parallax background

ภาพพจน์วาทศิลป์กับการสร้างสรรค์บันเทิงคดีไทย (1)

ภาพพจน์วาทศิลป์กับการสร้างสรรค์บันเทิงคดีไทย (1)

ธนสิน ชุตินธรานนท์


สื่อบันเทิงคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบลายลักษณ์ เช่น วรรณคดี กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น ฯลฯ ล้วนจำต้องอาศัย “วัจนภาษา” เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดความคิดอันเป็นเป้าประสงค์ที่กวีปรารถนา ควบคู่ไปกับ “รสคำ” และ “รสความ” ที่จะช่วยเติมเต็มสีสันให้เกิดขึ้นแก่ผลผลิตนั้น ๆ แต่ละชนชาติย่อมมีข้อตกลง รูปแบบ หรือบรรทัดฐานของศิลปะการใช้ภาษาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเฉพาะกลุ่มว่าด้วย “ความงดงาม” แตกต่างกันไป ซึ่งมนุษย์แต่ละบุคคลก็สามารถสัมผัสความงดงามนั้น ๆ ได้ไม่เท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับจริต ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้สัมผัสโดยตรง รวมไปถึงความประณีตของจิตใจที่ได้รับการขัดเกลามาอย่างเป็นระเบียบ

การรังสรรค์สื่อบันเทิงคดีในหลายชนชาติล้วนอาศัย “ภาพพจน์วาทศิลป์ (rhetorical figure)”  เป็นกลวิธีสำคัญเพื่อจรรโลงความงดงาม ซึ่งภาพพจน์วาทศิลป์นี้มีหลายวิธีการ ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงวิธีการหนึ่งที่มักปรากฏอยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ “สมมุติภาวะ (apostrophe)” อันเป็น “ภาพพจน์ (figure of speech)” ประเภทหนึ่ง ซึ่งกวีไทยนิยมใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังปรากฏในสุภาษิตพระร่วง สืบต่อมากระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ดีผู้รับสารอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับภาพพจน์ประเภทนี้เท่าใดนัก

สมมุติภาวะ คือ การที่กวีกล่าวต่อสิ่งของ สิ่งที่เป็นนามธรรม บุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือแม้แต่บุคคลผู้ไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้น ๆ ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านั้นมีชีวิต หรือปรากฏตนอยู่ในสถานที่ดังกล่าว

ดังจะขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้

  1. การกล่าวต่อสิ่งของ เช่น

ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว
เกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี
จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ”

(เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน หน้า 397)

บทกลอนนางวันทองสั่งเรือน จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ข้างต้น นับว่าเป็นบทสัลปังคพิสัยที่ไพเราะมากบทหนึ่งของวรรณคดีไทย เนื้อความตอนนี้ว่าด้วยความโศกเศร้า และความอาวรณ์ของนางวันทองที่พรรณนาต่อพันธุ์ไม้อันดารดาษอยู่ที่นอกชานเรือนของขุนช้าง พิเคราะห์ผิวเผินแล้วก็ไม่ต่างจากบทรำพันอื่นใดที่แสดงถึงความเศร้าเสียใจ ทว่าเมื่อพิจารณาโดยแยบคายจะพบว่า กวีเลือกใช้คำว่า “เอ๋ย” ปรากฏถึงสองครั้งในกลอนบทเดียว ซึ่งคำว่าเอ๋ยนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายประการหนึ่งว่าเป็น “การร้องเรียกด้วยความเอ็นดู” ในขณะที่ในสื่อบันเทิงคดีสมัยใหม่ก็จะพบการใช้คำดังกล่าวเช่นกัน เช่น “ลูกเอ๋ย…นอนเถิดนอนเสียเจ้า (เพลงกล่อม ของพุ่มพวง ดวงจันทร์)” และ “ลูกอยากจะกลับบ้านแล้วแม่เอ๋ย…เจ็บจังเลยถูกคนเขาทำร้าย (เพลงพ่อจ๋าแม่เอ๋ย ของ แต้ ศิลา)” เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าคำว่า “เอ๋ย” เป็นคำที่มนุษย์ปุถุชนใช้กับบุคคลที่มีความรักความผูกพันเป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อกวีเลือกใช้คำว่า “เอ๋ย” จึงสะท้อนให้เห็นถึงความรักความผูกพันของนางวันทองที่มีต่อต้นไม้นานาชนิดในบ้านของขุนช้างอันเป็นที่อยู่อาศัยอย่างสุขสบายมาเนิ่นนาน เมื่อต้องจำใจจำจากสถานที่อันคุ้นเคย และเปี่ยมไปด้วยความผูกพันเช่นนี้ ย่อมเป็นการพลัดพรากอันโทมนัสอย่างยิ่ง อีกทั้งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในความรู้สึกของนางวันทองนั้น ต้นไม้เหล่านี้ไม่เพียงเป็นสิ่งที่ประดับประดาเรือนชานของขุนช้างเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประดับประดา และเติมเต็มลมหายใจของนางวันทองให้สมบูรณ์ด้วยเช่นเดียวกัน

  1. การกล่าวต่อสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น

“แล้วว่าอนิจจาความรัก
พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป
ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา”

(บทละครเรื่องอิเหนา หน้า 288)

บทประพันธ์ข้างต้นเป็นบทที่นางจินตะหราครวญเมื่อครั้งมีเหตุให้อิเหนาต้องมาลาจากนางไปช่วยรบที่เมืองดาหา บทพิโรธวาทังข้างต้นนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโกรธของจินตะหราต่อประเด็นที่อิเหนาจะจากตนเองไปเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาโดยพิสดารแล้วจะพบว่า กวีเลือกใช้คำว่า “อนิจจา” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามว่า “คำที่เปล่งออกมาแสดงความสงสารสังเวชเป็นต้น” นอกจากนี้คำว่าอนิจจา ยังเป็นคำทางพุทธศาสนาที่มีความหมายว่า “ไม่เที่ยง” ดังที่คนทั่วไปจะคุ้นเคยอยู่บ่อยครั้งเวลาไปงานสวดพระอภิธรรมศพ แล้วพระสงฆ์สวดพร้อมกันว่า “อนิจจา วต สังขารา…” ด้วยเหตุนี้ การที่กวีเลือกใช้คำว่า “อนิจจา” กับ “ความรัก” อันเป็นความรู้สึกซึ่งเป็นนามธรรม จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วความโกรธที่เกิดขึ้นแก่นางจินตะหราเป็นความโกรธ และความสังเวชตนไปพร้อม ๆ กันที่ตกหลุมพรางของความรักอันไม่เที่ยงแท้ ซึ่งส่งผลให้ตนเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอีกคำรบหนึ่ง เป็นความคับอกแค้นใจที่ไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้นการตัดพ้อในที่นี้จึงเป็นการตัดพ้อความรักเป็นสำคัญ ทำให้ความรักอันเป็นนามธรรมเปรียบประหนึ่งสิ่งมีชีวิตขึ้นมาทันที

  1. การกล่าวต่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว

          “หวังสิ้นชนม์ด้วยไข้ แก่แม่รา สิ้นชีพไท้ด้วยผี แก่แม่รา ในบุรีเราแม่ลูก แก่แม่รา แม่จะยาหยูกจงเต็มใจ แก่แม่รา ดังฤๅพ่อไปตายเมืองท่านม้วย แก่แม่รา ด้วยหอกตาวหลาวดาบ แก่แม่รา ด้วยกำซาบปืนยา ดังนี้”

(ชุมนุมเรื่องพระลอ หน้า 114)

ร่ายโบราณจากลิลิตพระลอที่ยกมานี้เป็นบทที่พระนางบุญเหลือคร่ำครวญภายหลังจากได้รับพระราชสาส์น และบรรณาการจากท้าวพิชัยพิษณุกรว่าพระลอได้สิ้นพระชนม์แล้ว ยังความโศกเศร้าแสนสาหัสแก่พระนางบุญเหลือซึ่งพระราชชนนี จากร่ายบทนี้จะเห็นว่าปรากฏคำว่า “แม่” ซึ่งหมายถึงตัวพระนางบุญเหลือ เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ปรากฏคำว่า “ลูก” แทนพระลอ เป็นสรรพนามบุรุษที่สอง เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าร่ายบทนี้เป็นการคร่ำครวญของพระนางบุญเหลือ ที่มีต่อพระลอ ซึ่งเสียชีวิตแล้วอยู่ที่เมืองอื่น กล่าวคือเมืองสรวง จะเห็นว่ากวีเลือกใช้คำสร้อยสลับวรรค “แก่แม่รา” เพื่อสร้างเอกภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ระบุว่าคำสร้อยดังกล่าวมีความหมายว่า “ให้แม่เห็น” ดังนั้นความที่ปรากฏในร่ายบทนี้ทั้งหมดจึงไม่เพียงเป็นการคร่ำควญอย่างน่าเวทนาเท่านั้น แต่เป็นการตัดพ้อพระลอควบคู่กันไปด้วยประหนึ่งว่าตัวพระลอนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ ประการสำคัญซึ่งนำความปวดร้าวมากที่สุดแก่พระนางบุญเหลือ คือการที่จำต้องรับรู้ว่าพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระนางนั้นสิ้นพระชนม์ด้วยศาสตราวุธ และลักษณาการอันรุนแรงเพียงใด เป็นโศกนาฏกรรมที่ทรมานหัวใจผู้เป็นมารดาในฐานะสตรีปุถุชนอย่างยิ่ง ดังนั้นการคร่ำครวญที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นการอาการที่พระนางแสดงออกโดยหวังที่จะให้พระลอได้รับรู้ความบอบช้ำ และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงภาพพจน์วาทศิลป์ในรูปแบบของสมมุติภาวะ ซึ่งปรากฏเด่นชัดในบันเทิงคดีไทย อีกทั้งนำเสนอวิธีการที่กวีนำสมมุติภาวะมาใช้รจนาวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความหมาย ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อย่างไรสมมุติภาวะ เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งสำหรับกวีเท่านั้น ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับของภาพพจน์วาทศิลป์ที่ต้องปรากฏอย่างสม่ำเสมอ

รายการอ้างอิง

  • ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. (2545). อ่านลิลิตพระลอ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
  • ศิลปากร, กรม. (2513). ชุมนุมเรื่องพระลอ. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพมหานคร: ศิวพร. (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางพะยอม ชวลิตธำรง 5 มีนาคม 2538).
  • ศิลปากร, กรม. (2543). บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร: จันทรานุกูลการพิมพ์.
  • ศิลปากร, กรม. (2545). เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน. พิมพ์ครั้งที่ 19. กรุงเทพมหานคร: อมรการพิมพ์.
  • Fanestock, Jeanne. (2003). Rhetorical Figures in Science. New York: Oxford University Press.

Featured Image: A Photograph by Sasin Tipchai in Pixabay
Header Image: A Photograph by Sasin Tipchai in Pixabay

Thanasin Chutintaranond
Thanasin Chutintaranond
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนสิน ชุตินธรานนท์ - สำเร็จการศึกษาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอุดมศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจด้านวาทนิพนธ์และละครการศึกษา ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และการสอนแบบละครเป็นฐานให้แก่องค์กรต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง