parallax background

ภาพพจน์วาทศิลป์กับการสร้างสรรค์บันเทิงคดีไทย (2)

ภาพพจน์วาทศิลป์กับการสร้างสรรค์บันเทิงคดีไทย (2)

ธนสิน ชุตินธรานนท์


บทความที่แล้วได้กล่าวถึงภาพพจน์วาทศิลป์ประเภท “สมมุติภาวะ” ซึ่งเป็นภาพพจน์ประเภทแรกที่พบได้บ่อยครั้งในสื่อบันเทิงคดีไทย ซึ่งช่วยส่งเสริมจินตภาพ และอารมณ์สะเทือนใจให้แก่ผู้รับสารอย่างแยบคาย ในบทความนี้จะขอนำเสนอภาพพจน์วาทศิลป์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นศิลปะการเรียงร้อยถ้อยคำเพื่อการสื่อสารให้บังเกิดผลตามที่ผู้ส่งสารปรารถนาอย่างละเมียดละไม และสร้างชั้นเชิงทางการสื่อสาร กล่าวคือ การใช้ “โวหารย้อนคำ”

โวหารย้อนคำ คือ รูปแบบการใช้ประโยคคู่ขนาน โดยกวี หรือผู้ส่งสารได้เรียบเรียงความคิดอย่างเป็นระบบ และประดิษฐ์นำเสนอข้อความโดยการสลับที่ถ้อยคำในชุดเดียวกัน ซึ่งในกรณีของร้อยกรองที่มีฉันทลักษณ์สามารถปรากฏทั้งในวรรคเดียวกัน บาทเดียวกัน หรือบทเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเน้นย้ำสารัตถะอย่างมีเอกภาพ และสร้างความสละสลวยคมคายให้แก่สาระที่นำเสนอ

ในบริบทของสื่อบันเทิงคดีไทย พบการใช้โวหารย้อนคำใช้อย่างกว้างขวางทั้งในตัวบทวรรณคดีไทย เพลงไทย ตลอดจนบทละครไทย ในที่นี้จะยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้

“อุทาหรณ์สอนเตือนผู้คน ว่าผู้หญิงในสังคมชั้นชน ต้องพลีกายพลีใจของตน สนองรับกฎเกณฑ์ทุรชน ไร้คนเห็นใจแม่วันทอง กลายเป็นหญิงใจสอง สองใจ ใครเล่าทำ”

(เพลงวันทอง โดย คนด่านเกวียน)

เนื้อเพลงที่ยกมาข้างต้นเป็นผลงานของศิลปินคนด่านเกวียน ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จะสังเกตได้ว่าผู้แต่งเลือกใช้โวหารย้อนคำในประโยคเดียวกันของเนื้อเพลง กล่าวคือ “กลายเป็นหญิงใจสอง สองใจ” โดยประโยคดังกล่าวมีการสลับที่ระหว่างคำว่า “ใจสอง” และ “สองใจ” ซึ่งในที่นี้จะมิได้พิจารณาในมิติของความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไทย แต่จะแสดงให้เห็นว่าการสลับถ้อยคำข้างต้นนี้มีมิติของความหมายที่สื่อสารต่อผู้รับสารอย่างไร

บทเพลงนี้สะท้อนชีวิต และชะตากรรมของ นางวันทอง อันเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแพร่หลายในสังคมไทย โดยนำเสนอความน่าสงสารของนางวันทองที่กลายเป็นจำเลยความรัก และได้รับการพิพากษาจากสังคมโดยปริยายว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ศิลปินได้อธิบายลักษณาการของความ “ไม่ดี” นี้ ผ่านประโยคที่ว่า “กลายเป็นหญิงใจสอง” คำว่า “ใจสอง” ที่ศิลปินเลือกใช้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างจินตภาพอันเป็นนามธรรมแก่ผู้รับสารในเชิงปริมาณถึงอวัยวะสำคัญที่สุดของมนุษย์ที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดตามธรรมชาติ ทว่าถ้อยคำดังกล่าวก็ได้นำเสนอนัยยะของ “ความผิดปกติ” ที่ผู้รับสารสามารถรับรู้ได้ทันที เนื่องจากการมีหัวใจเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งดวงนั้นเป็นสิ่งผิดธรรมชาติของมนุษย์

จากนั้นศิลปินได้นำเสนอถ้อยคำว่า “สองใจ” ตามมาโดยทันที ซึ่งเป็นการละกลุ่มกริยาวลีอันทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค ซึ่งคำว่า “สองใจ” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุความหมายว่า “มีจิตใจไม่แน่นอนในเรื่องชู้สาว (มักใช้แก่ผู้หญิง)” ดังนั้นคำว่า “สองใจ” จึงเป็นคำที่มีความหมายแตกต่างออกไปจากคำว่า “ใจสอง” และมีการสลับที่กันของถ้อยคำอันเป็นลักษณะหนึ่งของโวหารย้อนคำ กระนั้นคำทั้งสองนี้ล้วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน แสดงถึงภาวะ “ความผิดปกติ” ทั้งมิติทางกายภาพ และ “ความไม่สมดุล” ในมิติทางนามธรรม สนับสนุน “ความไม่ดี” ที่ศิลปินกล่าวถึง พร้อมกันนี้ก็ช่วยสร้างเอกภาพของเนื้อหาให้กับเพลงโดยภาพรวมอีกด้วย

อย่างไรก็ดียังมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยขยายขอบเขตเกี่ยวกับลักษณะการใช้โวหารย้อนคำให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่

สุเทษณ์
“ความรักละเหี่ยอุระระทด
เพราะมิอาจจะคลอเคลีย

มัทนา
ความรักระทดอุระละเหี่ย
ฤจะหายเพราะเคลียคลอ”

(มัทนะพาธา หน้า 229 )

วสันตดิลกฉันท์ที่ยกมาข้างต้นนำมาจากบทละครพูด 5 องก์ เรื่องมัทนะพาธา อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บทละครเรื่องนี้นับว่ามีความไพเราะงดงามยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าวรรณคดีสโมสรได้ยกย่องวรรณคดีเรื่องนี้ให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ ตัวบทที่ยกมานี้เป็นตอนที่นักอ่านส่วนใหญ่รู้จักกันดีจากองก์ที่ 1 กล่าวคือ เป็นตอนที่มายาวินบริกรรมคาถาอัญเชิญมัทนามายังทิพยวิมานของสุเทษณ์ พร้อมกำชับด้วยฤทธิ์มนตราให้ตอบถ้อยแถลงความแก่สุเทษณ์อย่างมี “มธุรสวาจา” อันยังความพึงใจ

วรรคที่ยกมานี้จะเห็นว่าสุเทษณ์ได้ตัดพ้อนางมัทนา โดยกล่าวถึงความอ่อนใจอันเกิดขึ้นทับถมอยู่ในอก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่อาจได้ใกล้ชิดเชยชมนางมัทนา ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงเลือกใช้คำว่า “ละเหี่ย” ซึ่งเป็นคำกริยา ที่ให้นัยยะทางความรู้สึกของความอิดโรย และความหมดอาลัยตายอยากทั้งปวง อีกทั้งทรงเลือกใช้คำว่า “ระทด” อันมีความหมายว่า “สลดใจ หรือมีจิตใจหวั่นไหวเพราะความโศกสลด” เพื่อสนับสนุนสำทับให้ความ “ละเหี่ย” มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นชัดเจน  ทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์สะเทือนใจร่วมกับชะตากรรมของตัวละครที่หัวใจนั้นอัดอั้นไปความโศกเศร้าแห่งพิษสวาท จากนั้นจึงขยายข้อความดังกล่าวด้วยการแสดงเหตุผลว่าเกิดจากความไม่อาจได้ “คลอเคลีย” ได้ “ใกล้ชิดสนิทสนม” หรือ ๆได้ “เคียงคู่” กับนางมัทนา

ในขณะเดียวกันนางมัทนาก็ได้ตอบคำตัดพ้อของสุเทษณ์ โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงเลือกใช้ถ้อยคำชุดเดียวกันทั้งหมดในคำตอบของนางมัทนา เพียงแต่สลับที่ถ้อยคำอันทำให้เกิดความหมายที่แตกต่างออกไปอันแสดงถึงพระราชปรีชาอย่างยิ่งในการใช้โวหารย้อนคำ กล่าวคือ พระองค์ทรงขึ้นต้นวรรคด้วย “ความรัก” อันเป็นมูลเหตุแห่งปัญหาเช่นเดียวกันกับในวรรคของสุเทษณ์ หากแต่ทรงเลือกใช้คำว่า “ระทด” อันเป็นคำที่มีน้ำหนักมากกว่าขึ้นมาก่อน โดยมิเพียงสะท้อนให้เห็นปัญหาอันเกิดจากความรักว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงเท่านั้น หากแต่อาจสอดแทรกนัยยะของความ “สลดใจ” แก่ตนที่ต้องผจญชะตากรรมจากความรักด้วย จากนั้นจึงปรากฏคำว่า “ละเหี่ย” ตามมา เมื่อเปรียบเทียบวรรคที่ว่า “ความรักละเหี่ยอุระระทด” และ “ความรักระทดอุระละเหี่ย” จะพบว่าประโยคดังกล่าวมิเพียงเป็นประโยคคู่ขนานในเชิงโครงสร้างถ้อยคำเท่านั้น หากแต่ความคู่ขนานยังปรากฏในลักษณะของการย้อนแย้งทางความหมายอันเกิดจากระดับของถ้อยคำอีกด้วย โดยในกรณีของสุเทษณ์นั้นเป็นการเล่นระดับความรู้สึกจากน้อยไปมาก ในขณะที่มัทนาเป็นระดับจากมากมาน้อย

ในวรรคสุดท้ายของตัวอย่างซึ่งเป็นบทของนางมัทนา จะเห็นได้ว่ากวีทรงเลือกสลับที่ถ้อยคำจาก “เคลียคลอ” เป็น “คลอเคลีย” ซึ่งให้ความหมายเดียวกัน ทว่าความน่าสนใจของประโยคคู่ขนานที่ว่า “เพราะมิอาจจะคลอเคลีย” กับ “ฤจะหายเพราะเคลียคลอ” อยู่ที่ประโยคทั้งสองนี้เป็นประโยคที่ทำหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ ประโยคแรกของสุเทษณ์ เป็นประโยคตัดพ้อให้อรรถาธิบายมูลเหตุแห่งความเศร้า หากแตในประโยคของมัทนากลับทำหน้าที่เป็นประโยคคำถามเชิงวาทศิลป์ที่กระตุกความรู้สึก และกระตุ้นให้พิษสวาทนั้นกลับรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยมิได้ปรารถนาคำตอบแต่อย่างใด น้ำเสียงที่แตกต่าง และหน้าที่อันแตกต่างของประโยคคู่ขนานนี้ช่วยสร้างจินตภาพ และอารมณ์สะเทือนใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับสารได้กระจ่างยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีตัวอย่างที่นำเสนอจากเรื่องมัทนะพาธานี้ สะท้อนให้เห็นว่าฉันทลักษณ์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ภาพพจน์วาทศิลป์ประเภทโวหารย้อนคำแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าตัวบทที่ยกมาจากเรื่องมัทนะพาธานั้น ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ของการประพันธ์วสันตดิลกฉันท์ทุกประการทั้งด้านสัมผัส และคำบังคับครุ-ลหุ

กล่าวได้ว่าโวหารย้อนคำ เป็นภาพพจน์วาทศิลป์ที่นับว่าช่วยสร้างเสน่ห์ในการใช้ภาษา และการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อบันเทิงคดีไทยซึ่งเปิดพื้นที่ให้จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึกได้โลดแล่นอย่างไร้ขีดจำกัด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของวัจนภาษาที่สามารถสอดแทรกความคิดอันลึกซึ้ง รวมถึงซึมซับสู่หัวใจของผู้รับสารได้อย่างงดงาม

รายการอ้างอิง

  • มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2509) ศกุนตลา มัทนะพาธา ท้าวแสนปม ประมวลสุภาษิต พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: บรรณาคาร.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
  • Fanestock, Jeanne. (2003). Rhetorical Figures in Science. New York: Oxford University Press.

Featured Image: A Photograph by Sasin Tipchai on Pixabay
Header Image: A Photograph by Josch13 on Pixabay

Thanasin Chutintaranond
Thanasin Chutintaranond
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนสิน ชุตินธรานนท์ - สำเร็จการศึกษาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอุดมศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจด้านวาทนิพนธ์และละครการศึกษา ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และการสอนแบบละครเป็นฐานให้แก่องค์กรต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง