แนวโน้มการศึกษาวาทวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์
ปภัสสรา ชัยวงศ์
ในงาน CU Expo 2017 ภายใต้ธีม “จุฬาฯ 100 ปี: นวัตกรรม คิด ทำ เพื่อสังคม” เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ทางภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนิสิตเก่ารุ่นต่างๆ ของภาควิชาฯ ก็ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอ “นวัตกรรม คิด ทำ เพื่อสังคม” ผ่าน 14+ หลักสูตรทางวาทนิเทศและสื่อสารการแสดง (รับชมภาพบรรยากาศได้ทางเฟซบุ๊ก Speech Communication Network) ที่ผู้ร่วมการฝึกอบรมต่างพร้อมใจกันให้คอมเม้นท์ว่า “ดีและฟรี…มีในโลก” เพื่อบริการประชาชนและตอบแทนพระคุณของแหล่งเรียนมา
หนึ่งในหลักสูตรเมล็ดพันธุ์แห่งนวัตกรรมซึ่งบรรดานักวิชาการจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้มาเล่าสู่กันฟัง คือ เนื้อหาในการเสวนา “แนวโน้มการศึกษาวาทวิทยาในยุคโลกาภิวัตน์” โดย รองศาสตราจารย์ เมตตา วิวัฒนานุกูล หัวหน้าโครงการวิจัยเป็นผู้นำเสนอหลัก ตัวผู้เขียนก็ได้รับโอกาสร่วมนำเสนอด้วยบางส่วนในฐานะผู้วิจัยร่วม และหากเวลาจะเอื้ออำนวย ผู้เขียนตั้งใจว่าจะได้สรุปเรื่องราวตามคำเรียกร้องมาแชร์ให้รับชมในโอกาสถัดไป สำหรับพื้นที่ส่วนนี้ ผู้เขียนขอคัดสรรเนื้อหาเฉพาะส่วนที่สอดคล้องกับเรื่องแนวโน้มการศึกษาวาทนิเทศในมิติที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร (อันเป็นธีมประจำปีของผู้เขียน) มานำเสนอ ณ โอกาสนี้
1.0 นิยามและขอบเขตการศึกษา:
หัวใจสำคัญของศาสตร์วาทวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่สุดในทางนิเทศศาสตร์ คือ การศึกษาการสื่อสารของมนุษย์ผ่าน “สื่อบุคคล” โดย เมตตา วิวัฒนานุกูลและคณะ (2560) ได้อธิบายว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการใช้ความคิด ในการใช้ภาษา อวัจนภาษาและสัญลักษณ์ต่างๆ ในการสื่อสารความคิด วาทวิทยาจึงมุ่งศึกษาหลักการพูดและการแสดงออกซึ่งเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นสำคัญ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมต่างๆ ในโลก อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ก็มีการวิวัฒน์ไปตามกาล หากกล่าวถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงในระบบมหภาค ทฤษฎีการสื่อสารเชิงระบบ (systems theory in communication) อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ที่อยู่ในระบบย่อยในระดับถัดๆ มา ดังที่เคยกล่าวถึงบ้างในบทความก่อนหน้า อาทิ การเปิดรับวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกซึ่งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์เข้ามาในสังคมไทยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้อาวุโสในสังคมไทยเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่มากขึ้นกว่าสมัยก่อน หรือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งสามารถส่งข้อความกันได้อย่างรวดเร็วโดยแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงความคิดเห็นรวมไปถึงการตัดสินใจในบางกรณี ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ในองค์กรซึ่งประกอบไปด้วยคนรุ่นอายุต่างๆ ต้องหันมาสนใจเครื่องมือสื่อสารประเภทนี้ ต้องเรียนรู้การใช้แอพลิเคชั่นต่างๆ การพิมพ์ข้อความ การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ฉะนั้น การศึกษา “การสื่อสารของมนุษย์ผ่านสื่อเทคโนโลยีในศาสตร์ด้านวาทวิทยา” จึงมุ่งเน้นอธิบาย 1) พฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ระหว่างมนุษย์ผ่านสื่อเทคโนโลยีเพื่อวัตถุประสงค์และในบริบทต่างๆ ของการสื่อสาร รวมไปถึงอธิบาย 2) ความสัมพันธ์ระหว่าง/ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสารต่อพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ในระดับ/บริบทต่างๆ เช่น ระดับระหว่างองค์กรกับองค์กร องค์กรกับลูกค้า ระดับภายในกลุ่ม/ระหว่างกลุ่ม ระดับระหว่างบุคคล รวมไปถึงระดับภายในตัวบุคคลดังที่ได้กล่าวถึงมาบ้างในบทความก่อนหน้า และสร้างแนวทางการพัฒนา 3) วิธีคิดและทักษะการสื่อสาร (ความสามารถในการสื่อสาร) ระหว่างมนุษย์ผ่านสื่อเทคโนโลยีฯ แต่จะไม่ได้หมายรวมถึงการสื่อสารผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารมวลชน (mass communication)
2.0 สถานภาพการจัดการการเรียนการสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารในหลักสูตรทางวาทวิทยา:
งานวิจัยเรื่อง “แนวโน้มการศึกษาวาทวิทยาในยุคโลกาภิวัตน์” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพการเรียนการสอนทางวาทวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน รวมถึงแนวโน้มการศึกษาทางวาทวิทยาในประเทศไทย ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งการศึกษาเอกสารซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ 1 การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงปริมาณ การสัมภาษณ์เชิงลึกนักวิชาการและผู้บริหารหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์และวาทวิทยาทั้งชาวไทยและต่างชาติ การสำรวจด้วยแบบสอบถาม รวมถึงการสนทนากลุ่มจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา และผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดแรงงานเป้าหมาย ดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2559
ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอกด้านเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนหลักสูตร/แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนในด้านนิเทศศาสตร์และศาสตร์วาทวิทยาทั้งในโลกตะวันตก ในกลุ่มประเทศอาเซียนและในประเทศไทย ดังตัวอย่างต่อไปนี้:
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยบางแห่งซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ เช่น University of Illinois, Urbana- Champaign และ University of Michigan, Ann Arbor มีการปรับชื่อภาควิชา จากเดิมใช้ชื่อ Department of Speech Communication ไปเป็น Communication Studies หรือใกล้เคียงเพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการการสื่อสารของมนุษย์ ความก้าวหน้าทางสื่อและเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงานในวงการต่างๆ นอกจากนี้ การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งมีการขยายขอบเขตของเนื้อหาหลักสูตรจาก “การเน้นเฉพาะศาสตร์ทางวาทนิเทศและการสื่อสารของมนุษย์” ไปถึงการศึกษาสื่อ (media studies) และการสื่อสารผ่านสื่อ (mediated communication) ทั้งในมิติการศึกษาทฤษฎี (theory) การวิจัย (research) และการประยุกต์ใช้ (applied) โดยรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตรปริญญาตรี เน้นปฎิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี และผลกระทบของเทคโนโลยีต่อรูปแบบการสื่อสารและความสัมพันธ์ของมนุษย์ (เช่น วิชา Online Communication and Personal Relationships, Technology and Human Interaction) เน้นความรู้ด้านความสามารถในการอ่านข้อมูล (information literacy) และความเข้าใจความสัมพันธ์ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะสื่อใหม่ต่อการสื่อสารและวัฒนธรรม หรือแม้แต่วิชาด้านวาทศาสตร์ ก็ครอบคลุมสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เช่น วิชา Rhetoric of New Media, Rhetoric and Technology) ขณะที่ ในหลักสูตรปริญญาโท รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของมนุษย์กับสื่อเทคโนโลยีจะไปปรากฏอยู่ในกลุ่มวิชาต่างๆ เช่น รายวิชาด้านวาทศาสตร์กับสื่อและเทคโนโลยี ในกลุ่มวิชาวาทศาสตร์ (Rhetoric) หรือ รายวิชาด้านสื่อและเทคโนโลยี ในกลุ่มวิชาที่แบ่งตามประเด็น (Thematic) หรือรายวิชาด้านเทคโนโลยีกับการพัฒนาความสัมพันธ์/การทำงาน ในกลุ่มวิชาที่แบ่งตามระดับการสื่อสาร (Levels)
ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเช่นเดียวกันประเทศไทย มี 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำติด 25 อันดับแรกของโลก คือ National University of Singapore (NUS) และ Nanyang Technology (NTU) ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยนี้ ใช้ชื่อคณะว่า School of “Communication and New Media” (NUS) School of “Communication and Information” (NTU) และ “Communication Studies” (NTU) ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์และวาทนิเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารโดยตรงทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
ในประเทศไทย ในส่วนของการศึกษานิเทศศาสตร์ระดับปริญญาตรี การจัดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์และศาสตร์วาทวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารยังมีจำกัดเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทั้ง 25 แห่ง โดยพบว่า จนถึงปัจจุบัน คณะนิเทศศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัยเปิดรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวาทวิทยา โดยใช้ชื่อ “การสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัล” “การสื่อสารผ่านสื่อใหม่” หรือ “การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์/ออกแบบสื่อสารออนไลน์” แต่สาระสำคัญของรายวิชาดังกล่าวมุ่งเน้นการสื่อสารผ่านสื่อแบบบูรณาการในบริบทการสื่อสารเพื่อธุรกิจ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ เป็นหลัก
นอกจากนี้ รายวิชาเกี่ยวกับสื่อและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่คณะต่างๆ ในด้านนิเทศศาสตร์ ได้เปิดสอนมักเน้นความเข้าใจถึงผลกระทบของสื่อและเทคโนโลยีต่อการสื่อสารของมนุษย์ หรือการรู้เท่าทันสื่อใหม่ (new media literacy) ขณะที่รายวิชาสำหรับวิชาเอกหรือโท มักเน้นการนำสื่อและเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ มาใช้ในการผลิตหรือการนำเสนอ มากกว่าการฝึกหรือพัฒนาทักษะของผู้เรียนในการสื่อสารผ่านสื่อและเทคโนโลยี (computer-mediated communication skills)
สำหรับภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นภาควิชาแรกและภาควิชาเดียวที่จัดการเรียนการสอนศาสตร์ด้านวาทวิทยาเป็นวิชาเอกทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาได้พัฒนารายวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น การสร้างสรรค์เชิงวาทศาสตร์บนสื่อใหม่ การสื่อสารสาธารณะในวัฒนธรรมดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศกับการสื่อสารในองค์กร เป็นต้น
3.0 สภาพการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและแนวโน้มการจัดการการเรียนการสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารในหลักสูตรทางวาทวิทยา:
แม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะมีการเปลี่ยนแปลง ก้าวหน้าไปมากเพียงใดในยุคโลกาภิวัตน์ มนุษย์ก็ยังคงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นหลักในการสื่อสาร อีกทั้งยังคงเป็นผู้พัฒนาความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์และพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเข้าไปมีส่วนพัฒนาสถาบันทางสังคม องค์กรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับ “Employment, Skills, and Human Capital Global Challenge Insight Report” จัดทำโดย World Economic Forum ในปี 2015 ซึ่งกล่าวว่า “ทุนมนุษย์” (Human capital) เป็นทรัพยากรที่สำคัญมากที่สุดโดยเฉพาะในยุคท่ามกลางความเจริญเทคโนโลยี และหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากต่อการประกอบอาชีพ คือ ทักษะการคิดและการสื่อสาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของศาสตร์ด้านวาทวิทยา และยังสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21″ 2 ซึ่งระบุว่าผู้เรียนในสังคมยุคใหม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน “ทักษะ 3R+4C” โดย 3R ได้แก่ Reading (การอ่าน) WRiting (การเขียน) และ ARithmetic (คณิตศาสตร์) และ 4C ได้แก่ Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์) Communication (การสื่อสาร) Collaboration (การร่วมมือ) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) นอกจากนี้ ผู้เรียนยังต้องได้รับการฝึกฝนทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ด้วย
นอกจากนี้ ผลสำรวจแนวโน้มการศึกษาด้านวาทวิทยาในต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร พบว่า
- ศาสตร์นี้ยังคงมีแนวโน้มได้รับความสนใจสูงต่อไปในอนาคตแต่จะมีการเปลี่ยนแพลทฟอร์มการสื่อสาร ดังปรากฎกระแสการพูดในที่สาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น รายการ TEDx Talk โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์ด้วยกันและเผยแพร่แรงบันดาลใจนั้นไปทั่วโลก
- มนุษย์ที่คุ้นชินกับการใช้ประดิษฐกรรม การสื่อสารผ่านสื่อเทคโนโลยีมาต่อเนื่องยาวนาน สามารถผลิต เข้าถึงและรับข้อมูลสารสนเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว และต้องพึ่งพาสื่อเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และประสิทธิผลในด้านต่างๆ ของชีวิต จะ “โหยหา” สิ่งที่เป็น “ของแท้” และ “สัมผัสมนุษย์” (Human Touch) คือ ต้องการ “พลังและความอบอุ่น” จากการสื่อสารแบบต่อหน้า (face-to-face) มากกว่าการสื่อสารกับสิ่งประดิษฐ์ซึ่งตอบสนองได้อย่างอัตโนมัติเหล่านั้น ดังที่ปรากฏในคำบรรยายของ Dr. Stefan Wess ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI หรือ Artificial Intelligence) ซึ่งได้กล่าวไว้ในงาน “Creativities Unfold 2016: Exit” จัดโดย Thailand Creative & Design Centre (TCDC) เมื่อ 29 ตุลาคม 2559
- ในขณะที่ ผู้คนในสังคมต่างก็เปิดรับข้อมูลอันมากมายจากแหล่งข้อมูลอันหลากหลาย (Big Data) พวกเขากลับพบว่าตนมีข้อจำกัดในการ “ย่อย” ข้อมูลเหล่านั้น และต้องการ “สื่อบุคคล” ผู้จะทำหน้าที่ในการอ่าน คัดกรอง และสรุปเล่าเรื่องหรือสรุปข้อมูลสื่อต่างๆ ที่ตนเปิดรับ ดังปรากฏการณ์ที่ว่าผู้รับสารในองค์กรปัจจุบันมักชอบให้ผู้ส่งสาร “เล่าให้ฟัง” มากกว่าที่จะอ่านข้อมูลนั้นเอง
เช่นเดียวกับผลการสนทนากลุ่มของกลุ่มตัวอย่างผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรชั้นนำของไทยที่มองว่า แม้บุคลากรรุ่นใหม่ที่เข้าสู่องค์กรในยุคปัจจุบันจะมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร แต่ทักษะสำคัญที่พวกเขาควรมี คือ ทักษะการฟังอย่างมีวิจารณาญาณ การวิเคราะห์สถานการณ์การสื่อสารและผู้เกี่ยวข้องในการสื่อสาร รวมทั้งความสามารถในการออกแบบสารหรือข้อความ รวมทั้งการเลือกใช้สื่อหรือช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงวัฒนธรรมขององค์กร
จากสภาพการณ์ดังที่กล่าวมา เมตตา วิวัฒนานุกูล และคณะ (2560) เสนอว่า แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนวาทวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์ มีจุดเน้นสำคัญในการพัฒนา “สื่อบุคคล” ให้เป็นผู้สื่อสารที่มีทักษะและมีประสิทธิภาพ (skilled communicator) โดยทำให้บุคคล
- ตระหนักและเข้าใจถึงอิทธิพลกระแสโลกาภิวัตน์ อันส่งผลต่อนิยามและขอบเขตการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงและมีพื้นที่ซ้อนทับกับศาสตร์ด้านอื่นๆ หรือนิเทศศาสตร์เชิงสหสาขา (interdisciplinary)
- ตระหนักและเข้าใจถึงพื้นที่การสื่อสาร หรือ “แพลทฟอร์ม” อันหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์ เข้าถึงการสื่อสารแบบการหลอมรวมสื่อ (media convergence)
- สามารถออกแบบสาร/เนื้อหา (message and content design) และสื่อสาร (message and content delivery) บนแพลทฟอร์มอันหลากหลายเหล่านั้น
ซึ่งผู้อ่านคงต้องติดตามกันต่อไป ว่าหลักสูตรหรือรายวิชาต่างๆ เหล่านั้น จะหน้าตาเป็นอย่างไรกัน
4.0 บทสรุป:
การได้รับโอกาสจาก รศ.เมตตา วิวัฒนานูกูล เข้าร่วมโครงการศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง “แนวโน้มการศึกษาวาทวิทยาในยุคโลกาภิวัตน์” ทำให้ผู้เขียนได้เห็น “ระยะห่าง” และ “ช่องว่าง” มากมายระหว่างองค์ความรู้ที่ปรากฏและเกิดจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 25 แห่ง กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย “ระยะห่าง” และ “ช่องว่าง” แม้จะเพียงรางๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาศาสตร์ด้านวาทวิทยาเพื่อทั้งตอบสนองและชี้นำผู้คนที่ใช้ชีวิตในบริบทต่างๆ ในสังคมไทยปัจจุบันได้ โดยในเบื้องต้น เราคงต้องเริ่มจากการสำรวจสถานภาพการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของมนุษย์ผ่านสื่อเทคโนโลยีในศาสตร์ด้านวาทวิทยากันเสียก่อน เพื่อจะสามารถ “ชี้” ให้เห็น “ระยะห่าง” และ “ช่องว่าง” กันชัดๆ ทั้งในมิติของการศึกษาทฤษฎี การวิจัย และการประยุกต์ใช้ เพื่อเราจะ “ไปต่อ” ในการพัฒนารายวิชา อันจะนำพาผู้คนในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการสื่อสาร การทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และประสิทธิผลต่อไป
รายการอ้างอิง
- เมตตา วิวัฒนานุกูล, ปภัสสรา ชัยวงศ์, Daradirek Ekachai, และ Nittaya Campbell. (2560). แนวโน้มการศึกษาวาทวิทยาในยุคโลกาภิวัตน์. รายงานการวิจัย (เงินสนับสนุนหมวดเงินนอกงบประมาณแผ่นดินประจำปีการศึกษา 2559). คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดพิมพ์).
1 วิเคราะห์หลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีชื่อเสียงด้านนิเทศศาสตร์ระดับโลก (QS World University Ranking, 2015) และระดับประเทศซึ่งรวมถึงวาทวิทยา (Speech Communication) และวาทศาสตร์ (Rhetoric) จากสถาบันต่างๆ รวม 25 แห่ง
2 เกิดจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนอกวงการการศึกษา ประกอบไปด้วยบริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ (เช่น Apple, Microsoft, Walt Disney) องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ ซึ่งรวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills)
Header Image: A Photograph by Charles Forerunner in Unsplash