parallax background

อร๊ายยย แรวงส์ มว้ากกกอ่ะแกร…ภาษากับการสื่อสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

อร๊ายยย แรวงส์ มว้ากกกอ่ะแกร…ภาษากับการสื่อสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

ปภัสสรา ชัยวงศ์


ในตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เล่าถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีต่อโครงสร้างการรับรู้ของสมองและระบบคิด รวมถึงพฤติกรรมการสื่อสารในองค์กรของคนรุ่นดิจิทัลเนทิฟส์ไปแบบเบาๆ พอหอมปากหอมคอ มาในตอนนี้ ก็อยากจะเล่าต่อถึง “ต้นตอ” ของคำ “อร๊ายยย แรวงส์ มว้ากกกอ่ะแกร” ข้างต้นว่ามันมาแต่หนใด และแน่นอนว่า มันก็หนีไม่พ้นเรื่องอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารอีกเช่นกัน

ย้อนกลับไปสักเกือบ 15 ปีก่อน เมื่อตอนผู้เขียนเป็นมือใหม่เริ่มใช้ msn กับเขาเป็นครั้งแรกก็รู้สึกได้ว่าลักษณะการสะกดคำของผู้ร่วมสนทนาทั้งไทยและเทศมักจะเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “netspeak” อาทิ คำย่อบ้าง (ฮิตสุดก็ “lol” “omg”) สะกดแปลกๆ บ้าง (เช่น “cya l8er”) สะกดพยัญชนะซ้ำๆ (เช่น “goooood” “plzzzzz”) การใช้สัญลักษณ์แสดงอารมณ์ต่างๆ (เช่น :), :D, XD, ^_^) ซึ่งก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง หรือแม้กระทั่งสติกเกอร์ emoticon ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเวลานั้น แต่เมื่อ Mark Zuckerberg ได้ปล่อย “เฟซบุ๊ก” โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์มาสู่สายตาประชาคมโลกในปี 2004 จากนั้นอีกไม่นาน ชีวิตของผู้เขียนในฐานะผู้ใช้เฟซบุ๊กก็ได้เชื่อมโยงเข้ากับ “เฟรนด์” อีกนับร้อยชีวิต และได้ประสบกับถึงพฤติกรรมการสะกดคำลักษณะต่างๆ ที่ไม่เคยปรากฏแก่สายตามาก่อนของสารพัดเฟรนด์  โดยเฉพาะเฟรนด์รุ่นน้อง ไม่ว่าจะเป็น อิบร้า แสรดดด บร๊ะเจ้า เมพขิงๆ ซึ่งทำเห็นได้ชัดเลยว่าพฤติกรรมการสะกดคำของ “พี่น้องชาวไทย” มีความ “แอ๊ดว้าน” แซงหน้าเพื่อนต่างชาติไปอย่างไม่ติดฝุ่น

เมื่อได้เข้ามาเรียนต่อในระดับปริญญาเอกเมื่อปี 2011 ก็ได้เรียนพัฒนาการทางทฤษฎีการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ (Computer-mediated Communication –CMC Theories) จึงได้เข้าใจว่าพฤติกรรมการสะกดคำดังกล่าวทำหน้าที่เป็น “อวัจนภาษาทดแทน” (substitutes of nonverbal cues) หรือการสะกดคำเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างต่อคู่สนทนา  “ความติดใจ” ผสมความอยากรู้อยากเห็นว่าสารพัดการสะกดคำของเฟรนด์เหล่านั้นมันมาจากไหน มันแปลว่าอะไร ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันเข้าใจตรงกันจริงๆ เหรอ จึงเป็นที่มาของหัวข้องานวิจัยชิ้นแรกสมัยเป็นนิสิตปริญญาเอก กับคำถามนำวิจัยที่ว่า “นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานครมีพฤติกรรมการใช้อวัจนภาษาทดแทนในการสื่อสารบนเฟซบุ๊กอย่างไรบ้าง และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น”

(อันที่จริง งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอและตีพิมพ์เป็น proceeding แล้วในปี 2012 พวกฝรั่งฟังแล้วขำกันกลิ้งในความเป็น Thailand Only ของเรา แต่รุ่นน้องหลายคนบ่นๆ ว่ามันเป็นภาษาอังกฤษ อ่านไม่ถนัดใจ และเรียกร้องให้เขียนเป็นภาษาไทยจะมันส์กว่า…อ่ะ ช้าหน่อยแต่ก็จัดไปคร่าาาาาาา)

Social Information Processing Theory (SIP) หนึ่งในตระกูลทฤษฎีการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์

Joseph B. Walther 1 (1992 in Joseph B.Walther, 2015) มองเห็นถึงข้อจำกัดหลายประการในการสื่อสารของมนุษย์ผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ รวมถึงการส่งอวัจนภาษา (nonverbal cues) ในการสื่อสารระหว่างบุคคล เขาได้นำเสนอทฤษฎีการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์หลายๆ ทฤษฎีจนสร้างเป็น “ตระกูลทฤษฎี CMC” ได้  ทฤษฎี SIP เป็นทฤษฎีหนึ่งซึ่งจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ในบริบทการสื่อสารระหว่างบุคคลผ่านสื่อออนไลน์ที่คู่สนทนาไม่สามารถส่ง-รับสัญญาณทางสังคม (social cues) ด้านอวัจนภาษา (นั่นคือไม่เห็นหน้าเห็นตา ไม่ได้ยินเสียง ไม่เห็นท่าทาง หรืออื่นๆ) ได้นั้น บุคคลจะมีวิธีใช้ตัวอักษร (textual symbols) อย่างไรเพื่อ “ทดแทน” (substitute) อวัจนภาษาที่หายไปในการสนทนาเพื่อการสร้างความประทับใจระหว่างกัน รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ให้คืบหน้า และนั่นเป็นที่มาของพฤติกรรมการใช้ตัวอักษร (texting behaviors) เพื่อให้เกิดความ “เป็นธรรมชาติ” มากที่สุดในการสื่อสารผ่านสื่อประเภทนี้ เช่น การสะกดคำเพื่อ:

1) เลียนแบบ “น้ำเสียง” เช่น การสะกดคำแทนเสียงแบบ “hahaha” หรือ “555+” ที่เป็นพิมพ์นิยมในบ้านเรา การใช้ตัวสะกดซ้ำๆ แบบ “มากกกกก” หรือการใช้เครื่องหมายประเภทปรัศนีย์ (?) เช่น “จิงหรา????” หรืออัศเจรีย์ (!) เช่น “เริ่ดดดด!!!!” เพื่อส่งอารมณ์ หรือเน้นย้ำความรู้สึกขณะที่สื่อสาร

2) แสดง “สีหน้า” เช่น การสร้างตัวอักษรเป็นหน้าแสดงอารมณ์ (text-based emoticon) เช่น : )  ; )  : (  ^3^ หรือ T_T เป็นต้น (5555 มาถึงตอนนี้ แอบเชื่อว่ามีบางคนแปลไม่ออกว่านี่มันหน้าอารมณ์อะไรกัน)

นอกจากความพยายามในการสร้างอวัจนภาษาทดแทนผ่านพฤติกรรมการใช้ตัวอักษรแล้ว Joseph B. Walther ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก “เวลา” ในการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ระหว่างกันยัง “ไม่ค่อยทันใจ” ไม่เหมือนการสื่อสารแบบต่อหน้า (face-to-face) คู่สนทนาจึงมีความพยายามในการสื่อสารให้ “รวดเร็ว” เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางอารมณ์ จึงทำให้พฤติกรรมการสะกดคำ “หด-ย่น-ย่อ” ลง ดังที่คุ้นๆ กันว่า “OMG!!!” “A/S/L” (ถามข้อมูล age, sex, location) “CYA L8er” “BTW” หรือถ้าเป็นวัยรุ่นสมัยนี้ก็จะใช้แบบ “น๊ค๊” “เด๋ว” “กัว” “ยุมิ” “พน.” “ผช.” “ลส.” เป็นต้น (อ้าว งงงง อะไรคือ ยุมิ พน. ลส.????)

ว่ากันตามทฤษฎี SIP ไปแล้ว คราวนี้เรามาดูกันว่าในปี 2011 ผู้เขียนพบอะไรบ้าง และน่าสนใจมากที่พฤติกรรมการสื่อสารที่พบยัง “คงเส้นคงวา” “แพร่กระจาย” “เป็นที่แพร่หลาย” และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมในงานวิจัยของกานต์รวี ชมเชย, 2558)

19 รูปแบบการสะกดคำเพื่อสร้างอวัจนภาษาทดแทน!!!

จำได้ว่าตอนเข้าไป “ส่องเฟซ” ของเฟรนด์วัยรุ่นของผู้เขียนเพื่อเตรียมสร้างแบบสอบถาม ก็เกิดอาการ “ผงะ” เพราะมีการสะกดคำอยู่หลายรูปแบบ มีพฤติกรรมฮิตหลายอย่างที่นิสิตนักศึกษาไทยใช้ในการสื่อความหมายระหว่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี “คำประหลาด” หรือ “ภาษาต่างดาว” มากมายที่ตอนนั้นผู้เขียนไม่สามารถ “ถอดรหัส” ได้ เช่น “เมพขิงๆ” หรือ “จุงเบย” อันนี้ยังไม่นับพวก text-based emoticon ที่กลุ่มตัวอย่างของเรา “ประดิษฐ์คิดค้น” สร้างสรรค์กันไปต่างๆ เช่น =^_^=  @_@ ^3^ (><) สรุปรวมจัดประเภทแล้วได้มาถึง 19 รูปแบบด้วยกัน!!!

สนุกยิ่งกว่าตอนลงไปทำ pilot test การเก็บข้อมูลจริงอีก 500 ชุด และได้ “สำพาด” กลุ่มตัวอย่างว่าคำเหล่านั้นท่านได้แต่ใดมา ก็พบว่ามีที่มาหลากหลาย (จุดๆ นี้คิดว่า Walther จะต้องประหลาดใจมากทีเดียวที่ได้ยิน) อาทิ:

1) การดัดแปลงคำสบถและคำหยาบเพราะการ “เซ็นเซอร์” ของระบบ/กฎหมายอินเทอร์เน็ต: คำว่า “บร๊ะเจ้า” เกิดจากการดัดแปลงคำว่า “พระเจ้า” ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับ ม.112 หรือคำหยาบคายต่างๆ เช่น “กู มึง” ก็เปลี่ยนไปใช้ “กุ กรู เมิง มิง” อะไรแบบนี้แทน หรือพวก “เหี้ย สัตว์” อะไรแบบนี้ก็ต้องปรับมาเป็น “เชี่ย สัส” คือ สะกดแบบอื่นแทน (แม้จะคงความหมายเดิม 5555) เพื่อไม่ให้โดนฟ้องหรือโดนเซ็นเซอร์

2) การนำคำที่เพื่อนที่ “เล่นเกมด้วยกัน” สะกดผิด แต่มันดูเก๋ไก๋ “มาใช้ต่อ”: คำว่า “เมพขิงๆ” นี่มาจากการ “รีบ” สะกดคำชมเพื่อที่เล่นเกม dot.A ด้วยกันผ่าน chat box ว่า “เทพจิงๆ” แล้วนิ้วมันดัน “พลาด” ไปกดตัวอักษรใกล้ๆ กัน (อ่ะ ดูคีย์บอร์ดภาษาไทยก็จะรู้ได้ว่า ม.ม้า นี่อยู่ใกล้กับ ท.ทหาร และ ข.ไข่ ก็อยู่ใกล้ จ.จาน) ถ้าใครมีลูกหลานเล่นเกม ก็จะเห็นพฤติกรรมนี้ชัดเจนว่า เกมก็ต้องเล่น คุยก็ต้องคุย มันจะเอาเวลาที่ไหนมาสะกดให้ถูก แล้วพอ “เมพขิงๆ” ปรากฏความหมายที่แท้จริง มันก็เลยถูกส่งต่อไปอย่างแพร่หลาย ทำนองคล้ายกันกับ “น่ารักจุงเย” ซึ่งถ้าดูคีย์บอร์ดอีกครั้งก็คงพอเดาได้ว่ามันเกิดจากการ “สะกดผิด” ของคำว่า “น่ารักจังเย” (สมัยนี้ก็จะมีคำว่า “ครัช” ซึ่งกดคำว่า “ครับ” ผิดแถมมาด้วย 5555+++)

3) การใส่ “ร” “ล” “ว” ลงไปในคำ: คนที่คุ้นชินกับภาษาเน็ตแบบวัยรุ่นไทยคงเดาได้ไม่ยากว่า “ร ล ว” นี่ก็มีความหมายของใครของมันชนิดที่ไม่สามารถอธิบายที่มาด้วยสิ่งอื่น ยกเว้น “ความขี้เล่น” และ “ความคิดสร้างสรรค์” ของวัยรุ่นไทย

เริ่มจาก “ร.เรือ” – ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าการใส่ ร.เรือลงไปในคำหยาบคายใดๆ แล้ว จะสามารถลดทอนความรุนแรงของคำลงได้ เช่น “อิบร้า” (คือ อีบ้า) “แสรด” (คือเวอร์ชั่นกลายของสัตว์-สัด-แสด-แสรด) “แมร่ง” (คือ แม่ง) อีกทั้งยังดูน่ารักน่าเอ็นดู (กลุ่มตัวอย่างกล่าว) เช่น “ขอบคุณคร่าาาาา” (คือ ขอบคุณค่ะ-ขอบคุณค่า) “อร๊ายย” (คือ อ๊าย หรือว้าย)

“ล.ลิง” – กลุ่มตัวอย่างเล่าว่าการสะกดคำด้วย ล.ลิงมักจะเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของภาษาสก๊อย เช่น “เพิ่ลๆ” (= เพื่อนๆ) หรือ “เขิล” (= เขิน) หรือ “งอล” (= งอน)

“ว.แหวน” – เป็นตัวสะกดที่แสดงแทนอารมณ์แบบ “เว่อร์วัง” จริงๆ ว.แหวนนี่สามารถใส่ได้อย่างน้อย 2 จุด คือใส่ในคำเพื่ออุทานหรือแสดงความรู้สึกเว่อร์วัง เช่น “มวาก” (= มาก) “แรวงงง” (= แรง) “สวดยวด” (= สุดยอด) หรือถ้าใส่ท้ายคำ ก็ยังคงแสดงความเว่อร์วังได้เช่นกัน เช่น “ยูว์” (= ยู = เธอ) “ตัวเทอว์” (= เธอ) อย่างไรก็ตาม ว.แหวนยังอาจใช้สะกดเพื่อแสดงอารมณ์น่ารักตามที่นักแสดงตลกท่านหนึ่งได้เสนอไว้ด้วย เช่น “มาแว้ววว” (=มาแล้ว – ตอนที่เก็บข้อมูลวิจัย นักแสดงตลกท่านนั้นยังมาไม่ถึงคำว่า “มาล้าววว” ซึ่งก็แปลว่า “มาแล้ว” เช่นกัน)

ยังไม่นับว่ามี “ส์” ท้ายคำ ซึ่งมีที่มาจากการเติม “s” ในภาษาอังกฤษ เพื่อแสดงความเป็นพหูพจน์ (หรือมากกว่าหนึ่ง) เช่น “นิดส์นึง” (=แค่นิ้ดดดเดียว) หรือการสะกดคำตามเสียงที่มีอารมณ์ล้อเลียน เช่น “จริงหรา!!” (=จริงเหรอ แต่ถามแบบกวนประสาท ไม่เชื่อสิ่งที่ได้ยินมา) หรือการใช้คำแสลงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสมัยนั้น เช่น “ปัง” “ใจ” “ม้วฟ” (เป็นเสียงจุ๊บดังๆ) รวมทั้งความสร้างสรรค์ในการสร้างเสียงหัวเราะแบบต่างๆ ตั้งแต่ “5555” “อิอิ” “อุอิ” “คริคริ” “ครุคริ” “งุงิ” “กิกิ” เรียกได้ว่า Thailand Only จริงๆ

คำฮิตต้อง “อารมณ์ได้ – ง่ายต่อการสะกด”: “ความเร็ว” และ “คีย์บอร์ด” เป็นตัวกำหนด

จากการลงเก็บข้อมูลภาคสนาม ผู้เขียนตั้งคำว่า “แล้วคำพวกนี้มันจะใช้กันไปอีกนานแค่ไหนกัน” คิดแล้วก็ประมวลได้ 2 ประเด็นที่ทำให้การสะกดคำนั้น “ติด” หรือ “ฮิต” คือ “อารมณ์ต้องได้ และ ง่ายต่อการสะกด” ซึ่งปรากฏว่าสอดคล้องกับข้อสังเกตที่ Joseph B.Walther ตั้งไว้

เกณฑ์สำคัญของคำ “ติด” หรือคำ “ฮิต” นี่ “อารมณ์มันต้องได้” จริงๆ เพราะการสื่อสารแบบผ่านสื่อออนไลน์มันไม่เห็นหน้าเห็นตา ไม่ได้ยินเสียง แตกต่างจากการสื่อสารแบบต่อหน้า นั่นเป็นเหตุที่เรายังคงพบคำสะกดประเภท “แทนเสียง” สื่ออารมณ์ได้เสมอในการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ เช่น อัลไล อารายยยย มว้ากกกกกก จร้าาาา หรา เง้ออออ เหยยย ม้วฟ เช่นเดียวกับ “คำสบถ” ที่ใช้แทน “ความสนิท” เมื่อคุยกับกลุ่มเพื่อนสนิท เช่น แสรด สัส กุ เชรี่ย ดอก เป็นต้น

นอกจากนี้ เกณฑ์ข้อต่อมาคือ มันต้อง “สะกดง่าย” “สั้น” เร็วทันใจ ความหมายไม่พลาดด้วย และนั่นก็เป็นที่มาของการที่ดิจิทัลเนทิฟส์สมัยนี้จะสะกดคำว่า “สัมภาษณ์” เป็น “สำพาด” และให้เหตุผลว่า “จำไม่ได้แล้วว่าคำที่ถูกนี่มันต้องสะกดยังไง เพราะหนูใช้อย่างนี้มาตลอด” เรามาดูตัวอย่างจากคีย์บอร์ดหรือแป้นพิมพ์ภาษาไทยด้วยกัน

จากแป้นพิมพ์ จะเห็นได้ว่า คำว่า “คริคริ” กับ “อิอิ” จะนิยมกว่า “ฮ่าฮ่า” แน่นอนเพราะตัวอักษรบนแป้นพิมพ์อยู่ติดกันมากกว่า และไม่ต้องกด shift หรือเราจะเห็นคำว่า “อาทิด” แทนคำว่า “อาทิตย์”  หรือ “ยุมิ” แทนคำว่า “อยู่มั้ย” “ชิมิ” มากกว่า “ชิปะ” ซึ่งแทนความหมายว่า “ใช่หรือไม่ ใช่หรือเปล่า” อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอารมณ์สำคัญกว่าตัวสะกด ดังนั้น เราจึงอาจเห็นดิจิทัลเนทิฟส์เลือกใช้คำว่า “เสียจัย” แทนคำว่า “เสียใจ” คือ แม้จะสะกดยาวกว่า แต่ถ้าอารมณ์มันได้ก็จบ!

ยิ่งไปกว่านั้น คำ “ฮิต” คำ “ติด” นี่มันก็ “ติดต่อ” กันได้ซะด้วย พอคนกลุ่มหนึ่งใช้ อีกกลุ่มเห็นว่าน่ารัก ก็นำมาเขียน นำมาพูดบ้างในชีวิตประจำวัน จนแพร่กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง แม้กระทั่งผู้บริหารประเทศระดับรัฐมนตรียังเคยนำมาพูดออกสื่อ อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ภาษาไทยยังคงไม่หมดความหวัง เพราะจากผลการศึกษาพบว่า นิสิตนักศึกษาในคณะที่เกี่ยวข้องกับภาษา เช่น อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มักจะ “ทำใจไม่ได้จริงๆ” ที่จะสื่อสารผ่านเครือข่ายออนไลน์ด้วยการสะกดภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาทิด หรือสำพาด แม้ว่ามันจะสะกดเร็วกว่ากันมาก

ภาษาเน็ตเวอร์ชั่นไทย – ทำไมต้องรู้

มาถึงตรงนี้ก็ต้องย้อนไปถึงประเด็นที่เพื่อนๆ นักวิชาการตั้งคำถามเมื่อผู้เขียนเล่าให้ฟังว่าอยากศึกษาประเด็นนี้ว่า “ประโยชน์ของงานวิจัยนี้คืออะไร” ทีแรกผู้เขียนก็ตอบไปเล่นๆ ว่าจะศึกษาหลักและไวยากรณ์การใช้ภาษาเน็ตของ “เด็กสมัยนี้” เผื่อจะทำพจนานุกรมแปลความหมาย แต่ต่อมาอีกไม่นานผู้เขียนก็ค้นพบลิ้งก์ของเว็บไซต์ Netspeak.org ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยค้นคำที่คนมักใช้บนโลกอินเทอร์เน็ตและรวมถึงการช่วย “แปล” ภาษาเน็ตให้ผู้ไม่คุ้นเคยได้เข้าใจด้วย นั่นกำลังสะท้อนว่ามี “ช่องว่าง” ระหว่างคนที่เป็นเนทิฟส์กับที่ไม่เป็นเนทิฟส์เช่นพวกอิมมิแกรนท์สอยู่ ประโยชน์ประการหนึ่งหากดิจิทัลอิมมิแกรนท์สจะเข้าใจลักษณะการสื่อสารของคนรุ่นใหม่คงจะได้แก่ การคุยกันได้รู้เรื่องอย่างเกิด “อรรถรส” ด้วยสัญลักษณ์ที่ “พอจะปรับเข้ากันได้” อย่าง “กิกิ” “คริคริ” “ง่อว์” “จริงหรา” “มากกกก!!!” “ชิมิ” หรือ “ดูแลเตงด้วยนะ” อันจะนำไปสู่การสร้างความประทับใจ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นให้คืบหน้า อันจะส่งผลต่อความรู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน” ในการใช้ชีวิต การเรียนการสอน รวมถึงการทำงานร่วมกันในองค์กรด้วย

รายการอ้างอิง

  • Chaiwong, Papassara. (2012). Behaviors, Motives, and Substitutes of Nonverbal Cues Construction on Facebook Network of Undergraduate Students in Bangkok. Proceedings of the 8th International Graduate Conference, pp. 110-130. Bangkok: Faculty of Communication Arts, Chulalongkorn University.
  • Walther, J. B. (2015). Social Information Processing Theory (CMC). The International Encyclopedia of Interpersonal Communication. 1–13.
  • กานต์รวี ชมเชย (2558). ภาษาไทยเน็ต : ภาษาสนทนาในโปรแกรมสนทนาในสมาร์ทโฟน. สืบค้นจาก iacr.swu.ac.th/upload/research/download/149-9326-0.pdf เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560.

1 เคยเป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา อาทิ Northwestern University, Cornell University และ Michigan State University ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำที่ Wee Kim Wee School of Communication and Information มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) ประเทศสิงคโปร์

Papassara Chaiwong
Papassara Chaiwong
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปภัสสรา ชัยวงศ์ - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและเอกจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับวาทวิทยา ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านการสื่อสารในองค์กร การสื่อสารระหว่างบุคคลในบริบทต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีกับการสื่อสารของมนุษย์