Boundary: การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิทธิด้านร่างกาย
ปภัสสรา ชัยวงศ์ และ พลอย ศิริอุดมเศรษฐ
ในรอบที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ Speech Communication Network ได้นำเสนอสรุปโครงการปริญญานิพนธ์ The Intern: กลยุทธ์การสร้างความประทับใจในที่ฝึกงาน ซึ่งได้รับผลป้อนกลับเป็นอย่างดีจากแฟนๆ มาในครั้งนี้ นิสิตพลอย ศิริอุดมเศรษฐ จะนำเสนอสรุปโครงการ “Boundary: การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิทธิด้านร่างกาย” ซึ่งถือเป็นประเด็นความสนใจโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับ “ขอบเขต” ของร่างกาย และได้รับผลกระทบจากการถูก “ล่วงละเมิด” รังแก แทะโลม ลวนลาม ทั้งด้วยวาจา สายตา กิริยา และพฤติกรรม คำถามสำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ คือ “ขอบเขต” ร่างกายของฉันและของผู้อื่นเป็นอย่างไร?
สำหรับโครงการชุดนี้ นิสิตพลอย ศิริอุดมเศรษฐได้ทำการสำรวจเบื้องต้นกับนักเรียนมัธยมศึกษา โดยเฉพาะมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งถือได้ว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” อันดับต้นๆ แม้ในความเป็นจริง การเรียนรู้ที่จะปกป้องสิทธิด้านร่างกายตนเองเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ปฐมวัย กระนั้น ผลสำรวจสะท้อนว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายยังมีความเข้าใจไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับสิทธิด้านร่างกายของตนเองและผู้อื่น ในเรื่องนี้ พลอยตั้งข้อสันนิษฐานว่า ถ้าเด็กวัยรุ่นมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ทั้งในเชิงกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ศีลธรรมและจริยธรรม ก็จะสามารถปกป้องสิทธิด้านร่างกายของตนเอง รวมถึงช่วยปกป้องเพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิดได้ นอกจากนี้ พลอยได้ศึกษาและนำตัวแปรเรื่อง “การสื่อสารเชิงสร้างสรรค์” (creative communication) หรือการสื่อสารให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยรักษาความสัมพันธ์ทั้งกับตนเองกับตนเอง และตนเองกับผู้อื่น เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดและการสื่อสารของวัยรุ่นไทยด้วย
จุดเด่นประการหนึ่งของโครงการ Boundary คือ การนำกระบวนการทางละคร ได้แก่ การ “รับฟังความรู้สึก” ของร่างกายเพื่อค้นหาขอบเขตของร่างกายตนเอง การใช้ฟอรั่ม เธียเตอร์ (Forum theatre) หรือการสร้างละคร โดยสร้างพล็อตเรื่องที่ “เป็นประเด็นปัญหา” การสร้างตัวละครที่เกี่ยวข้อง และการให้ผู้เข้าร่วมโครงการสวมบทบาทตัวละครต่างๆ เพื่อให้เข้าใจเบื้องหลังความคิดของตัวละครนั้น รวมถึงการให้ตัวละครมีส่วนในการแก้ไขบทละครเพื่อ “คลี่คลายสถานการณ์” “แก้ปัญหา” นอกจากนี้ ยังใช้ฟอรั่ม เธียเตอร์ร่วมกับกระบวนการสื่อสารแบบกลุ่มเพื่อนำไปสู่ “การค้นพบคำตอบด้วยตนเอง” (self-discovery) ในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิทธิด้านร่างกายของตน
เมื่อจบโครงการ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายผู้เข้าร่วมโครงการได้ค้นพบและตระหนักในขอบเขตของร่างกายตนเองและผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นกับเพื่อนๆ และ “เห็น” ความคิดของผู้ที่มีความคิดต่างจากตนในเรื่องสิทธิด้านร่างกาย และได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อปกป้องตนเองและผู้อื่นทั้งจากเพื่อนวัยเดียวกันและวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์และความเข้าใจด้านการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับโครงการที่นำเสนอไปเมื่อครั้งก่อน โครงการปริญญานิพนธ์นี้เป็นเพียงแนวทางตัวอย่างการจัดทำหลักสูตรฯ ภายใต้เงื่อนไขเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการยังพบข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น กรอบเวลาในการดำเนินงาน การออกแบบกิจกรรมให้เกิดความรอบคอบ และกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง ดังนั้น หากท่านผู้อ่าน/ท่านผู้ฟังมีข้อเสนอแนะ ข้อชวนคิดต่างๆ สามารถแชร์เข้ามาได้ผ่านช่องทาง inbox ของแฟนเพจ Speech Communication Network เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวาทนิเทศที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและใจ อันสะท้อนความเป็นสหสาขาวิชาของศาสตร์ด้านวาทนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ในการปกป้องสิทธิด้านร่างกายของเด็กและเยาวชนไทย ตลอดจนการสร้างสุขภาวะให้พวกเขาต่อไปค่ะ
Header Image: A Photograph by Pexels on Pixabay