parallax background

นักแสดง กับการพัฒนาทักษะทางด้านจินตนาการ (1)

นักแสดง กับการพัฒนาทักษะทางด้านจินตนาการ (1)

กฤษณะ พันธุ์เพ็ง


จินตนาการ เป็นกิจกรรมสำคัญของสมองที่มนุษย์ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นักปรัชญาหลายคนตั้งแต่เพลโต (Plato) เป็นต้นมาได้ยกให้จินตนาการเป็น 1 ใน 4 ความสามารถที่สำคัญของจิตมนุษย์ นอกเหนือจากเหตุผล (reason) ความเข้าใจ (understanding) และศรัทธา (faith) 1 อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าความสำคัญของจินตนาการได้ถูกลดทอนลงในสมัยปัจจุบัน โดยถูกจำกัดให้อยู่ในช่วงการเรียนรู้ในวัยเด็ก ด้านศิลปะและความบันเทิง หรือในโลกของความเพ้อฝันที่เกินเลยจากโลกของความเป็นจริงเพียง มันถูกมองว่าเป็นความสามารถพื้นฐานที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติม หรือพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก

อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักวิชาการหลายๆคนเริ่มที่จะเชื่อมโยงทักษะและการฝึกฝนจินตนาการกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ จากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ 2 และพยายามที่จะเชื่อมโยงทักษะจินตนาการกับความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ 3 เพราะเล็งเห็นว่าการฝึกฝนจินตนาการ ทำให้นักธุรกิจสามารถมองเห็นทางออกใหม่ๆในการแก้ปัญหา ทำให้นักการตลาดสามารถมองเห็นความต้องการของลูกค้า และตอบสนองด้วยข้อเสนอใหม่ๆได้ ทำให้ผู้นำสามารถเข้าถึงผู้ร่วมงานและสมาชิกในองค์กร ด้วยการจินตนาการว่าคนเหล่านั้นเขามีประสบการณ์และมีความรู้สึกอย่างไร สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างแบบฝึกหัดทางการแสดง ที่ช่วยพัฒนาทักษะจินตนาการได้ แม้ว่าแบบฝึกหัดเหล่านี้จะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อนักแสดง แต่มันก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรในหลากหลายองค์กรในปัจจุบัน

ก่อนอื่นคงต้องกล่าวถึงความหมายของคำว่าจินตนาการที่เราจะพูดถึงกัน เพราะคำว่าจินตนาการนั้นถูกใช้แบบสบายๆ โดยสื่อความหมายกว้างๆ หมายรวมถึงการเพ้อฝันถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไปจนถึงการนึกถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือการวางแผนสถานการณ์ในอนาคต ในกรณีนี้ผู้เขียนเลือกใช้คำจำกัดความของอลิสัน กอปนิค (Alison Gopnik) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่ามันคือความสามารถของมนุษย์ในการคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด ซึ่งไม่ปรากฏจริงในช่วงเวลานี้ ณ ที่แห่งนี้ (และไม่รวมถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต) 4

ในด้านศิลปะคงไม่มีใครแปลกใจถ้าจะบอกว่าจินตนาการเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่สิ่งที่หลายๆคนไม่ได้ใส่ใจมากนักก็คือความจริงที่ว่าจินตนาการเป็นความสามารถที่ฝึกฝนพัฒนาได้ และยิ่งฝึกฝนมากก็ยิ่งจะทำให้มีความเฉียบคมและละเอียดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำให้เราเข้าถึงมันได้ง่าย และถ่ายทอดภาพต่างๆในหัวของเราออกมาได้อย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยรายละเอียด ผ่านคำพูด ภาษากาย และการกระทำต่างๆ

สำหรับผู้ที่เป็นนักแสดงซึ่งต้องสามารถถ่ายทอดเรื่องราวและสถานการณ์ต่างๆในโลกของละครออกมาให้ผู้ชมรับรู้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายขีดจำกัดของจินตนาการออกไปให้กว้างมากที่สุด ผ่านการฝึกฝนในแบบด้นสด (improvisation) และแบบฝึกหัดต่างๆ ที่ผู้ฝึกฝนนักแสดงเลือกใช้ โดยในตอนแรกของบทความนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหลักการและแบบฝึกหัดที่เน้นการพัฒนาจินตนาการของนักการละครสองคนแรก ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทฤษฏีการฝึกฝนนักแสดงสมัยใหม่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20

คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี (Konstantin Stanislavski)

นักการละครชาวรัสเซียที่คิดค้นระบบการฝึกฝนนักแสดงขึ้นมาเป็นคนแรกคนนี้ เชื่อว่าจินตนาการเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรื่องราวในบทละคร กลายเป็นความจริงบนเวทีได้ ซึ่งจินตนาการจะทำงานควบคู่ไปกับการสังเกต และเทคนิคที่ชื่อว่า แมจิก อิฟ (magic if)

แบบฝึกหัดหนึ่งที่เขาคิดค้นขึ้น เริ่มต้นด้วยการให้นักแสดงสุ่มเลือกสิ่งของขึ้นมา 5 อย่าง แล้วเตรียมสิ่งของเหล่านั้นไว้ในห้อง จากนั้นให้นักแสดงออกไปเดินตามถนนแล้วเลือกสังเกตคนหนึ่งคนที่พบ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีในการสังเกตท่าทาง เสื้อผ้า อากัปกิริยาทุกอย่าง ก่อนจะกลับเข้าไปในห้อง แล้วใช้จินตนาการในการนึกภาพคนคนนั้น และยอมให้ร่างกายตัวเองปรับเปลี่ยนเป็นคนๆนั้น โดยไม่ใช่แค่การลอกเลียนแบบภายนอกเท่านั้น เมื่อนักแสดงได้สวมบทบาทเป็นคนๆนั้นแล้ว นักแสดงก็จะได้รับโจทย์ให้จินตนาการสถานการณ์ต่างๆที่คนๆนั้นเผชิญอยู่ โดยตั้งคำถามขึ้นมากับตัวเองว่าถ้าเขาอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ เขาจะรับมืออย่างไร (magic if) รวมไปถึงสร้างความเชื่อมโยงกับสิ่งของทั้ง 5 อย่างที่เลือกไว้ในตอนแรก

แบบฝึกหัดนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งในชุดแบบฝึกหัดที่นักแสดงต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งเป้าหมายคือการที่นักแสดงสามารถสร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความหลากหลายได้ โดยใช้เวลาในการเข้าถึงตัวละครและสถานการณ์ที่เผชิญได้ในระยะเวลาอันสั้น เต็มไปด้วยความจริงใจ เป็นธรรมชาติ และนักแสดงสามารถทำซ้ำๆได้บ่อยๆ โดยสามารถรักษาระดับของสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง (นักแสดงละครเวทีตะวันตกในสมัยนั้นต้องใช้เวลาศึกษาบทละครอย่างละเอียด ซ้อมอย่างหนักหลายเดือน และสวมบทบาทเดิมซ้ำๆในทุกๆรอบเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานหลายเดือน)

ไมเคิล เชคอฟ (Michael Chekhov)

นักการละครชาวรัสเซีย-อเมริกัน ลูกศิษย์ของสตานิสลาฟสกี ที่คิดค้นเทคนิคการฝึกฝนนักแสดงขึ้นมาและได้รับความนิยมแพร่หลายในแวดวงนักแสดงภาพยนตร์อเมริกันในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะจินตนาการอย่างมาก และได้พัฒนาแบบฝึกหัดต่อเนื่องมาจากสตานิสลาฟสกี โดยในการฝึกฝนนักแสดงของเขา ขีดจำกัดทางจินตนาการถูกขยายออกให้เกินจากความเป็นจริงที่พบได้ในชีวิตประจำวัน นักแสดงของเขาจึงไม่จำเป็นจะต้องออกไปเดินหาและสังเกตคนจริงๆตามท้องถนน

ในแบบฝึกหัดทางจินตนาการของเขา เขาใช้คำว่า “ภาพ” (images) แทนที่จะเป็นคำว่า “จินตนาการ” (imagination) เพื่อแสดงถึงความเฉพาะเจาะจง และเพื่อการถ่ายทอดที่มีความชัดเจน โดยเป้าหมายของเขาคือนักแสดงสามารถสร้างภาพในหัวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน เต็มไปด้วยรายละเอียด และพร้อมจะถ่ายทอดมันออกมา โดยที่อาจจะไม่ได้รู้ตัวหรือตั้งใจเลยด้วยซ้ำ

เชคอฟได้สรุปขั้นตอนของแบบฝึกหัดทางจินตนาการไว้ว่า นักแสดงต้องเริ่มต้นด้วยการจับภาพๆแรกที่ผ่านเข้ามาให้หัว (หลังจากอ่านบทหรือฟังเรื่องราว) จากนั้นให้ลองเรียนรู้และติดตามชีวิตของตัวละครตัวนั้น นักแสดงสามารถถามคำถาม และสั่งการเขา แทรกซึมเข้าไปในชีวิตของเขา และค้นหาความเป็นไปได้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเขา ซึ่งเมื่อนักแสดงทำแบบฝึกหัดนี้หลายๆครั้ง ก็จะทำให้นักแสดงสามารถสร้างตัวละครใหม่ๆขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงการผสมผสานลักษณะของตัวละครต่างๆที่หลากหลายได้

นอกจากการใช้จินตนาการในการสร้างตัวละครแล้ว เชคอฟยังได้คิดค้นแบบฝึกหัดในการใช้ภาพในหัวในการเพิ่มแรงผลักดันให้กับตัวละครขึ้นมา ซึ่งมีชื่อว่า Psychological Gestures โดยกระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นที่การอ่านบท แล้วให้นักแสดงตีความสิ่งที่ตัวละครต้องการหรือลักษณะนิสัยของตัวละครออกมาเป็นท่าทาง เช่นการดัน กดทับ การสะบัด การบีบรัด ฯลฯ โดยท่าทางต่างๆเหล่านี้ นักแสดงสามารถกำหนดขึ้นมาให้แตกต่างกันตามช่วงเวลาต่างๆของตัวละคร ตามฉากย่อยๆ หรือตามบรรยากาศของสถานการณ์ที่ตัวละครเผชิญอยู่ จากนั้นนักแสดงก็จะทำท่าเหล่านั้นซ้ำๆกัน ซึ่งอาจจะมีการพูดบทร่วมด้วย จนกระทั่งนักแสดงสามารถเข้าถึงความรู้สึกและความต้องการภายในของตัวละครแล้วจริงๆ ท่าทางต่างๆเหล่านั้นก็จะถูกลดทอนลงมา หรือตัดออกไปเลยก็ได้ ซึ่งเชคอฟเชื่อว่าแม้นักแสดงจะไม่ได้ทำท่าต่างๆนั้นแล้ว แต่ผู้ชมก็จะสามารถรับรู้ถึงภาพในหัวของนักแสดงได้

ในมุมมองของนักการละครทั้งสอง จินตนาการเป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักแสดง แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้านักแสดงไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาให้ผู้ชมรับรู้ได้ การเรียนรู้และฝึกฝนจินตนาการอย่างต่อเนื่องจึงต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวผ่านร่างกายและคำพูด ความสามารถในการมองเห็นความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัดจะทำให้ตัวละครที่นักแสดงสร้างขึ้นมามีชีวิต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีพลังที่ดึงดูด ไม่ใช่แค่เพียงตัวละครที่ตกอยู่ภายใต้ขีดจำกัดของความคิด ร่างกายและลักษณะนิสัยของนักแสดงเพียงเท่านั้น

แบบฝึกหัดเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร และยกระดับการสื่อสารและการให้บริการได้ในหลากหลายวงการ ยกตัวอย่างเช่นในการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งผู้เขียนได้ทดลองดัดแปลงแบบฝึกหัดเหล่านี้ โดยให้ผู้ให้บริการได้ลองสวมบทบาทเป็นผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ผู้เขียนพบว่าผู้ที่ได้ทำแบบฝึกหัดเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้มารับบริการมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสื่อสาร และการให้บริการที่ตอบสนองความรู้สึกและความคาดหวังของผู้มารับบริการมากขึ้น นอกจากด้านการบริการ ผู้เขียนมองว่าแบบฝึกหัดการแสดงสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในด้านอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การกีฬา หรือด้านธุรกิจ หรืองานใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร

รายการอ้างอิง

  • Chekhov, M. (2002). To the Actor: On the Technique of Acting. London: Routledge.
  • Merlin, B. (2007). The Complete Stanislavsky Toolkit. London: Nick Hern Books.
  • Stanislavski, K. (2010). An Actor’s Work. London: Routledge.

1 Bundy, M. W. (1922). Plato’s View of the Imagination. Studies in Philology, Vol. 19, No. 4 (Oct., 1922), University of North Carolina Press.

2 นำโดย เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) ผู้ที่มองว่าจินตนาการคือแหล่งทุกของความสำเร็จของมนุษย์ ใน Robinson, K. (2011). Out of Our Minds: Learning to be Creative. Chichester: Capstone Publishing.

3 เพราะจินตนาการทำให้ผู้นำทางธุรกิจ มองเห็นมุมมองใหม่ๆในการแก้ไขปัญหา และตอบโจทย์ลูกค้า นำไปสู่การสร้างกลยุทธ และการหาทางออกในแบบใหม่ๆ

4 Brahic, C. (2014). Daydream believers: Is imagination our greatest skill?, New Scientist (online), 17 September 2014 (https://www.newscientist.com/article/mg22329870.400-daydream-believers-is-imagination-our-greatest-skill.html)


Grisana Punpeng
Grisana Punpeng
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะ พันธุ์เพ็ง - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ ทางด้านการฝึกฝนนักแสดง ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกฝนนักแสดง และการประยุกต์ใช้กระบวนการทางด้านการละครเพื่อพัฒนาตนเอง การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ประจำทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เป็นอาจารย์พิเศษทางด้านการแสดงให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงเป็นผู้จัดอบรมด้านการสื่อสารและการบริการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย