ภาพพจน์วาทศิลป์กับการสร้างสรรค์บันเทิงคดีไทย (3)
ธนสิน ชุตินธรานนท์
ภาพพจน์วาทศิลป์ เป็นศิลปะการใช้ภาษาเพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพทางการสื่อสาร ในสื่อ บันเทิงคดีไทยการสร้างอารมณ์ความรู้สึกแก่ผู้รับสารนับเป็นเป้าประสงค์สำคัญที่ผู้ส่งสารต้องคัดสรร และ ออกแบบสารให้สัมฤทธิผลที่มุ่งหวังบังเกิดขึ้น วัจนสารนับเป็นสิ่งที่สื่อบันเทิงคดีส่วนใหญ่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นภาพพจน์วาทศิลป์อันหลากหลายจึงได้รับการหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบสาร ซึ่ง ภาพพจน์ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตายตัว หรือเป็นสมบัติของผู้ใดผู้หนึ่ง หากแต่เป็นสมบัติร่วม ของผู้สร้างสรรค์ที่จะนำมาใช้ในสารของตน ทั้งนี้ผู้ส่งสารที่มีความรู้ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อข้อจำกัดในการเลือกสรรกลวิธีต่าง ๆ มาใช้ในงานของตน
โวหารเล่นคำหลากความ (Zuegma) เป็นภาพพจน์วาทศิลป์อีกรูปแบบหนึ่งที่นักสร้างสรรค์สื่อบันเทิงคดีไทยนิยมใช้ในงานของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลง การ์ตูน กวีนิพนธ์ ตลอดจนบทละคร เหตุผลประการหนึ่งสืบเนื่องจากสื่อต่าง ๆ เหล่านี้มีระยะเวลาการนำเสนอที่จำกัดทั้งด้านพื้นที่ และเวลา ดังนั้นการเลือกใช้คำน้อยแต่กินความมาก จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้สารที่นำเสนอออกไปนั้นสามารถสร้างความเข้าใจให้ผู้รับสาร และก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว
ราชบัณฑิตยสถาน (2545) นิยาม “โวหารเล่นคำหลากความ” ว่า “การใช้คำคำเดียวกันในประโยคที่มีโครงสร้างเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน” ด้วยเหตุนี้การใช้โวหารเล่นคำหลากความ ผู้ใช้จำต้องมีความรู้แตกฉานทั้งทางด้านไวยากรณ์ ความหมายของคำ และอรรถลักษณ์ อีกทั้งรูปแบบการใช้โวหารลักษณะนี้ยังแตกต่างกันในแต่ละภาษาอีกด้วย เนื่องจากแต่ละภาษาย่อมมีระบบไวยากรณ์ที่ไม่เหมือนกัน ในบริบทของภาพพจน์วาทศิลป์ไทยพบว่าโวหารเล่นคำหลากความนั้น แตกต่างจากการเล่นคำเล่นเสียง เพราะการเล่นคำเล่นเสียงจะปรากฏในลักษณะการซ้ำคำพ้องรูปพ้องเสียง ซึ่งหมายความว่า คำดังกล่าวจะปรากฏมากกว่าหนึ่งครั้งในประโยคหรือวรรคนั้น ๆ และคำที่ปรากฏอาจทำหน้าที่ในประโยคแตกต่างกันก็ได้ อาทิ “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์” เป็นต้น แต่โวหารเล่นคำหลากความจะปรากฏคำกริยาหลักเพียงครั้งเดียวในประโยคนั้น ๆ ซึ่งคำ ๆ นั้นสามารถใช้ได้กับทั้งชุดคำนาม หรือนามวลี และสามารถใช้ได้ทั้งกับคำนามที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เช่น
“ก๊อก ก๊อก ก๊อก เปิดประตู เปิดออกดูว่าใครมา
ก็อยู่สบายแล้วนี่นา แล้วใครจะมาเปิดประตูหัวใจ”(เพลงประตูใจ วงสาว สาว สาว)
ผู้อ่านหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับบทร้องจากเพลงข้างต้น จะเห็นว่าในประโยคสุดท้ายของบทร้องที่ยกมานั้น กล่าวคือ “แล้วใครจะมาเปิดประตูหัวใจ” นับเป็นตัวอย่างของการใช้โวหารเล่นคำหลากความชัดเจน เมื่อพิจารณาประโยคดังกล่าวจะสามารถจำแนกได้ออกเป็นสองประโยคย่อย กล่าวคือ “ใครจะมาเปิดประตู” และ “ใครจะมาเปิดหัวใจ” แม้ว่าประโยคดังกล่าวจะเป็นคำถามเชิงวาทศิลป์ (rhetorical question) แต่เมื่อตรวจสอบโครงสร้างทางไวยากรณ์แล้วจะพบว่าทั้งสองประโยคนี้ถูกต้องตามหลักการทางวากยสัมพันธ์ กล่าวคือ ประธาน + สกรรมกริยา + สามานยนาม
ประเด็นที่ต้องพิจารณาถัดไป คือ ความหมายของคำว่า “เปิด” ซึ่งนำมาใช้กับคำนาม “ประตู” และ “หัวใจ” เมื่อตรวจสอบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 พบว่าคำดังกล่าว มีความหมายแรก หมายถึง “ทำให้สิ่งที่ปิดอยู่เผยออก เช่น เปิดประตู” และความหมายที่สองพบในลูกคำของเปิด กล่าวคือ “เปิดอก” หมายถึง “บอกความในใจอย่างไม่ปิดบัง” เมื่อพิจารณาความหมายข้างต้นจะพบว่า คำว่า “เปิด” นั้นมีหลายความหมาย และเมื่อนำมาใช้กับคำนามที่แตกต่างกันย่อมให้นัยยะที่ไม่เหมือนกันด้วย ในบทเพลงนี้จะเห็นว่าการใช้คำว่า “เปิดประตู” กับ “เปิดหัวใจ” เป็นการเปรียบเทียบที่สอดคล้องกับบริบทของตัวบท และเป็นการเล่นกับคำว่า “เปิด” เพียงคำเดียวซึ่งปรากฏหนึ่งครั้งในประโยคเดียว แต่มีความหมายหลากหลายขึ้นอยู่กับสามายนามที่มาต่อท้ายในโครงสร้างไวยากรณ์ กระนั้นการนำสามานยนามทั้งสองคำมาต่อในประโยคเดียวก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจของผู้รับสาร ซึ่งสามารถจำแนกความหมายได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากสอดคล้องกับไวยากรณ์ที่ยอมรับ และเข้าใจร่วมกันของผู้ใช้ภาษาไทย อีกทั้งยังช่วยให้ประโยคกะทัดรัดขึ้นอีกด้วย
การใช้โวหารเล่นคำหลากความ นอกจากจะพบในบทเพลงแล้ว ยังพบในบันเทิงคดีรูปแบบอื่น ๆ เช่นกัน เช่น
“บุคคลพึงเสพความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยทางด้านหลัง
ความร้อนจากไฟโดยทางด้านหน้า แต่เจ้านายโดยทุก ๆ ทาง”(พระยาอนุมานราชธน, 2537)
ข้อความที่ยกมาข้างต้นจากนิทานสุภาษิตเรื่องหิโตปเทศ ของเสถียรโกเศศ จะเห็นได้ว่าข้อความนี้เป็นไปตามโครงสร้างไวยากรณ์ ประธาน + สกรรมกริยา + นามวลี ซึ่งสามารถจำแนกได้สามข้อความ ได้แก่ “บุคคลพึงเสพความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยทางด้านหลัง” “บุคคลพึงเสพความร้อนจากไฟโดยทางด้านหน้า” และ “บุคคล(พึงเสพความร้อน)แต่เจ้านายโดยทุก ๆ ทาง” ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่าคำกริยาหลักของข้อความนี้ คือ คำว่า “เสพ” ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสถาน (2545) ให้อรรถาธิบายในข้อความข้างต้นว่า “คำว่า เสพ ที่ใช้กับแสงอาทิตย์ และไฟ มีความหมายว่ารับเอา (enjoy) ส่วนที่ใช้กับเจ้านาย มีความหมายว่าปรนนิบัติรับใช้ (serve)”
จะเห็นได้ว่า “ความร้อน” ที่เกิดแก่เจ้านายนั้น มีนัยยะของความเดือดร้อน หรือเรื่องอันผิดปกติวิสัยแห่งเจ้านาย ดังนั้นคำว่า “เสพ” ในที่นี้จึงมีความหมายมากไปกว่าการรับเอา อันเป็นความปรารถนาที่ก่อให้เกิดความสุขแก่บุคคล หากแต่เป็นการปรนบัติรับใช้ใน “ทุก ๆ ทาง” ที่จะทำให้เจ้านายสามารถผ่านพ้น “ความร้อน” ที่เกิดขึ้นได้ กระนั้นก็ดีจะเห็นได้ว่าในข้อความข้างต้นใช้คำกริยา “เสพ” เพียงคำเดียวแต่ขยายความให้เกิดจินตภาพขึ้นได้กับทั้งข้อความทั้งสามที่ปรากฏตามมา ซึ่งลักษณะนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการให้
คำน้อยแต่กินความมากอีกตัวอย่างหนึ่ง
กล่าวได้ว่าการใช้โวหารเล่นคำหลากความเป็นศิลปะการใช้ภาษาที่ผู้ส่งสารต้องเข้าใจในกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ และความหมายของคำ เช่นเดียวกันกับผู้รับสารที่จะต้องมีความเข้าใจในคำมากเพียงพอที่จะถอดรหัสความหมายนัยยะต่าง ๆ ซึ่งปรากฏผ่านคำเหล่านั้น อีกทั้งการใช้โวหารเล่นคำหลากความยังสัมพันธ์กับบริบททางสังคม และสะท้อนให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของผู้ใช้ภาษา และผู้สร้างสรรค์บันเทิงคดีในแต่ละวัฒนธรรมอีกด้วย
รายการอ้างอิง
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ–ไทย. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
- อนุมานราชธน, พระยา. (2537). หิโตปเทศ. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร.
- Fanestock, Jeanne. (2003). Rhetorical Figures in Science. New York: Oxford University Press.
Header Image: A Photograph by Tero Vesalainen on Pixabay