parallax background

ประเด็นการศึกษาวิจัยทางวาทนิเทศในองค์กรจากเวที ICA 2017

ประเด็นการศึกษาวิจัยทางวาทนิเทศในองค์กรจากเวที ICA 2017

ปภัสสรา ชัยวงศ์


หายหน้าหายตากันไป 1 เดือนอันเนื่องมาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กรุณาให้โอกาส และสำคัญคือให้ทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาบุคลากร เพื่อไปร่วมการประชุมวิชาการ International Communication Association 1 (ICA) ครั้งที่ 67 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2560ณ เมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม กลับมาครั้งนี้ก็จะใช้พื้นที่และโอกาสที่จะแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการวิจัยใหม่ ๆ เรียกว่ารอบนี้มาเป็นงานเขียนฉบับค่อนข้างยาวเพื่อเป็นสร้างประกาย (จะเรียกว่า “ขายหัวข้อ” ก็ว่าได้) ให้ผู้สนใจได้ศึกษาต่อยอดต่อไป

1.0 THEME: Interventions: Communication Research and Practice

การประชุมครั้งนี้จัดภายใต้ธีม “Interventions: Communication Research and Practice” ซึ่งเน้นความสำคัญและบทบาทของการสื่อสารในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากวัตถุประสงค์ของการจัดงานซึ่งมุ่งศึกษาบทบาทของการสื่อสารในการ “แทรกแซง” (intervene) ซึ่งในที่นี้ได้แก่ การเปลี่ยน การปรับ และการทำให้เกิดการผันแปร (disrupt) ของสถานการณ์การสื่อสารในบริบทต่าง ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (structure – เช่น ในสถาบันทางสังคม การเมืองการปกครอง หรือโครงสร้างในอุตสาหกรรมสื่อ) และการสร้างวาทกรรม

การศึกษาวิจัยการสื่อสารในบทบาทด้าน “การแทรกแซง” เปิดโอกาสให้นักวิชาการได้ทำการสำรวจถึงขอบเขตของนิยาม ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ต่อการมองปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และการดำเนินยุทธวิธีทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอันหลากหลาย (ซึ่งในหลายกรณีดูเหมือนจะไม่มีทางบรรจบหรือพบกันในจุดยืนได้) ในมุมมองที่แตกต่างออกไป และหาโอกาสที่จะประสานและสร้างความเป็นไปได้ในการสื่อสารหรือการอยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล

การแทรกแซงเชิงการสื่อสาร (Communication Interventions) ทั้งในเชิงการศึกษาวิจัยและการประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ อันเป็นธีมหลักของการประชุมครั้งนี้จะทำให้นักวิชาการผู้เข้าร่วมได้เข้าใจถึงข้อมูลเชิงลึกจาก “เสียง” อันแตกต่างหลากหลาย แนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร ความเข้าใจเชิงลึกเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างบทสนทนา การอภิปรายเชิงวิชาการที่ลึกและกว้างมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้เกิดการปรับมุมมอง (reframing) ต่อปรากฏการณ์การสื่อสารต่าง ๆ ได้อย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะนำไปสู่การออกแบบการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อ “รับมือ” “ปรับ-เปลี่ยน” และ “ผันแปร” ผลกระทบต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศเชิงการสื่อสาร ในบริบทต่าง ๆ ของการสื่อสาร เช่น สถาบันทางการเมืองและสังคม การสื่อสารระหว่างกลุ่มวัฒนธรรม การสื่อสารในองค์กร การสื่อสารผ่านพื้นที่สื่อใหม่หรือสื่อดิจิทัล รวมถึงการสื่อสารเชิงสุขภาพและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

2.0 ภาพรวมของการประชุม ICA 2017

ในภาพรวม การประชุม ICA 2017 นี้ประกอบไปด้วยการนำเสนอผลงานของนักวิชาการและวิชาชีพด้านการสื่อสารจาก 31 กลุ่มความสนใจ (Divisions) จำนวน 645 sessions (นับเฉพาะช่วงวันที่ 25-29 พฤษภาคม ไม่รวมช่วง pre-conference) และมีผลงานวิชาการกว่า 3,000 ชิ้น มีนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 4,000 คนจากทั่วโลก เรียกได้ว่า ทุก ๆ เบรค ก็จะได้เห็นนักวิชาการเดินขึ้นลงชั้น 2-3-4 ในโรงแรมเกือบห้าดาวขนาดใหญ่มากอย่าง Hilton Bayfront San Diego เพื่อเข้าร่วมฟังการนำเสนอในธีมที่ตนเองสนใจกันอย่างขวักไขว่เลยทีเดียว

ในการประชุมครั้งนี้ กลุ่มประเด็นการศึกษา (unit) ที่เกี่ยวข้องกับวาทนิเทศยังคงเป็นประเด็นหรือหัวข้อการวิจัยที่นักวิชาการระดับนานาชาติให้ความสนใจศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาหัวข้อผ่านเว็บไซต์ https://www.icahdq.org ร่วมกับ online application (ทาง ICA ได้ออกแบบ app ไว้เพื่อผู้ร่วมการประชุมสามารถศึกษาหัวข้อได้ก่อนล่วงหน้าเป็นเวลาร่วมเดือน และหากสนใจ สามารถดาวน์โหลดบทคัดย่อพร้อม paper ได้ด้วยเช่นกัน) ผู้เขียนพบว่ามีการศึกษาตัวแปรใหม่ ๆ ด้วยวิธีการใหม่ ๆ มากมายซึ่งไม่สามารถกล่าวถึงได้หมด แต่ในที่นี้ จะกล่าวเพียงบางส่วนที่เป็น trend อาทิ

กลุ่ม Interpersonal Communication เน้นการสื่อสารเชิงอารมณ์มากขึ้นในบริบทความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างครอบครัว (เช่น การสื่อสารความตึงเครียด การสื่อสารเชิงอวัจนภาษากับความสัมพันธ์ในครอบครัว การสื่อสารความเป็นแม่ในเชิงเรื่องเล่าไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การสื่อสารของพ่อแม่กับความสามารถในการสื่อสารแบบเชิญหน้าและผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ของลูก) หรือระหว่างคนสนิท (เช่น การสนับสนุนทางอารมณ์ การสื่อสารในภาวะความเจ็บป่วยรุนแรง) การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในความสัมพันธ์อันเปราะบาง รวมถึงการสื่อสารในบริบทสุขภาพทั้งกาย อารมณ์และจิต และการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์

กลุ่ม Intercultural Communication เน้นการปรับตัว/การพัฒนาความสามารถในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมโดยใช้สื่อใหม่ การปรับตัวข้ามวัฒนธรรมและการหาข้อมูลเชิงสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งอาศัยในต่างวัฒนธรรม การสร้างเครื่องมือในการเล่าเรื่องเพื่อสร้างจิตสำนึกเชิงวัฒนธรรม แนวทางการสอนเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างวัฒนธรรม วาทกรรมและการสื่อสารในประเด็นเปราะบางเชิงอำนาจและการเมือง การวิเคราะห์สื่อสารความคิดแง่ลบ/การนินทาของกลุ่มคนในวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงวิธีวิจัยในการสื่อสาร

กลุ่ม Intergroup Communication เน้นการศึกษาอัตลักษณ์เชิงการสื่อสารและการสื่อสารเพื่อแสดงอัตลักษณ์ การสื่อสารด้วยอคติ ความลำเอียงระหว่างกลุ่ม การใช้แนวทางสุนทรียสนทนา (dialogue) เพื่อสื่อสารในสังคมที่มีกลุ่มอัตลักษณ์อันหลากหลาย การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ ประเด็นศึกษาค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์ความเปราะบางทางการเมืองและศาสนา รวมทั้งการสื่อสารเชิงสุขภาพ

กลุ่ม Instructional and Developmental Communication เน้นการพัฒนาตัวผู้สอน การใช้กลวิธีต่าง ๆ ทั้งรูปแบบและสื่อเทคโนโลยีในการสอน การพัฒนาผู้เรียนที่มีความหลากหลาย เช่น ระดับการเปิดเผยตัวตนของผู้สอนเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้เรียนในการสอนทางสื่อออนไลน์ การใช้โปรแกรมออนไลน์เพื่อฝึกทักษะการสื่อสารในที่สาธารณะ การนำเทคนิคการเล่าเรื่องมาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งอันซับซ้อน การใช้สื่อละครใบ้ในการสอนการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์

กลุ่ม Linguistics and Social Interaction เน้นการวิเคราะห์วาทกรรมทางการเมืองและวาทกรรมเพื่อสังคม การใช้สัญลักษณ์ ภาษา ปฏิบัติการทางวาทกรรมเพื่อเจรจาต่อรอง เพื่อแบ่งเขาแบ่งเราในประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอย่างการวิจารณ์การแสดงในการประกวด การให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่จะฆ่าตัวตายผ่านสื่อออนไลน์ การยื่นคำร้องของผู้รับการรักษาพยาบาลต่อแพทย์เพื่อเปลี่ยนวิธีการรักษา นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มศึกษาปฏิบัติการทางวาทกรรมบนพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น ตามท้องถนน บนโต๊ะอาหาร ในศาล หรือบนสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นด้วย

หรือผลงานจากกลุ่มความสนใจซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างกลุ่ม Communication Science and Biology ประกอบไปด้วยนักวิจัยเชิงทดลองจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ (เช่น MIT, Stanford, Cornell, Michigan State U) ซึ่งสนใจการรับรู้การสื่อสารกับระบบทางกายภาพของบุคคล เช่น ระบบการทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบการทำงานของดวงตา เป็นต้น มหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้เน้นการวิจัยการสื่อสารแบบสหวิทยาการและได้ทำการพัฒนาห้อง lab ที่ทันสมัยเพื่อวิจัยการตอบสนองของอวัยวะร่างกายมนุษย์กับการสื่อสารโดยเฉพาะ

นอกประเด็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับศาสตร์วาทนิเทศดังที่กล่าวมา ยังมีการศึกษาการสื่อสารของมนุษย์อื่น ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Health Communication กลุ่ม Communication and Technology และกลุ่ม Mobile Communication อยู่อีกร่วม 400 ชิ้น รวมถึงหัวข้อการศึกษาทางวาทนิเทศอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถพบได้ในกลุ่มความสนใจที่ศึกษาเฉพาะอย่าง Political Communication, Feminist Scholarship, Ethnicity and Race in Communication รวมถึง LGBT and Queers Studies

สำหรับกลุ่มความสนใจด้านการสื่อสารในองค์กร (Organizational Communication Division – การสื่อสารระดับกลุ่มรวมอยู่กับกลุ่มความสนใจนี้ด้วย) ที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกอยู่นั้น มีภารกิจในการศึกษาความเข้าใจ กระบวนการ ความเป็นไปได้ในอนาคต รวมถึงความท้ายทายในการสื่อสารและการบริหารจัดการองค์กรประเภทต่าง ๆ (ทั้งองค์กรแสวง/ไม่แสวงผลกำไร องค์กรรัฐ/ไม่ใช่องค์กรรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรแบบเสมือน องค์กรประเภทต่าง ๆ ที่ทำงานรวมกันในโครงการ รวมไปถึงองค์กรประเภทสาธารณสุข) ดังนั้น จึงมุ่งเน้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด ทฤษฎีซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจประเด็นดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาการสื่อสารเพื่อการบริหารจัดการในทางปฏิบัติ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.icahdq.org/group/orgcomm)

การศึกษาการปรากฏการณ์การสื่อสารองค์กรนั้นสามารถทำได้หลายระดับตั้งแต่จุลภาค ไปถึงมหภาค รวมไปถึงการศึกษาวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมในองค์กร การสื่อสารเชิงอารมณ์ การสื่อสารระหว่างผู้นำกับผู้ตาม การเจรจาต่อรอง กระบวนการกลุ่มและการตัดสินใจ กระบวนการหล่อหลอมคนเข้าสู่องค์กร อำนาจและอิทธิพลในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร การใช้ภาษาและสัญลักษณ์ อัตลักษณ์และการแสดงตัวร่วมของพนักงานในองค์กร การบริหารจัดการความขัดแย้ง การรับและการปรับใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร การสร้างเครือข่าย และการเกิดองค์กรรูปแบบใหม่ ๆ เป็นต้น

ในการประชุม ICA 2017 มี sessions ในธีมต่าง ๆ ให้เข้าร่วมกว่า 20 sessions ทั้งเพื่อร่วมฟังการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ร่วมอภิปราย ร่วมกันพัฒนาหัวข้อการวิจัยเกือบ 150 ชิ้น แต่ละ sessions ล้วนแต่มีความใหม่ มีความเข้มข้นทางวิชาการอันน่าสนใจ ลักษณะการจัดการประชุมวิชาการใน ICA Conferenceของ Organizational Communication Division สามารถแบ่งได้เป็น 6 ลักษณะ i ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป คือ Panel, Top Papers, Roundtable Discussion, B.E.S.T. (Brief Entertaining Scholarly Talk – การนำเสนอผลงานวิจัยฉบับย่อภายในเวลา 5 นาทีอย่างสร้างสรรค์และชวนติดตาม), Research Escalator และ Interactive Poster (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมท้ายเอกสาร) เนื่องด้วย “ปริมาณ” และ “ความหลากหลาย” ของประเด็นศึกษาและลักษณะการประชุม ผู้เขียนพยายามจัด “ตารางเรียน” อย่างสุดความสามารถที่จะวิ่งเข้าห้องนี้ ออกจากห้องนี้ไปห้องนั้น วิ่งเข้าห้องน้ำ (รวมทั้งวิ่งหากาแฟด้วย) เพื่อเข้าร่วมฟังการนำเสนอให้ได้มากที่สุด และได้สรุปทิศทางประเด็นการศึกษาวิจัยที่ตั้งข้อสังเกตได้จากการประชุมดังรายละเอียดในหัวข้อถัดไป

3.0 ประเด็นศึกษาวิจัยทางวาทนิเทศในองค์กรในการประชุม ICA 2017

ประเด็นการศึกษาวิจัยทางวาทนิเทศในการประชุม ICA 2017 ยังคงประกอบไปด้วยประเด็นคลาสสิคที่มีการศึกษากันอย่างต่อเนื่อง เช่น:

การสื่อสารระหว่างผู้นำและผู้ตาม ทั้งในระดับกลุ่มและระดับองค์กร ตัวอย่างเช่นหัวข้อ “Shared and Hierarchical Leadership Through Authoring” ซึ่งได้รับการประเมินให้เป็นผลงานวิชาการระดับ Top Paper ในครั้งนี้ ศึกษาเกี่ยวกับการใช้รูปแบบผู้นำร่วม (มีคนนำและตัดสินใจมากกว่า 1 คน) ในองค์กร ศึกษาความสัมพันธ์แบบพึ่งพา (interrelationship) ระหว่างคนที่เป็นผู้นำ รูปแบบการสื่อสารในการนำ (ผู้วิจัยเรียกว่า discursive devices) และความกำกวมที่เกิดขึ้นว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร หรือหัวข้อการศึกษาใน session จุดประกายอย่าง B.E.S.T. จำนวน 9 หัวข้อ ภายใต้ธีม Leadership, Managers and Employees ที่ศึกษาความสามารถในการสื่อสารทั้งในงานและการสร้างความสัมพันธ์ของหัวหน้าทีมในบริบทการทำงานปัจจุบันซึ่งผ่านสื่อเทคโนโลยี การบริหารจัดการพนักงานที่เป็น Bad Apples การกล่าวรายงานหรือ “ข้อแก้ตัว” ของผู้ใต้บังคับบัญชาในรูปแบบต่าง ๆ การสื่อสารขององค์กรในการเปลี่ยนแปลง เช่น การลดขนาดองค์กร การสื่อสารกับพนักงานปฏิบัติการซึ่งเป็นผู้สูงวัยใกล้เกษียณเพื่อให้พวกเขาใช้ประสบการณ์ในการพัฒนาองค์กร เป็นต้น

รวมไปถึงการสื่อสารอัตลักษณ์ของหรือการสื่อสารอัตลักษณ์ระหว่างกลุ่มคนประเภทต่าง ๆ ในองค์กรเช่น ผู้บริหารระดับสูงเพศหญิง กลุ่ม LGBT ผู้หญิงรูปร่างใหญ่ และในองค์กรประเภทเฉพาะอย่างผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ทำลายสภาพแวดล้อม การสื่อสารเชิง CSR เช่น การสร้างแนวคิดเชิงทฤษฎี (อันซับซ้อน) ของการสื่อสารเชิง CSR ในบริบทสังคมที่มีลักษณะเฉพาะอย่างประเทศจีน การสื่อสารเพื่อทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรเข้ามามีส่วนในกระบวนการสื่อสารเชิง CSR การทำความเข้าใจมุมมองของผู้รับสารต่อผลกำไร การต่อรองเชิงอำนาจ และคุณธรรมจริยธรรมขององค์กรผ่านการสื่อสารเชิง CSR ขององค์กร การสื่อสารเพื่อจัดการองค์ความรู้ในองค์กร เช่น การพิจารณาถึงองค์ประกอบอันซับซ้อนของจัดการเครือข่ายเพื่อแบ่งปันความรู้ การสื่อสารเพื่อบูรณาการความรู้ที่มีการแบ่งปันไปสู่การพัฒนานวัตกรรม การสื่อสารเพื่อแบ่งปันความรู้ (tacit vs explicit) ในกระบวนการแก้ไขปัญหาในเครือข่ายออนไลน์ของทีมนักคิดในองค์กร  การสื่อสารในองค์กรประเภทการแพทย์และสาธารณสุข น่าสนใจว่าเป็นการศึกษาแนวทางปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์หรือวาทกรรมในองค์กร เช่น การสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติพยาบาลผู้ป่วยกับบุคลากรของโรงพยาบาลโดยวิเคราะห์จากมุมมอง “โลกคือละคร” (dramaturgy) การสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือในทีมผู้ปฏิบัติพยาบาลจากมุมมองเชิงโครงสร้าง (structuration) การสื่อสารองค์กรในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การสื่อสารขององค์กรประเภท NGO ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาคมโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อม การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ขององค์กรประเภทไม่แสวงผลกำไรเพื่อช่วยเกษตรกรให้ปรับตัวกับภาวะโลกร้อน การสื่อสารในองค์กรระหว่างวัฒนธรรม เช่น การวิพากษ์และเสนอแนวคิดใหม่ต่อทฤษฎี Effective Intercultural Workgroup Communication  ค้นหาคุณลักษณะของผู้ตามที่มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การสื่อสารเชิงอารมณ์ระหว่างวัฒนธรรมทั้งด้านที่ไม่พึงพอใจและอารมณ์ขันในยุคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า เป็นต้น ทั้งหมดนี้ไม่นับรวมหัวข้อที่เสนอในช่วง Research Escalator  เรียกได้ว่า “มากมาย” และ “หลากหลาย” อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 การศึกษาการสื่อสารองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารถือเป็น “ประเด็นร้อนที่สุด” เพราะการปรากฏและนำเข้าเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในองค์กรได้นำ “การเปลี่ยนแปลงเชิงการสื่อสาร” ที่ทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติการในองค์กรต้องเรียนรู้และศึกษาเพื่อจะสามารถวางแผนรับมือกับผลที่จะตามมา (consequences) ได้อย่างรอบคอบและรัดกุม เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

4.0 เทคโนโลยีการสื่อสาร ในฐานะ “ตัวแปรแทรกแซง” ในการศึกษาวิจัยทางวาทนิเทศในองค์กร

เทคโนโลยีการสื่อสารถือเป็น “ตัวแปรแทรกแซง” ที่นักวิชาการด้านวาทนิเทศและสื่อสารองค์กรในปัจจุบันกล่าวถึงและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ รูปแบบ อิทธิพล รวมถึงผลกระทบเชิงการสื่อสารทั้งในระดับ micro meso และ macro ของการนำเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์เข้ามาใช้ในการสื่อสารทั้งภายกลุ่มทำงาน ในองค์กร ภายใน/ระหว่างเครือข่ายขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารดังกล่าวหรือที่นักวิชาการการสื่อสารเรียกว่า Materiality (Nonhuman Agency) ยังส่งผลกระทบต่อการทบทวนและต่อยอดทฤษฎีสื่อสารองค์กรอย่าง Communicative Constitution of Organizations (หรือ CCO) ซึ่งศึกษา (การประกอบสร้าง) ความเป็นองค์กรจากกระบวนการการสื่อสาร (organization as communication) ดังที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงเพียงรายละเอียดโดยสังเขปต่อไปนี้

4.1 ประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับ Networks and Social Media กับการสื่อสารองค์กรระดับต่าง ๆ

ดังที่ท่านผู้อ่านพอจะสังเกตได้บ้างจากการอ่านหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า การศึกษาทางวาทนิเทศจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องกับตัวแปรด้านเทคโนโลยีในการสื่อสาร ผู้เขียนประเมินว่าผลงานวิชาการด้านวาทนิเทศในองค์กรมากกว่าร้อยละ 80 เกี่ยวข้องหรือทำการศึกษาตัวแปรโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในองค์กรทั้งในระดับระหว่างบุคคล ระดับกลุ่ม ระดับองค์กรและระหว่างองค์กร และมีการจัด B.E.S.T. 1 session เต็ม ๆ เพื่อจุดประกายในธีม Networks and Social Media อย่างเจาะจง ตัวอย่าง “คำถามในการศึกษา” ที่เกิดขึ้นจากตัวแทรกแซงนี้ เช่น:

ในระดับกลุ่ม มีการตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อสร้างทีมและสร้างความร่วมมือในการทำงานอย่าง Crowdsourcing ถือเป็นการทำให้เกิดภาวะชายขอบที่มีบางคนถูกใช้/ไม่ถูกใช้ หรือว่าแท้จริงเป็นการคัดสรรคนเข้าทีมวงในอย่างมีกลยุทธ์ (Marginality or Strategic Selection?)  หรือการตั้งคำถามในหัวข้อ “Little Words and Big Goals” ว่า ในการสื่อสารระดับกลุ่มผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ หัวหน้าทีมมี “ข้อจำกัด” จากในการพิมพ์ข้อความในพื้นที่อันจำกัดและเงื่อนไขของเวลาที่จำกัด เช่นนี้ การสื่อสารของระหว่างทีมจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ว่ามีส่วนในการสร้างการรับรู้เชิงอัตลักษณ์ทางศีลธรรม หรือช่วยเพิ่มต้นทุนทางสังคมให้ตนเองหรือไม่ อย่างไร และมีผลต่อประสิทธิภาพของงานและความผูกพันต่อองค์กร/การแสดงตัวร่วมกับองค์กรหรือไม่ อย่างไร

ในระดับองค์กร มีการตั้งคำถามถึง “ความย้อนแย้ง” ของผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการทำงาน กล่าวคือ แม้การอนุญาตใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการทำงานจะเอื้อต่อการบริหารจัดการตนเองของพนักงาน และทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ในงานผ่านช่องทางดังกล่าว กระนั้นมันกลับเป็นช่องทางที่ “สร้างแรงกดดัน” กล่าวถึงทำให้เพื่อนร่วมงานสามารถเข้าถึง สั่งงานหรือสื่อสารในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้นหรือไม่

4.2 ประเด็นศึกษา Materiality กับทฤษฎี Communicative Constitution of Organizations

แนวคิด Materiality หมายถึง วิถีหรือแนวทางที่วัตถุได้รับการประกอบสร้างความหมายบางอย่าง (inscribed artifacts) นำเสนอข้อมูลหรือ “สาร” บางประการเกี่ยวกับ “วิธีใช้” หรือ “เหตุใดมันถึงถูกใช้” ในฐานะ “วัตถุแห่งการสื่อสาร” (objects of communication) การศึกษา “Communication and Materiality” เป็นการทบทวนถึงคำถามว่าเรา “เข้าใจ” วัตถุ (ในที่นี้คือ Objects, Sites and Bodies) ในฐานะสารอย่างไร โดยในการทำความเข้าใจสารที่ประกอบมากับวัตถุนั้น ผู้ศึกษาต้องพิจารณาถึงรูปลักษณ์ เนื้อหาหรือความหมายและผลกระทบซึ่งวัตถุนั้นได้รับการตีความและสร้างความเข้าใจด้วย (Mark et al, 2011)

ในมุมมองของนักวิชาการ เทคโนโลยีการสื่อสาร นับเป็น Materiality ประเภทหนึ่งซึ่งประกอบสร้างความหมาย ก่อให้เกิดการตีความ และสร้างผลกระทบ/ผลลัพธ์ (effects & affordances) ต่อการสื่อสารในชีวิตมนุษย์รวมถึงในองค์กร (นักวิชาการใช้ทั้งคำว่า effects และ affordances ซึ่งหมายถึง โอกาสที่การกระทำหนึ่งจะมีผลต่อสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ เช่น การเปิดรับข้อความผ่านเครือข่ายเฟซบุ๊กในแต่ละวันซึ่งผู้คนอันคาดเดาไม่ได้จะสามารถเข้าถึงชีวิตเราได้ หรือการโพสต์ข้อความบางอย่างซึ่งผู้รับสารคือเพื่อนอันหลากหลาย ไม่เจาะจงจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแผนหรือแนวทางการสื่อสารหรือการใช้ชีวิตในวันนั้น ซึ่งผู้ส่งสารอาจจะไม่สามารถกำหนดหรือประเมินผลลัพธ์ได้ทั้งหมด) ดังนั้น นักวิชาการด้านการสื่อสารจากมุมมองของสำนักคิด Interpretive และโดยเฉพาะสำนักคิด Critical จึงสนใจศึกษา “แนวทางในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร” ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการทางวาทกรรม (discursive practice) อย่างหนึ่ง

สำหรับทฤษฎี Communicative Constitution of Organizations (ต่อไปนี้จะเรียก CCO) มีรากฐานมาจากศาสตร์ด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา แนวคิดทฤษฎีสำคัญ เช่น Structuration Theory ของนักสังคมวิทยาชื่อ Anthony Giddens นักวิชาการด้านวาทนิเทศในสำนักนี้จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของการสื่อสารในระดับจุลภาค (micro) ซึ่งได้แก่ ปัจจัยบุคคล/ด้านจิตวิทยา ทั้งการสื่อสารความคิด เหตุผล อารมณ์ ผ่านภาษา อวัจนภาษาและสัญลักษณ์ประเภทต่าง ๆ และระดับมหภาค (macro) ซึ่งได้แก่ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ปัจจัยด้านค่านิยม อุดมการณ์ นโยบาย โครงสร้างการบริหารจัดการต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองการศึกษาการสื่อสารขององค์กรในเชิงระบบ (Systems Theory) นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับทั้ง วัตถุที่กระทำการสื่อสาร (Materiality) และ หลักการ/แนวคิดที่กระทำการสื่อสาร (Ideality)

ปัจจุบันมีกลุ่มนักวิชาการอย่างน้อย 3 สำนักคิด 2 ที่ศึกษาและพัฒนาทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์การสื่อสารในองค์กรในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป โดยความเชื่อพื้นฐานที่นักวิชาการทฤษฎี CCO ทั้ง 3 สำนัก มีร่วมกันคือ การประกอบสร้าง “ธรรมนูญ” หรือหลักการพื้นฐานในการสื่อสาร หรือชุดความคิด/ความเชื่อเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารขององค์กรเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทฤษฎีในการศึกษาสื่อสารขององค์กร นอกจากนี้ การสื่อสารเป็นกระบวนการสำคัญในการทำให้องค์กรเกิดขึ้น ดำรงอยู่ได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยน

เมื่อพิจารณาแนวคิด Materiality หรือ Nonhuman Agency ดังที่กล่าวมา นักวิชาการที่ศึกษาทฤษฎี CCO จึงมา “ประชุมโต๊ะกลม” หรือ Roundtable Discussion ระหว่างนักทฤษฎีกับนักปฏิบัติ เพื่ออภิปรายและพัฒนาทฤษฎีให้มีความครอบคลุมปรากฏการณ์การสื่อสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น และ “ปรึกษาหารือทางวิชาการ” ใน B.E.S.T เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำแนวคิด Materiality และ CCO ไปใช้ในการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์/ปรากฏการณ์การสื่อสารต่าง ๆ เช่น:

การพิจารณา 3 ประเด็นคำถามเกี่ยวกับข้อตกลงพื้นฐานทางทฤษฎี CCO (ontological premises) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือแทรกแซงแนวทางปฏิบัติของผู้ที่ทำงานในองค์กร ได้แก่ (1) องค์กรและการสื่อสารมีความเทียบเท่ากันหรือไม่ (องค์กรคือการสื่อสาร และการสื่อสารคือองค์กรใช่หรือไม่) (2) ผู้กระทำการสื่อสารที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human entities) มีส่วนในการประกอบสร้างหลักการซึ่งเป็นแนวทางการสื่อสารขององค์กรใช่หรือไม่ และ (3) องค์กรคือเครือข่ายที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ทางการสื่อสารต่าง ๆ (communicative events) เข้าด้วยกัน และเครือข่ายนี้มีความสามารถในการผลิตซ้ำตัวเองและอยู่ได้ด้วยตัวเอง (autopoietic) ใช่หรือไม่

การตั้งคำถามถึงเงื่อนไขของการเกิด “การเปลี่ยนแปลง” ขององค์กร คำถามนี้มีเป้าหมายเพื่อพิจารณาว่า “เมื่อไร” จะ “ถึงเวลา” ที่องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขดังกล่าวอาจเกิดจากการเรียกร้องของสมาชิกองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้องค์กรมีการบริหารจัดการ (mobilize) เพื่อตอบสนองต่อความสนใจ ความคาดหวัง และจัดการแรงกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงคือการปรากฏ (presence) ของเนื้อหาการสื่อสารขององค์กร (organizational messages) บนสื่อสาธารณะ (public media) เพราะเมื่อฝ่ายบริหารจัดการขององค์กรได้สื่อสารไปแล้ว สมาชิกภายในองค์กรจะถือเป็นข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ บุคคลภายนอกองค์กรก็จะคาดหวังและกดดันให้องค์กรปฏิบัติตามสิ่งที่ได้สื่อสารออกไปเช่นเดียวกัน

การตั้งคำถามในเชิง “การเมือง” “การต่อรองความหมาย” ของการใช้เครื่องตอบรับอัตโนมัติต่าง ๆ ในองค์กร โดยวิเคราะห์/วิพากษ์ว่าสถานการณ์การสื่อสารใดบ้างที่เราใช้มนุษย์สื่อสาร และในบริบทใดบ้างที่เราใช้กลไกอัตโนมัติ  “เสียง” ของกลไกอัตโนมัติสะท้อนเพศ เชื้อชาติ ค่านิยม อุดมการณ์ หรือนโยบายอะไรและเพราะเหตุใด รวมทั้งองค์กรกำลังสื่อสารอัตลักษณ์ในด้านใดผ่านแนวทางการบริหารจัดการระบบอัตโนมัติเหล่านั้น

การวิเคราะห์บทสนทนาระหว่างทีมแอดมินในเฟซบุ๊กกรุ๊ปหรือในกลุ่มชุมชนออนไลน์ขององค์กร เพื่อค้นหาองค์ประกอบต่าง ๆ ที่นำไปสู่การประกอบสร้างหรือสร้างข้อตกลงบางอย่างร่วมกันขององค์กร

จากการเข้าร่วมทั้ง Roundtable Discussion และ B.E.S.T. ในธีม Networks and Social Media ผู้เขียนสังเกตว่านักวิชาการที่สนใจเข้าร่วมมีจำนวนมากและไม่สามารถอภิปรายเพื่อหาคำตอบกันได้อย่างถึงใจในเวลาอันจำกัด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเด็นการศึกษานี้จะยังคงมีผู้สนใจอยู่อย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในองค์กรเป็นตัวแปรที่ชัดเจนมากซึ่งมีบทบาทและส่งผลต่อผลกระทบต่อผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ ขององค์กรในขณะนี้

บทสรุปและบทชวนไปร่วม ICA 2018

การเดินทางไปร่วมการประชุมวิชาการครั้งนี้ (ซึ่งเป็นรอบที่ 3 แล้ว) ทำให้ผู้เขียนตระหนักและประจักษ์ชัดถึงโลกแห่งวิชาการการสื่อสารอันกว้างใหญ่ ทำให้ได้เห็น “ประเด็น” การศึกษาและแนวทางการวิจัยอันสร้างสรรค์และหลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อได้ศึกษาจากผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัลระดับ Top Papers ของแต่ละกลุ่มความสนใจ อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขียนบทความนี้ เวลาผ่านมาเกือบเดือนแล้ว ได้ศึกษาเอกสารงานวิจัยมากขึ้นแล้ว ก็ยังบังเกิดความรู้สึกว่า “ย่อยไม่ทัน” อยู่ดี ผู้เขียนจึงอยากใช้พื้นที่นี้ในการ “หาแนวร่วม” เพื่อนำความรู้จากเวทีระดับนานาชาติมาพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารโดยเฉพาะสาขาวาทนิเทศในบ้านเรา

ข้อดีประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนของเครือข่าย ICA คือ มีกรอบเวลาในการดำเนินงานและการจัดการประชุม รวมถึงมีระบบการสื่อสารที่ชัดเจน กล่าวคือ ในแต่ละปี ผู้บริหารเครือข่ายจะประกาศรับผลงานวิจัย หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Call for Papers: CFP ผ่านระบบออนไลน์ (เว็บไซต์ https://www.icahdq.org) ราว ๆ เดือนสิงหาคม และปิดรับผลงานประมาณสิ้นเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะส่งผลงานให้ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละกลุ่มความสนใจพิจารณา และประกาศผล รวมถึงเปิดรับลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ประมาณกลางเดือนมกราคมของปีถัดไป (ซึ่งคือปีที่จะจัดการประชุม และผู้ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายจะสามารถสมัครเข้าร่วมการประชุมได้ในราคาพิเศษ) ในช่วงนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่มากเพียงพอรวมทั้งมีเจ้าหน้าที่บริการตอบคำถามและให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ สำหรับนิสิต นักศึกษาที่ได้รับการพิจารณาให้นำเสนอผลงานในการประชุม ICA แต่มีข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ในการเดินทาง สามารถเขียนความจำเป็นความยาวไม่เกิน 5-7 บรรทัดเพื่อขอทุนสนับสนุนการเดินทางซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาให้ทุนในวงเงินที่แตกต่างกันไปตามความจำเป็น (สมัยที่ผู้เขียนเป็นนิสิตปริญญาเอก ก็เคยได้รับทุนสนับสนุนราว ๆ 500-600 เหรียญสหรัฐ) และการประชุมวิชาการจะจัดขึ้นประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม หรือสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน

การประชุมวิชาการครั้งถัดไป ICA 2018 จะจัดขึ้นที่ดินแดนแห่งปราสาท โบสถ์วิหาร และสถาปัตยกรรมยุโรปในยุคกลางอย่างกรุงปราก (Prague) ประเทศสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2561 ภายใต้ธีม “VOICE” หวังว่าจะมีโอกาสได้พบปะกับสมาชิกเครือข่ายวาทนิเทศบางคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ด้วยเช่นกันนะคะ

รายการอ้างอิง

  • Cooren, F. (2004). Textual Agency: How Texts Do Things in Organizational Settings. Organization 11, 3: 373-393. DOI: 10.1177/1350508404041998
  • Aakhus, M., Ballard, D., Flanagin, A. J., Kuhn, T., Leonardi, P., Mease, J., & Miller, K. (2011). Communication and Materiality: A Conversation from the CM Café. Communication Monographs 78, 4: 557-568. DOI: 10.1080/03637751.2011.618358
  • McPhee, R. D., & Zaug, P. (2008). The communicative constitution of organizations: A framework for explanation. In Building Theories of Organization: The Constitutive Role of Communication, pp. 21-47. Routledge Taylor & Francis Group. DOI: 10.4324/9780203891025
  • Schoeneborn, D., Blaschke, S., Cooren, F., McPhee, R. D., Seidl, D., & Taylor, J. R. (2014). The Three Schools of CCO Thinking: Interactive Dialogue and Systematic Comparison. Management Communication Quarterly 28, 2: 285-316. DOI: 10.1177/0893318914527000

1 International Communication Association หรือ ICA เป็นเครือข่ายเชิงวิชาการด้านการสื่อสารระดับนานาชาติซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการชั้นนำด้านการสื่อสารร้อยกว่าประเทศทั่วโลก ICA ดำเนินการจัดการประชุมเชิงวิชาการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีภายใต้โครงความคิด (ธีม-Theme) ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้ง ศรีอัษฎาพร ที่แนะนำให้ผู้เขียนเข้าร่วมและเสนอผลงานวิจัยระดับปริญญาเอกผ่านทางเครือข่ายวิชาการนี้

2 สำนัก McPhee’s Four Flows ซึ่งมีรากฐานจากทฤษฎี Structuration, สำนัก Montreal และสำนัก Luhmann ซึ่งมีรากฐานจากทฤษฎีระบบทางสังคม (Social Systems)

i1 Panel ได้แก่ การนำเสนอผลงานวิชาการฉบับเต็ม คนละ 15-20 นาที session ละประมาณ 4 หัวข้อ/Panel หัวข้อต่างๆ จะถูกจัดไว้ภายใต้ Theme ซึ่งศึกษาตัวแปรลักษณะเดียวกัน/บริบทใกล้เคียงกัน หลังจากนั้น ผู้อ่าน (Respondents) จะวิพากษ์ผลงานแต่ละชิ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถาม แสดงความคิดเห็น บรรยากาศค่อนข้างเป็นทางการ

i2 Top Papers เป็นการนำเสนอผลงานจำนวน 4 ชิ้น ที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีคุณภาพสูง กล่าวคือ มีประโยชน์ทั้งในทางวิชาการ (เชิงการพัฒนาทฤษฎี) และวิชาชีพ มีความใหม่ มีระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสม และมีแนวทางการอภิปรายที่คมชัดในการตอบคำถามนำวิจัยและการต่อยอดการศึกษาในอนาคต

i3 Roundtable Discussion เป็นการประชุมเชิงหารือเกี่ยวกับแนวคิด หรือแนวทางการพัฒนาทฤษฎี ผู้นำเสนอจะทำหน้าที่ทั้งเสนอความคิดและร่วมเป็น facilitator เพื่อให้ผู้ฟังช่วยกันพัฒนาข้อเสนอทางวิชาการ ลักษณะการสื่อสารจะเป็นแบบสองทาง

i4 B.E.S.T. หรือ Brief Entertaining Scholarly Talk ได้แก่ การนำเสนอผลงานวิชาการฉบับย่อ (ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นการจุดประกายงานวิจัย) ที่อยู่ภายใต้ Theme เดียวกัน ผู้นำเสนอมีเวลานำเสนอคนละไม่เกิน 4.5 นาที ในแต่ session จะมี 9-10 หัวข้อ หลังจากนั้น จะมีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย และ Respondent แต่ละกลุ่มจะ comment จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถามและเสนอความคิดเห็น บรรยากาศจะไม่ค่อยเป็นทางการและมีความเป็นกันเองสูง (ผู้ฟังจะมีโอกาสสัมผัสนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระยะใกล้ชิด)

i5 Research Escalator เป็นการนำเสนอผลงานของนักวิจัยหน้าใหม่ หรือนักวิชาการที่ยังมีประสบการณ์น้อย ผู้จัดจะจัดผู้เชี่ยวชาญในสาขา หัวข้อ หรือตัวแปรนั้นๆ หรือเป็นบรรณาธิการบริหาร (editor-in-chief) หรือบรรณาธิการร่วม (co-editor in-chief) ของวารสารด้านการสื่อสารนานาชาติชั้นนำ เช่น Management Communication Quarterly, Communication Theory หรือ International Encyclopedia of Organizational Communication จำนวน 2 ท่านมาเป็น mentor ประกบกับ ผู้นำเสนอ 4 คน เพื่อช่วยพัฒนาหัวข้อ การเลือกใช้แนวคิดทฤษฎี แนวทางการเก็บข้อมูลวิจัย รวมถึงแนวทางการเตรียมงานเขียนเพื่อการตีพิมพ์อย่างเข้มข้น ข้อดีที่ชัดเจนที่สุด คือ ผู้ที่เป็น mentor มักจะเป็นบรรณาธิการของวารสารวิชาการในหัวข้อนั้นๆ และจะชี้จุดที่ต้องพัฒนารวมถึงให้คำแนะนำได้อย่างชัดเจน

i6 Interactive Poster Session ได้แก่ การนำเสนอผลงานวิชาการผ่าน Poster ในช่วงพักกลางวัน ผู้นำเสนอผลงานจะทำหน้าที่ตอบคำถามแก่ผู้สนใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถแสดงทัศนะ อภิปราย และโต้ตอบได้อย่างกว้างขวาง

Featured Image: A Photograph by Rawpixel.com in Pexels
Header Image: A Photograph by 김정훈 in Pixabay

Papassara Chaiwong
Papassara Chaiwong
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปภัสสรา ชัยวงศ์ - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและเอกจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับวาทวิทยา ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านการสื่อสารในองค์กร การสื่อสารระหว่างบุคคลในบริบทต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีกับการสื่อสารของมนุษย์