parallax background

การวิจัยเชิงเอกสารด้านวาทวิทยา: กรณีศึกษางานวิจัยเรื่องวาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย

การวิจัยเชิงเอกสารด้านวาทวิทยา: กรณีศึกษางานวิจัยเรื่องวาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย

ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร


จากทีได้เคยเกริ่นนำเบื้องต้นไปถึงเครื่องมือการวิจัยที่เรียกว่าการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ในฐานะวิธีการที่มีบทบาทในการศึกษาด้านวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง เพราะไม่เพียงแต่การวิเคราะห์ ประเมิน ให้คุณค่า หรือกระทั่งสังเคราะห์ หาความหมายหรือการตีความและวิพากษ์เอกสารในรูปลักษณะทางกายภาพ เช่น สิ่งพิมพ์หรือหนังสือตามที่เราอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปเท่านั้น การวิจัยเอกสารหมายรวมถึงการศึกษาความหมายที่ปราฏกอยู่ของผลผลิตทางการสื่อสารต่างๆ รอบตัว ซึ่งผู้วิจัยอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งที่มาต้นทางโดยเฉพาะที่เป็นบุคคล หรือกระทั่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบการวิจัยเชิงประวิติศาสตร์ให้เห็นถึงสถานการณ์แวดล้อมช่วงเวลาที่ผ่านมาในอดีตที่ไม่ใช่แค่เพียงดูว่ามีใครเขียนถึงเหตุการณ์ไหนในอดีตไว้ว่าอย่างไร

ในคราวนี้จึงจะขอยกตัวอย่างการศึกษาวิจัยทางวาทวิทยาของรองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท ผู้มีบทบาทในการศึกษาวาทวิทยาในประเทศไทยในฐานะที่ชี้นำให้เห็นความสำคัญของการศึกษาวิจัยกลวิธีและความคิดที่บุคคลใช้สื่อสารในสังคมโดยกระตุ้นให้วงการศึกษาตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ระหว่างผู้นำ ผู้ตาม อำนาจและการเมืองการปกครองและบริบทอื่นๆ ของผู้คนผ่านการสื่อสาร โดยหนึ่งในวิธีการศึกษาวิเคราะห์วิจัยปรากฏการณ์ต่างๆ ที่รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ปิลันธน์โอวาทเลือกใช้คือการวิจัยเอกสารสำคัญประกอบกับวิธีการวิจัยอีกหลายรูปแบบ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างงานวิจัย 3 ชิ้น อันได้แก่ 1. “วาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์” (อรวรรณ, 2542) 2. “วิวัฒน์วาทวิทยาสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย” (อรวรรณ, 2543) และ 3. “กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับกรณีศึกษาไทย: มุมมองหนึ่งจากนิเทศศาสตร์” (อรวรรณ, 2546)

ทั้งนี้จะขอกล่าวรายละเอียดสรุปสาระสำคัญของงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นซึ่งมีจุดร่วมคือเน้นการใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสารเป็นเครื่องมือในการวิเคระห์ข้อมูล โดยสังเขปดังต่อไปนี้

งานวิจัยชิ้นแรก เรื่องวาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยที่ใช้วิธีการวิจัยเอกสารเป็นหลักในการศึกษาวิเคราะห์เห็นได้จากการรวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญของวาทวิทยาที่ปรากฏในหลักฐานประเภทต่างๆ ทั้งพงศาวดาร จดหมายเหตุ กฎหมาย หมายรับสั่ง บันทึกความจำ สิ่งตีพิมพ์ มีการรวมพระราชดำรัสและแนวคิดพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม อีกส่วนหนึ่งคือการคัดเลือกสุนทรพจน์ของนักพูดทั้งเชื้อพระวงศ์และสามัญชนเพื่อนำมาใช้กระบวนการวิเคราะห์ตัวบทและบริบท (Textual and Context analysis) โดยมีกรอบสำคัญในการวิเคราะห์คือสถานการณ์และบทบาทของวาทะแต่ละชิ้น ที่ผู้พูดใช้เพื่อสร้างความสนใจและการยอมรับจากผู้ฟัง

ข้อสรุปสำคัญจากการวิจัยชิ้นนี้คือสถานการณ์ที่ประเทศไทยประสบในสมัยกรุงธนบุรีคาบเกี่ยวสู่กรุงรัตนโกสินทร์ส่งผลให้ภาพรวมการใช้พระราชวจนะของกษัตริย์เป็นไปใน 12 ประการ 1. เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ 2. ทรงออกพระบรมราชโองการหรือแสดงออกด้วยพระราชจริยวัตรอื่นเพื่อประโยชน์ของราษฎรในยามปกติ 3. เพื่ออบรมสั่งสอนหลักการปกครองประเทศและปกครองตน 4. ใช้ในการเจรจาต่อรองโดยเฉพาะในระดับชาติ 5. เพื่อแสดงน้ำพระทัยที่เป็นธรรม 6. เพื่อทะนุบำรุงขวัญและกำลังใจประชาชน 7. เพื่อประสานความขัดแย้ง 8. เพื่อทะนุบำรุงศาสนา 9. เพื่อสอนจริยธรรม 10. เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประจำชาติ 11. เพื่อปลุกใจให้รักชาติ 12. เพื่อสนับสนุนให้สามัญชนรู้จักการแสดงความคิดเห็น

ขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ข้อสรุปการใช้วาทะของนักพูดที่มีชื่อเสียง 15 ท่าน นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 ในกรุงรัตนโกสินทร์ พบว่าสถานการณ์ที่นักพูดซึ่งมาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพต้องเผชิญนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้นักพูดแต่ละท่านมีกลยุทธ์ในการใช้วาทะที่ต่างกันไป 3 ประการได้แก่ 1. ในการพูดนักพูดแต่ละคนจะนำสถานการณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพูดด้วยและเน้นให้การพูดนั้นสอดคล้องไปกับสถานการณ์ 2. ผู้พูดแต่ละคนจะมีกระบวนการเตรียมตัวสร้างเนื้อหา (invention) โดยเฉพาะการค้นคว้าก่อนการพูดอย่างกว้างขวางทั้งจากประสบการณ์และวิจารณญาณตนเอง 3. กลยุทธ์ที่ผู้พูดแต่ละคนใช้แตกต่างกันไปตามลีลาเฉพาะบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเป็นความสามารถเฉพาะตนให้จดจำและส่งผลต่อการคล้อยตามของผู้ฟังด้วย

ลำดับถัดมาเป็นงานวิจัยเรื่อง วิวัฒน์วาทวิทยาสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย รศ.ดร.อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท ได้ระบุว่าเป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิวัฒนาการของวาทวิทยาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นยุคของวาทวิทยาสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยศึกษารูปแบบการสื่อสาร 3 รูปแบบ คือ การพูดต่อหน้าชุมชน การโต้วาที และการอภิปราย ใช้การสำรวจในบริบทแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และเทคโนโลยี ในช่วงต่างๆ ของประวัติศาสตร์คือ ยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยุคก่อน 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และยุคหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2544) ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้การอ้างถึงหลักการทางวาทวิทยาในสมัยกรีกโบราณว่าการพูดที่จะก้าวหน้าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ 1. การมีเสรีภาพในการพูด 2. มีวัฒนธรรมและการศึกษาระดับสูง 3. มีภาษาซึ่งสามารถแสดงโวหารคารมได้อย่างสละสลวยเหมาะสม และยังมองว่าเงื่อนไขในเรื่องของเสรีภาพในการพูดเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้วาทวิทยาในไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

วัตถุประสงค์ประการหนึ่งคือเพื่อสำรวจวาทะในรูปแบบของการพูดผ่านสื่อ รวมไปถึงการพูด การโต้วาทีในหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชน ไปจนถึงนักพูดมืออาชีพ นอกจากการศึกษาจากการรวบรวมเอกสาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวิวัฒนาการของวาทวิทยาในประเทศไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นอดีตนักพูด นักโต้วาที ที่เคยสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า

จากผลการวิจัยอาจกล่าวได้ว่า ปริบทมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดลักษณะของวาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย วาทวิทยาสมัยใหม่ของไทยเรื่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการพูดในที่ชุมชนอย่างมีระเบียบแบบแผน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปแบบของวาทวิทยาก็ก้าวหน้าขึ้นไปอีก ทั้งด้านทฤษฎีจากพระราชนิพนธ์และทรงมีพระราชดำรัสต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน หลังจากนั้นวาทวิทยาก็เริ่มเผยแพร่สู่ประชาชนในรูปแบบการพูดต่อหน้าชุมชน การโต้วาที และการอภิปราย เริ่มมีการศึกษาทางด้านวาทวิทยาโดยเริ่มจากพระราชวงศ์และขุนนางก่อนการก่อตั้งสามัคยาจารยสมาคมซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักปราชญ์ราชบัณฑิตในการปาฐกถาให้ความรู้แก่ประชาชน โดยผู้นำทางความคิดคนสำคัญทางวาทวิทยาในสมัยนันคือหลวงวิจิตรวาทการ หลังจากนั้นการพูดต่อหน้าชุมชนได้แพร่หลายออกไป ประชาชนมีปากเสียงมากยิ่งขึ้นในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริบททางการเมืองในสมัยนั้นๆ ด้วยว่า รัฐบาลมีความเผด็จการมากแค่ไหน มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นมากแค่ไหน

การศึกษาของรองศาสตราจารย์ อร.อรวรรณ ปิลันธน์โอวาทในปี 2544 ชิ้นนี้มีข้อสรุปว่าวาทวิทยาจำแนกรูปแบบออกเป็น 3 แนวทางคือ 1. เป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาถึงขั้นปริญญามหาบัณฑิต 2. รูปแบบการพูดต่างๆ มีการพัฒนาผ่านสื่ออย่างโทรทัศน์ มีการอภิปรายและการโต้วาที ทำให้การพูดเผยแพร่ไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น 3. วาทวิทยาสามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพได้ทั้งทางตรงที่ผ่านสื่อต่างๆและทางอ้อมในฐานะปฏิบัติการทางการสื่อสาร

งานวิจัยชิ้นท้ายสุด ที่จะขอกล่าวถึงคือ “กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับกรณีศึกษาไทย: มุมมองหนึ่งจากนิเทศศาสตร์” งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาวาทกรรมกับสังคม วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดวาทกรรมกับนิเทศศาสตร์ การประยุกต์ใช้ วาทกรรมกับการสื่อสารชนิดต่างๆ โดยศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับวาทกรรมของมิเชล ฟูโกต์ นักคิดชาวฝรั่งเศส ซึ่งเน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อุดมการณ์ ความเป็นใหญ่ ฟูโกต์ปฏิเสธการมีอยู่ของประธาน มองว่าวาทกรรมเป็นผู้สร้างประธาน วาทกรรมเป็นตัวสร้างสังคม มีอำนาจในการกำหนดว่าสังคมจะดำเนินไปรูปแบบใด ผนวกกับแนวคิดของนอร์แมน แฟร์คลัฟ นักภาษาศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่มองว่าประธานผู้สร้างวาทกรรมมีความสำคัญพอๆ กับที่วาทกรรมสร้างประธาน เพราะบทบาทของประธานหรืออัตลักษณ์หรือสถานภาพของปัจเจกย่อมติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดและก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ขณะที่ทำการสื่อสาร ซึ่งถือว่าแนวคิดของแฟร์คลัฟมีส่วนช่วยในการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของฟูโกต์อย่างมาก และแนวคิดของเติน แวน ดิจด์ นักภาษาศาสตร์ชาวดัชท์ ที่มองว่าวาทกรรมคือปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม มนุษย์แต่ละคนต่างมีความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมที่แตกต่างกันตามปริบทต่างๆ ที่แต่ละคนประสบมา เมื่อมีการสื่อสารเกิดขึ้น การใช้ภาษา คำ วลี ประโยคต่างๆ จะสะท้อนโลกทัศน์ ทรรศนะออกมา จึงกล่าวได้ว่าภาษาคือพฤติกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง

จากการศึกษาแนวคิดของนักคิดทั้ง 3 คน ได้นำมาสู่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมกับปริบท สหบท อำนาจ ความรู้ ความจริง อุดมการณ์ อัตลักษณ์ ความเป็นใหญ่ ปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรม จารีตปฏิบัติ การเก็บกดปิดกั้น การแสดงออกภายใต้กฎเกณฑ์และตรรกะชุดหนึ่ง ผ่านบทความและรูปแบบการสนทนาต่างๆ ในปริบทของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย ไปจนถึงวาทกรรมในสื่อสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยศึกษาวิธีการที่คู่สื่อสารใช้ประโยชน์จากวาทกรรมในบทสนทนาหรือบทความในสื่อมวลชนว่ามีลักษณะอย่างไร ผ่านทางกลยุทธ์การสื่อสารอย่างไร เพื่อให้เจตนาในการสื่อสารนั้นๆ บรรลุเป้าหมาย โดยบทความหรือการสนทนาที่นำมาเป็นตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ หลังจากวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อวรรรณ ครั้งนี้นำมาสู่การประมวลเป็นกรอบวาทกรรมวิเคราะห์ 5 กรอบ คือ 1. กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับวัจนปฏิบัติศาสตร์ 2. กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับวาทกรรมสถาบัน 3. กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับอัตลักษณ์ 4. กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับการเมือง 5. กรอบวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กรอบทั้ง 5 กรอบสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์วาทกรรมในงานวิจัยอื่นๆ ของบริบทไทยในเวลาต่อมาได้

จากตัวอย่างงานศึกษาวิจัยด้านวาทวิทยาที่ได้อาศัยเครื่องมือการวิจัยเอกสารเป็นสำคัญในการศึกษานี้ นำมาสู่การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนในศาสตร์ทางด้านวาทวิทยาในเวลาต่อมาอย่างมาก ไม่เพียงแต่เนื้อหาหรือประเด็นข้อค้นพบทางการศึกษาที่ได้จากแต่ละเรื่อง ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และเชิงปรากฏการณ์หรือเชิงวิพากษ์แต่ยังทำให้ได้เห็นเส้นทางความก้าวหน้าเจริญเติบโตของแนวคิดทฤษฎีเชิงวาทวิทยาตั้งแต่รากฐานจนมาสู่แนวคิดทฤษฎีสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ที่ยังคงมีประสิทธิภาพในการใช้อธิบายปราฏการณ์การสื่อสารของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  • อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท. “วาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์” รายงานการวิจัย. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2542.
  • อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท. “วิวัฒน์วาทวิทยาสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย” รายงานการวิจัย. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2543.
  • อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท. “กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับกรณีศึกษาไทย: มุมมองหนึ่งจากนิเทศศาสตร์” รายงานการวิจัย. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2546.
Featured Image: A Photograph by Lubos Houska in Pixabay
Header Image: A Photograph by Vojtech Okenka in Pexels

บทความอื่นจากผู้เขียน

Prapassorn Chansatitporn
Prapassorn Chansatitporn
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสื่อสารการแสดง ปริญญาโทในสาขาวาทวิทยา และปริญญาเอกในสาขานิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้านสื่อสารการแสดง วาทวิทยา และนิเทศศาสตร์กว่า 15 ปี ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์การแสดงและวาทวิทยาเข้าด้วยกัน และยังมีผลงานการแสดงตามสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ