parallax background

สาระฉบับคัดสรรจากโครงการปริญญานิพนธ์ทางวาทนิเทศ ปีการศึกษา 2559

สาระฉบับคัดสรรจากโครงการปริญญานิพนธ์ทางวาทนิเทศ ปีการศึกษา 2559

ปภัสสรา ชัยวงศ์


ภารกิจสุดท้ายของนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวาทวิทยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คือการจัดทำโครงการปริญญานิพนธ์ทางวาทวิทยา  หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า senior project วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการ คือ เพื่อให้นิสิตนำความรู้ทางวาทวิทยา (หรือเรียกอีกอย่างว่าวาทนิเทศ) และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาประยุกต์ใช้ เรียนรู้กระบวนการการบริหารโครงการอย่างมืออาชีพและครบวงจรเพื่อจะพร้อมเข้าสู่การทำงานและการบริหารโครงการในอนาคต เรียกว่าเป็นการทำ Action Research ย่อยๆ เพื่อให้สามารถประยุกต์องค์ความรู้เข้ากับการนำไปใช้จริงได้อย่างสมจริงสมจัง และจะได้เผยแพร่ต่อผู้สนใจทางเว็บไซต์นี้

ด้วยเหตุที่นิสิตที่เลือกวาทวิทยาเป็นวิชาเอกมีจำนวนไม่มาก ผู้สอนจึงสามารถพัฒนาวิธีคิดและทักษะในการจัดทำโครงการได้อย่างเข้มข้น เรียกว่าทั้ง intensive และ exclusive สำหรับในปีการศึกษา 2559 ว่าที่บัณฑิตจุฬาฯ สาขาวาทวิทยารุ่น “จุฬาฯ 100 ปี” ได้ทำการวิเคราะห์ความต้องการของผู้รับสาร (เด็กๆ เรียกขั้นตอนนี้ว่าเป็นการสำรวจและวิเคราะห์ตลาด) เลือกหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในองค์กร” มาเป็นธีมหลักของการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อยซึ่งเป็นลำดับของการเรียบเรียงความรู้ก่อนเข้าสู่องค์กร คือ Question Yourself: ถามใจให้เป็น เห็นอนาคตได้ไกล” “Let’s Get Hired: สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษอย่างไรให้ได้งาน” และ CROSSOVER: ก้าวข้ามความท้าทายในองค์กรข้ามชาติ” นิสิตมีเวลาเตรียมการประมาณ 2.5 เดือน ก่อนจะดำเนินงานจริงในช่วงงาน CU Expo 2017 เพื่อให้ “หลักสูตรฝึกอบรมทางวาทนิเทศ” ในชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “นวัตกรรม คิด ทำเพื่อสังคม” ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยและเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ

โปสเตอร์จาก 3 โครงการปริญญานิพนธ์ทางวาทนิเทศ ปีการศึกษา 2559

โดยกระบวนการ หลังจากแต่ละกลุ่มได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ตลาดซึ่งได้แก่ การอ่านบทความ งานวิจัย และเก็บข้อมูลเบื้องต้นจากกลุ่มเป้าหมายของตนเองแล้ว นิสิตก็ได้ทำการค้นคว้าแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อ “สร้างหลักสูตร” ที่จะใช้ฝึกอบรม มีการคิดโปรแกรม กิจกรรมการดำเนินหลักสูตร จำนวนเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงวิธีการทดสอบประเมินผลต่างๆ หลังจากนั้นก็เสนอ Proposal การจัดงาน รวมทั้งแผนการดำเนินโครงการโดยตามงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะนิเทศศาสตร์ฯ เพื่อให้คณะกรรมการของภาควิชาฯ อนุมัติ ก่อนจะลงมือดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ รวมถึงการประเมินผลโครงการ การอภิปราย และเขียนข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในอนาคต

สำหรับการนำเสนอผ่านคลิปวิดีทัศน์ความยาวประมาณ 10 นาทีที่ท่านจะได้รับชมต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่โครงการปริญญานิพนธ์ (Project Dissemination) ซึ่ง:

ในโครงการ Question Yourself: ถามใจให้เป็น เห็นอนาคตได้ไกล” ณภัทร รื่นพานิช และดวงหทัย ปัญจรัตนากร จะมาสรุปโครงการ โดยจะกล่าวถึงที่มาและความสำคัญ หลักการและวิธีในการใช้ศาสตร์เก่าแก่ทางวาทวิทยาอย่าง Dialectics ของเพลโต ซึ่งมีข้อตกลงพื้นฐานว่าการตั้งคำถามและตอบคำถามอย่างมีหลักการ จะนำมนุษย์ไปสู่ “ความจริง” ที่ต้องการค้นหา หากในแต่ละช่วงของชีวิต (ในโครงการจะกล่าวถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างการเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และการเลือกอาชีพ) เราเรียนรู้และสามารถ “ตั้งคำถามกับตนเอง” (หรือบางคนเรียกว่า Self-coaching) ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ไม่มากก็น้อย เราก็จะสามารถพบแนวทางไปสู่คำตอบที่เหมาะกับการดำเนินชีวิตของเราด้วยเช่นกัน

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

Question Yourself: ถามใจให้เป็น เห็นอนาคตได้ไกล โดย ณภัทร รื่นพานิช และดวงหทัย ปัญจรัตนากร

อีกโครงการหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากว่าที่บัณฑิตทั่วประเทศก็ว่าได้ คือ Let’s Get Hired: สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษอย่างไรให้ได้งาน” เนื้อหาของโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเตรียมตัวสัมภาษณ์ในส่วนวิเคราะห์คำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ และการเตรียมตัวในส่วนการตอบคำถามและการนำเสนอตนเองในการสัมภาษณ์อย่างมีกลยุทธ์

ในส่วนแรก รดามณี รอดเกิด ได้กล่าวถึงกระบวนการในการเลือกบุคลากรเข้าทำงานและการใช้คำถามเพื่อเป็นเครื่องมือในการค้นหาทักษะที่สำคัญและจำเป็นในมิติต่างๆ จากผู้สมัคร หากผู้สมัครสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้สัมภาษณ์ต้องการค้นหาทักษะอะไรในแต่ละคำถาม ก็จะมีโอกาสเตรียมแนวคำตอบที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ สำคัญคือ ต้องเป็นคำตอบที่มีการเรียบเรียงตามความจริงอย่างเหมาะสม

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

Let’s Get Hired: สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษอย่างไรให้ได้งาน (Part I) โดย รดามณี รอดเกิด

ในส่วนที่สอง พุธิตา ปราบ ได้กล่าวถึงหลักการและเทคนิคในการนำเสนอตนเองผ่านการเล่าเรื่อง เช่น หลักการ “รู้เขา รู้เรา รู้สนามรบ และรู้เพลงรบ” “เทคนิค STAR” เพื่อผู้สมัครงานจะสามารถเตรียมตัวและตอบคำถามต่างๆ ของผู้สัมภาษณ์ได้อย่างมีกลยุทธ์ น่าสนใจและเป็นที่จดจำ

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

Let’s Get Hired: สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษอย่างไรให้ได้งาน (Part II) โดย พุธิตา ปราบ

โครงการสุดท้ายคือ “CROSSOVER: ก้าวข้ามความท้าทายในองค์กรข้ามชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความรู้ความเข้าใจให้แก่บัณฑิตจบใหม่ที่ประสงค์จะเข้าทำงานในองค์กรข้ามชาติอเมริกันและญี่ปุ่น (คลิปนี้จะเสนอเฉพาะองค์กรข้ามชาติอเมริกัน) จากการสำรวจความคิดเห็นทั้งองค์กรและบัณฑิตจบใหม่ พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานใหม่ โดยเฉพาะเจนวาย ลาออกจากงานหลังจากเพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน เป็นเพราะขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่สามารถปรับตัวได้กับค่านิยม วัฒนธรรมและการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้บังคับบัญชาได้อย่างเหมาะสม ในคลิปที่นำเสนอนี้ พลอยฟ้า กานต์อเนกองค์ จะกล่าวถึงข้อคิดที่น่าสนใจในเรื่องนี้จากการบรรยายของผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรอเมริกันชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

CROSSOVER: ก้าวข้ามความท้าทายในองค์กรข้ามชาติ โดย พลอยฟ้า กานต์อเนกองค์

อย่างไรก็ตาม โครงการปริญญานิพนธ์นี้ยังมีข้อจำกัดในระดับความลึกของความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้ของนิสิตปริญญาตรี ประกอบกับข้อจำกัดในด้านต่างๆ เช่น กรอบเวลา ปริมาณเวลา จึงอาจจะมีช่องว่างมากมายที่ต้องการการพัฒนา ดังนั้น หากท่านผู้อ่าน/ท่านผู้ฟังมีข้อเสนอแนะประการใด สามารถ inbox เข้ามาได้ทางแฟนเพจ Speech Communication Network เพื่อเราจะสามารถนำข้อเสนอแนะของท่านไปสร้างสรรค์องค์ความรู้ทางวาทนิเทศในมิติที่เกี่ยวข้องต่อไปค่ะ


Papassara Chaiwong
Papassara Chaiwong
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปภัสสรา ชัยวงศ์ - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและเอกจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับวาทวิทยา ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านการสื่อสารในองค์กร การสื่อสารระหว่างบุคคลในบริบทต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีกับการสื่อสารของมนุษย์