In search of your identity: คิด ค้น หาตัวตน
ปภัสสรา ชัยวงศ์
พบกันปีละครั้ง สำหรับ “องค์ความรู้สกัดเข้มข้น” จากโครงการปริญญานิพนธ์ทางวาทนิเทศ (senior project) โดยนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวาทนิเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ (สนับสนุนทุนดำเนินงานโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่เคยเป็นมาเสมอ) ขอบคุณสำหรับทุก feedback ทั้งคำติและคำชม ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Speech Communication Network ที่ช่วยให้นิสิตปีที่ผ่าน ๆ มาได้รับกำลังใจ และหายเหนื่อยเมื่อได้ทราบว่าการทุ่มเทค้นคว้าหาความรู้และลงมีสร้างสรรค์โครงการมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จของผู้สัมภาษณ์งานหลาย ๆ ท่าน ช่วยปรับ mindset ของน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวฝึกงานหรือเข้าสู่องค์กรยุคใหม่ที่ใช้ระบบ virtual ในการปฏิบัติงาน หรือในองค์กรข้ามชาติ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจด้านสิทธิทางร่างกายและจิตใจของเยาวชน
เช่นเดียวกันปีที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการปริญญานิพนธ์ คือ การเปิดพื้นที่การเรียนรู้แบบกึ่ง Action Research เพื่อให้นิสิตนำความรู้ทางวาทนิเทศและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาประยุกต์ใช้ เรียนรู้กระบวนการการบริหารโครงการอย่างมืออาชีพและครบวงจร มีความสมจริงสมจังเพื่อจะพร้อมเข้าสู่การทำงานและการบริหารโครงการในอนาคต และจะได้เผยแพร่ต่อผู้สนใจทางเว็บไซต์ของทางภาควิชาฯ ตามรอยของรุ่นพี่นิเทศ จุฬาฯ 49 และ 50
ธีม “นวัตกรรม คิด ทำ เพื่อสังคม” ยังคงเป็นแก่นหลักของโครงการปริญญานิพนธ์สาขาวาทนิเทศอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ ได้นำแนวคิด design thinking ของ d.school (หรือ The Hasso Plattner Institute of Design มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา) มาปรับใช้ในกระบวนการ เริ่มต้นจากการ “ฟังให้ได้ยิน” (empathize) ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมายผ่านการสำรวจและวิเคราะห์ “ตลาด” ซึ่งได้แก่ การอ่านบทความ งานวิจัย และเก็บข้อมูลเบื้องต้นจากกลุ่มเป้าหมายของตนเองแล้ว นิสิตก็ได้ทำการ “ระบุ” (define) วัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการจะออกแบบชัด ๆ ก่อนที่จะ “ระดมความคิด” (ideate) เสนอหัวข้อกับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเดือน และสอบหัวข้อปริญญานิพนธ์ จากนั้นทำการค้นคว้าแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อ “สร้างและพัฒนาหลักสูตร” (สร้าง prototype – test – และย้อนกระบวนการที่จำเป็น) ที่จะใช้ฝึกอบรม มีการคิดโปรแกรม กิจกรรมการดำเนินหลักสูตร จำนวนเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงวิธีการทดสอบประเมินผลต่าง ๆ หลังจากนั้นก็เสนอ Proposal การจัดงาน รวมทั้งแผนการดำเนินโครงการโดยตามงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะนิเทศศาสตร์ฯ เพื่อให้คณะกรรมการของภาควิชาฯ อนุมัติ ก่อนจะลงมือ “ดำเนินการ” (test) ตามแผนที่ได้วางไว้ รวมถึงการประเมินผลโครงการ การอภิปราย และเขียนข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในอนาคต (communicate)
สำหรับโครงการชุดแรกที่จะดำเนินการเผยแพร่ (project dissemination) ผ่านแพลตฟอร์มนี้ เกี่ยวข้องกับ “การค้นหาตัวตน” ที่นิสิตต่อยอดมาจากงานของรุ่นพี่ 49 สาขาวาทวิทยาที่ทิ้งคำถามไว้ว่า “จะตั้งคำถามถามตัวเองอย่างไรจึงจะได้ค้นพบตัวตน” ในปีนี้ นิสิตเสนอ 2 โครงการทั้งแบบคลาสสิคซึ่งอ่านตัวเองผ่านความคิด และโครงการที่เทรนดี้ (trendy) ซึ่งเลือกใช้ “การหาสไตล์” การแต่งกายในการค้นหาตัวตน ในโครงการแบบคลาสสิค ผู้ดำเนินโครงการ (ชื่อเรียงตามตัวอักษร) คือ นิสิตบุณยนงค์ จองสาม นิสิตปนิดา เอมประเสริฐสุข และนิสิตพิชชากร เขษมโอภาส ตั้งชื่อว่า “Talking Insight: คุยอย่างไรให้พบตัวตน” นิสิตทำการออกแบบกระบวนการเชิงจิตตปัญญา (contemplative) ที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสะท้อนความคิด (reflexive thinking) และการตั้งคำถามกับความคิดของตัวเอง
ส่วนอีกโครงหนึ่งซึ่งใช้การแต่งกายในการหาสไตล์และตัวตน ผู้ดำเนินโครงการ (ชื่อเรียงตามตัวอักษร) คือ นิสิตธีร์ เชาว์ปรีชา นิสิตพุธิดา แสงสุวรรณ และนิสิตภัทรพงศ์ ดิษฐกรโภคิน เรียกชื่อว่า “Men’s Identity Lab” หรือ “ห้องทดลองการแต่งกายสู่อัตลักษณ์ที่เป็นคุณ” หลักสูตรที่พาผู้เข้าอบรมไปพบกับ “คำต่าง ๆ” ที่อธิบายถึงอัตลักษณ์แบบต่าง ๆ ที่บ่งชี้ real self ไปพบกับ “ภาพสไตล์การแต่งกาย” แบบต่าง ๆ ที่สะท้อนความชอบของใจในแบบ real-and-ideal self และไปพบกับ “พร็อพ” (prop) เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ อุปกรณ์ประกอบการแต่งกายแบบต่าง ๆ ให้ “ลอง” กันแบบ 6 ชั่วโมงไม่เคยพอ เพื่อฝึก “ติดตั้งทักษะการตั้งคำถามกับตัวเอง” ว่าใจเรา “กระโดดเข้าหา” สิ่งใด สไตล์การแต่งกายแบบไหนที่ชอบ แบบไหนที่ใช่ แบบไหนที่ยังคงเป็นตัวเราในกาลเทศะและวาระโอกาสต่าง ๆ ของชีวิต
ทั้งสองโครงการสะท้อนการใช้ศาสตร์วาทวิทยา 2 แนวทาง (approach) ที่แตกต่างกันในการค้นหาตัวตน กล่าวคือ Talking Insight ใช้วาทวิทยาเชิงจิตวิทยา (psychology) ในการสำรวจความคิด จิตใจตัวเอง สิ่งที่สะท้อนออกมาจากข้างในผ่านสิ่งที่บันทึกทั้งภาพ ตัวอักษร คำพูด การแสดงออก การเลือกต่าง ๆ ในการตั้งคำถาม ในขณะที่ Men’s Identity Lab ใช้วาทวิทยาเชิงสังคมวิทยา (sociology) หรือการประกอบสร้าง (constructivism) วาทวิทยาจากมุมมองนี้เชื่อว่าคนเรามีอัตลักษณ์หลายมิติ ทั้งที่เป็นจริง ๆ อยากเป็น และควรจะเป็นในบริบทต่าง ๆ โครงการนี้เปรียบการแต่งตัวเป็นการทดลอง เพื่อค้น เพื่อมองเข้าไปว่าแบบไหนที่ใช่ เราเป็นแบบไหนได้บ้าง นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าอัตลักษณ์มีความเลื่อนไหล (fluidity) สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ การลงมือแต่งตัวไป ถามตัวเองไป ลองแต่งตัวใหม่ แล้วถามตัวเองใหม่ ต่างเวลา ต่างสถานการณ์ ก็อาจทำให้คนเราเจอตัวเองแตกต่างไปจากเมื่อวันวาน
ดังที่กล่าวเสมอว่า โครงการปริญญานิพนธ์ทั้ง 2 โครงการนี้นำเสนอแนวทางตัวอย่างหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะการตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อนำไปสู่การค้นหาและค้นพบตัวตน ภายใต้เงื่อนไขเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการยังพบข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น กรอบเวลาในการดำเนินงาน จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่คาดฝัน ดังนั้น หากท่านผู้อ่าน/ท่านผู้ฟังมีข้อเสนอแนะ ข้อชวนคิดต่าง ๆ สามารถแชร์เข้ามาได้ผ่านช่องทาง inbox ของแฟนเพจ Speech Communication Network เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวาทนิเทศที่เกี่ยวข้องกับการคิด การคุย การตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อค้นหาและค้นพบตัวตน รวมถึงการรื้อ การประกอบสร้าง และการพัฒนาตัวตนให้เป็นสื่อบุคคลที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในบริบทต่าง ๆ ของชีวิตต่อไปค่ะ