Virtual Team Building: ทีมเสมือนจริง…สร้างได้ด้วยตัวคุณ
ปภัสสรา ชัยวงศ์ และ เกียรติยศ กิระวงศ์เกษม
Speech Communication Network ได้นำเสนอสรุปโครงการปริญญานิพนธ์ไปแล้ว 2 เรื่อง คือ The Intern: กลยุทธ์การสร้างความประทับใจในที่ฝึกงาน และ “Boundary: การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิทธิด้านร่างกาย” ในครั้งนี้ นิสิตเกียรติยศ กิระวงศ์เกษม จะนำเสนอสรุปโครงการ “Virtual Team Building: ทีมเสมือนจริง…สร้างได้ด้วยตัวคุณ” ซึ่งเป็นประเด็นการศึกษาที่น่าสนใจมากในยุค Internet of Things ที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกด้าน รวมถึงการทำงานในองค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โครงการชุดนี้เป็นโครงการเดี่ยวที่ทำร่วมกับงานวิจัยในรายวิชาระเบียบวิธีวิจัยทางวาทนิเทศ นิสิตเกียรติยศ กิระวงศ์เกษม ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคคลในทีมเสมือนจริง (virtual team – หรือทีมที่สื่อสารและทำงานร่วมกันผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ทั้งบนเงื่อนไขทำงานอยู่ที่เดียวกัน/ต่างที่กัน ในเวลาเดียวกัน/ต่างเวลากัน) ในองค์กร และพบว่ายังมีการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ในองค์กรไทยอยู่น้อยมาก ทั้งๆ ที่ความรู้และทักษะมีความสำคัญอย่างมากในการทำงานเป็นทีมในบริบทองค์กรที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมของนิสิตนักศึกษาซึ่งกำลังจะกลายเป็นบัณฑิตและเข้าสู่องค์กรในอนาคตอันใกล้ เกียรติยศจึงนำแนวคิดทีมเสมือนจริง และความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคคลในทีมเสมือนจริงมาเป็นแนวทางในการออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม 6 ชั่วโมงในโครงการปริญญานิพนธ์นี้
นอกจากนี้ เกียรติยศเลือกใช้แนวทางการฝึกอบรมแบบ learning by doing ผ่านกิจกรรมจำลองสถานการณ์หรือ simulation ในการให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีประสบการณ์ทั้งในการทำงานเป็นทีมแบบดั้งเดิม และในทีมแบบเสมือนจริงเพื่อให้ผู้ร่วมโครงการ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง insights” ของชุดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงานเป็นทีมแบบเสมือนจริงมากขึ้น ในส่วนสุดท้าย วิทยากรได้ใช้กระบวนการแบบ reflection เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้สะท้อนความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นผ่านการทำกิจกรรมทั้ง 2 ช่วง ก่อนจะเข้าสู่ช่วงแบ่งปัน อภิปราย และสรุปบทเรียน
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับ 2 โครงการที่ได้นำเสนอไป โครงการปริญญานิพนธ์นี้เป็นเพียงแนวทางตัวอย่างการจัดทำหลักสูตรฯ ที่นิสิตได้ทดลองภายใต้เงื่อนไขเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการยังพบข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น กรอบเวลาในการดำเนินงาน และการควบคุมตัวแปรด้านความรู้ ประสบการณ์และทักษะของผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งมีความแตกต่างกันแม้จะอยู่ในรุ่นอายุเดียวกัน ดังนั้น หากท่านผู้อ่าน/ท่านผู้ฟังมีข้อเสนอแนะ ข้อชวนคิดต่างๆ สามารถแชร์เข้ามาได้ผ่านช่องทาง inbox ของแฟนเพจ Speech Communication Network เพื่อการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางวาทนิเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสารของมนุษย์ผ่านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งยังมีอยู่จำกัดในบริบทองค์กรไทย
Header Image: A Photograph by RawPixel on Pixabay