถ่ายทอดต่ออย่างรวดเร็วกว่าเรื่องที่มิได้มีป้าย “อย่าไปบอกใครนะ” กำกับเสียอีก

ความอยากรู้อาจเป็นจริตของคนไทย แต่ถ้าเราเพียงแค่ “อยากรู้” เช่นนั้นแล้วทำไมเรื่องซุบซิบที่ตามมาด้วยวลีดังกล่าวจึงมีอานุภาพให้ผู้ฟังนำไปขยายต่อ แทนที่จะเก็บงำไว้กับตัว

นั่นก็เพราะว่าเราไม่ได้พอใจเพียงแค่ได้รู้ แต่สิ่งที่มีคุณค่าต่อปัจเจกบุคคลมากกว่าก็คือ “อยากให้คนอื่นรู้ว่าเรารู้”

รายการ The Voice เป็นรายการที่เล่นกับความอยากรู้คล้ายกับ The Mask Singer แต่ความอยากรู้ที่รายการ The Voice สร้างขึ้นนั้นก็จำกัดเพียงแค่การเล่นกับความอยากรู้ของกรรมการ (โค้ช) ว่าเจ้าของเสียงเป็นใคร มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นอย่างไร และกระตุ้นความอยากรู้ของผู้ชมว่าโค้ชจะหันมาไหม ความอยากรู้แบบนี้ปรากฏแค่ในรอบ Blind Audition ดังจะสังเกตได้ว่าพอรอบลึกเข้าไป “ความอยากรู้” ดังกล่าวก็หมดไป ผู้ชมที่ติดตามรายการนี้จะเปลี่ยนไปเป็นการเอาใจช่วยทีมหรือผู้เข้าแข่งขันที่ตนชื่นชอบแทน หรืออย่างมากก็แค่อยากรู้ว่าใครจะชนะ ซึ่งก็ไม่ต่างจากรายการประกวดอื่นๆ

ขณะที่รายการที่กระตุ้นต่อมอยากรู้ของผู้ชมอย่าง The Mask Singer สามารถลากเอาความอยากรู้นี้ข้ามไปได้อีกหลายเดือนจนกว่าผู้ชนะในรอบที่ผ่านๆ มาจะต้องถอดหน้ากากในรอบต่อๆ ไป เมื่อถึงคราวตัวเองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และเราจะรู้ตัวตนของผู้เข้าแข่งขันครบทุกคนก็ต้องติดตามจนจบซีซั่น

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ก็อยากรู้ ส่วนคนที่ (คิดว่าตนเอง) รู้แล้วก็อยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองรู้

ช่วงเวลาหลายเดือนนี่เองที่รายการสามารถสร้างความอยากรู้ของผู้ชม ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักสืบจำนวนมากได้แสดงฝีมือในการหาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะประกาศให้คนอื่นรู้ว่า ฉันรู้ว่าภายใต้หน้ากากนี้คือใคร โดยการสืบหาตารางงานของศิลปินต้องสงสัย การวิเคราะห์ความเกี่ยวโยงระหว่างประวัติกับการตอบคำถามของกรรมการ หรือความเกี่ยวโยงระหว่างประวัติส่วนตัวกับหน้ากากที่สวมใส่ ประกอบกับการวิเคราะห์เสียงร้อง การเปรียบเทียบระหว่างคลิปเพลงที่ร้องในรายการกับคลิปที่ผู้ต้องสงสัยเคยร้องมาก่อนหน้านี้ ส่วนผู้เข้าแข่งขันก็ต้องเปลี่ยนวิธีการร้อง เลือกแนวเพลงที่ตนเองไม่ถนัด ใช้วิธีการแสดงออกทั้งลีลาการพูดและเต้นที่ตนเองไม่เคยแสดงต่อสาธารณชน ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างผู้ล่ากับผู้หนี

ผู้เขียนมีความเห็นว่าปรากฏการณ์ “อยากให้คนอื่นรู้ว่าเรารู้” นี้สัมพันธ์กับบริบทของสังคมไทย ซึ่งชนชั้นชาวบ้านทั่วไปนั้นไร้อำนาจ ไร้อภิสิทธิ์ใดๆ ชาวบ้านไม่อาจเขยิบฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างถาวรได้โดยง่าย แต่ชาวบ้านสามารถเขยิบสถานะอันพิเศษเหนือคนทั่วไปได้อย่างชั่วคราว โดยผ่านการกุมข้อมูลระดับ “exclusive” ไม่ว่าจะมาจากการวิเคราะห์ของตนเองหรือรับฟังมาจากคนอื่นอีกทอดหนึ่งก็ตามที

และเนื่องจากว่าไม่มีใครรับรู้ความพิเศษดังกล่าวของเรา หากว่าเราไม่บอกข้อมูลนั้นต่อคนอื่น (ในลักษณะเดียวกับที่ถ้าเราไม่ใช้ชีวิตแบบเศรษฐีก็ยากจะมีคนคิดว่าเราเป็นเศรษฐี) ดังนั้นการจะแสดงความพิเศษของตนเองจึงต้องทำโดยการบอกให้คนอื่นรู้ถึงความพิเศษของข้อมูลนั้นๆ

สิ่งที่ถูกถ่ายโอนจากคนหนึ่งไปยังอีกคนจึงไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจหรือรู้สึกถึงอภิสิทธิ์ที่เราได้รู้ข้อมูลลับเฉพาะด้วย และยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับผู้ที่เอาข่าวมาบอกซึ่งเป็น “วงใน” (กับรายการ The Mask Singer อาจไม่สามารถอ้าง “แหล่งข้อมูลพิเศษ” ได้เพราะเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของรายกร ที่เสี่ยงต่อการถูกปรับเงิน ดังนั้นจึงอ้างการวิเคราะห์ของตนเองเพียงอย่างเดียว)

อยากเห็น

“ไฮไลต์” หนึ่งของรายการก็คือจังหวะที่เปิดหน้ากากออกมาแล้วเกิดการตกตะลึง ทั้งพิธีกร กรรมการ และคนดู ทำให้รู้สึกถึงความ “คาดไม่ถึง” ความรู้สึกแบบนี้ทำให้รายการสนุกมากกว่าเทปที่ถอดหน้ากากมาก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นใคร ทางรายการและตัวผู้เข้าแข่งขันเองจึงต้องหาทางปกปิดเพื่อจะให้คนดูประหลาดใจ เช่น วิธีการให้ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงแนวที่ไม่ถนัด เปลี่ยนเสียงร้องไปในแต่ละรอบ ตอบคำถามและการแสดงที่ผิดธรรมชาติของตัวเอง ประกอบกับการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องและผู้ชมในสตูดิโอเปิดเผยข้อมูล “วงใน” ไปยังสาธารณชน

นอกจากการอยากเห็น “เฉลยข้อสอบ” แล้ว คนดูยังอยากเห็นบทสรุปที่คลี่คลาย นี่เป็นลักษณะสำคัญของผู้ชมไทย ภาพยนตร์ ละคร หรือแม้แต่วรรณกรรมไทยแต่ไหนแต่ไรมาไม่คุ้นเคยกับลักษณะการเล่าเรื่องแบบ “จบเหมือนไม่จบ” ดังที่มักปรากฏในภาพยนตร์ต่างชาติ ในละครไทยนั้นแม้จะมีหลายเรื่องที่สร้างภาค 2 แต่เนื้อหาในภาค 2 ก็ล้วนเป็นการสร้างปมขัดแย้งหรือตัวละครขึ้นมาใหม่ โดยมิได้มาจากการทิ้งปมไว้ในภาค 1 เพื่อจะเล่าต่อในภาค 2 เพราะว่าโดยจริตของคนไทยการจบเรื่องแปลว่าต้องจบจริงๆ ไม่มีอะไรให้ค้างคาอีก คนชั่วต้องได้รับกรรม คนดีต้องได้รับผลตอบแทน ฯลฯ ดังนั้นเมื่อการแข่งสัปดาห์สุดท้ายที่รู้ผลแพ้ชนะแล้วแต่หน้ากากทุเรียนยังไม่เปิดเผยโฉมหน้า รายการจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นอกจากนี้รูปแบบรายการจากเวอร์ชั่นต้นฉบับของเกาหลีที่เปิดโอกาสให้ผู้ชนะยังไม่ถอดหน้ากาก แต่สามารถร่วมแข่งขันต่อในซีซั่นถัดไปได้ จึงไม่น่าจะเหมาะกับจริตของคนไทย

อยากมีส่วนร่วม

รายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะของการสร้างสรรค์ตัวบทรายการแบบข้ามพ้นพรมแดนทางวัฒนธรรม (Transcultural text) ลักษณะตัวบทและรูปแบบรายการดั้งเดิมนั้นน่าจะทำให้คนไทยเสพย์ได้ไม่ยาก และทางผู้จัดก็ปรับเพื่อให้เข้ากับจริตของคนไทยมากขึ้นจนข้ามพ้นไปจากตัวบทดั้งเดิม

ในโลกแห่งโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และมีการถ่ายเทไหลเวียนของความหมายหลากหลายรูปแบบและทิศทาง จนยากที่จะมีใครอ้างความเป็นเจ้าของตัวบทดังกล่าวได้ ดังนั้นเราจึงสามารถนำรายการเกาหลีแต่ผลิตแบบไทย มีการร้องเพลงญี่ปุ่น โดยที่ศิลปินต้นฉบับของญี่ปุ่นก็รับชมรายการไปพร้อมๆ กับผู้ชมจากทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากกรณีที่โยชิกิ อดีตหัวหน้าวง X Japan เจ้าของบทเพลง Endless Rain ได้โพสต์ข้อความและแชร์คลิปที่หน้ากากอีกาดำร้องเพลงดังกล่าวในเวที The Mask Singer

ตามแนวคิดตัวบทแห่งยุค Post-postmodernism เชื่อว่าผู้สร้างสรรค์ตัวบทนั้นไม่ไช่ผู้เขียนหรือ “author” อีกต่อไป แต่ผู้ชมกลายเป็นส่วนสำคัญของการสร้างตัวบท การสร้างหน้ากากต่างๆ ขึ้นมาพร้อมเครื่องแต่งกายที่ดูจริงจังมาก นอกจากจะสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกตัวละครแล้ว ยังเป็นการสร้างโลกแฟนซีให้กับผู้ชมในการ “จิ้น” เรื่องราว เราจึงเห็นผู้ชมนำเอาแคแร็กเตอร์ผู้เข้าแข่งขันไปสร้างสรรค์เป็นสิ่งต่างๆ เช่น สติ๊กเกอร์ fanfic รวมถึงสร้างเรื่องราวแต่หนหลัง (backstory) ซึ่งการสร้างตัวบทโดยผู้ชมบางครั้งก็ถูกบริษัทผู้ผลิตนำไปขยายเรื่องราวต่อ ดังเช่นในคอนเสิร์ต The Mask Singer ที่สร้างครอบครัวหน้ากากทุเรียน โพนี่ และมีลูกเป็นหน้ากากลิ้นจี่ ครอบครัวสายดาร์ก อีกาดำ-มังกร รวมไปถึงที่ทีมงานเป็นผู้สร้างเรื่องราวเอง อย่างเช่นตัวละครพี่น้องอย่าง อีกาดำ-อีกาเผือก

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ต่อเติมตัวบทรายการ

ที่สำคัญคือยิ่งผู้ชมอยากรู้ อยากเห็น อยากมีส่วนร่วม มากขึ้นเท่าไร ปรากฏการณ์ร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาตัวบทก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปเท่านั้น

Preeda Akarachantachote
Preeda Akarachantachote
รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ - คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง นักวิชาการนิเทศศาสตร์ผู้สนใจปรากฏการณ์การสื่อสารโดยใช้กรอบแนวคิดวัฒนธรรมศึกษา อีกทั้งยังสนใจสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน และสื่ออันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมจีน นอกจากบทบาทการเป็นนักวิชาการแล้วยังเป็นนักสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็กและเยาวชน มีผลงานเขียนและแปลวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงเขียนบทแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์