parallax background

3 เทคนิคการแสดง เพื่อการฟังอย่างจริงใจ

3 เทคนิคการแสดง เพื่อการฟังอย่างจริงใจ

กฤษณะ พันธุ์เพ็ง


ถ้าถามถึงคุณลักษณะของนักแสดงที่สำคัญ หลาย ๆ คนคงพูดถึงความกล้าแสดงออกเป็นอันดับต้น ๆ และความกล้าแสดงออกนั้น ก็น่าจะหมายถึงความกล้าที่จะสื่อสารผ่านทางคำพูดและการกระทำ อย่างไรก็ตามทักษะการสื่อสารที่สามารถพัฒนาผ่านการเรียนและฝึกฝนการแสดงได้อย่างชัดเจน แต่มักจะถูกมองข้ามไปคือทักษะการฟัง

สาเหตุที่การฟังเป็นทักษะที่มักจะถูกมองว่าทุกคนสามารถทำได้ดีโดยไม่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนก็เพราะว่าหลายคนคิดว่ามันไม่ได้ต่างอะไรจาก “การได้ยิน” ในขณะที่ “การได้ยิน” ซึ่งหมายถึงการรับรู้ถึงเสียงและคำที่ผ่านเข้าหูเรา เป็นการกระทำที่แทบจะไม่ต้องใช้พลังงานหรือความพยายามอะไร “การฟัง” จำเป็นต้องใช้สมาธิและพลังงานทางสมองในกระบวนการตีความ ประเมิน และนำข้อมูลที่ได้รับไปใส่ในบริบทต่าง ๆ 1

ประโยชน์ของการฟังที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่เพียงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวสารเท่านั้น แต่มันนำไปสู่การเรียนรู้และความเชื่อใจในกันและกัน และความสัมพันธ์โดยรวมที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะระหว่างคนสองคน คนในครอบครัว สถานที่ทำงาน หรือสังคมโดยรวม ข้อแนะนำที่หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงจะหนีไม่พ้นการประสานสายตา (eye contact) การฟังอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขัด ไม่นึกถึงเรื่องอื่น ตัดสิ่งรบกวนทั้งภายใน ภายนอก และเปิดใจให้กว้าง

อย่างไรก็ตามในมุมมองของผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนนักแสดง เชื่อว่าเทคนิคการฝึกฝนทางด้านการแสดงหลาย ๆ อย่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการฟังได้

Leslie Stager Jacques นักวิชาการด้านการสื่อสาร ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการฝึกฝนการแสดงละครเวทีต่อการพัฒนาองค์กร (Organization Development – OD) ในผลงานวิจัยของเธอ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน The Journal of Applied Behavioral Science 2 ไว้ว่าทักษะหลัก 3 อย่างที่นักแสดงพัฒนาผ่านการฝึกฝนการแสดงและเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาบุคลากรในองค์กรคือ การฟัง การสังเกต และการรู้จักตนเอง ซึ่งทักษะ 3 อย่างนี้สามารถพัฒนาไปสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของทุก ๆ กลุ่มคนหรือองค์กรได้ ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (reciprocity) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration) และความสามัคคีปรองดองกันภายใน (internal group harmony)

Jacques ได้ขยายความว่านักแสดงพัฒนาทักษะที่กล่าวถึงข้างต้นผ่านการวิเคราะห์ทางด้านความคิด การโต้ตอบระหว่างกัน การสวมบทบาทตัวละครในสถานการณ์สมมติที่หลากหลาย และการด้นสด ซึ่งหากองค์กรใดต้องการพัฒนาทักษะและคุณภาพของการสื่อสารภายในให้เทียบเท่ากับทักษะที่นักแสดงมี การนำกิจกรรมฝึกปฏิบัติของนักแสดงไปประยุกต์ใช้กับบุคลากรในองค์ต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างมาก

ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าทักษะการฟังเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับนักแสดง ซึ่งนักแสดงจำเป็นต้องฝึกฝนจนชำนาญและเป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้ามองลึกลงไปถึงหลักการและกิจกรรมของนักแสดงแล้ว มีอยู่ 3 หัวข้อหลัก ๆ ที่คนที่ไม่ใช่นักแสดงสามารถนำไปฝึกฝนและประยุกต์ใช้ได้คือ

1. Objectives

สิ่งแรกเรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของการแสดงที่เน้นความสมจริง ตัวละครที่สามารถเทียบเคียงได้กับคนที่เราพบเห็นได้ในสังคม หรือหลักการแสดงในแนวทาง Realism และ Naturalism ก็คือการค้นหาและกำหนด “วัตถุประสงค์” ของตัวละคร ซึ่งมีคำแปลภาษาไทยที่ชัดเจนและประยุกต์ใช้ในการแสดงได้ง่ายคือคำว่า “ความต้องการ” นักแสดงควรจะตั้งคำถามว่าตัวละครที่เขาสวมบทบาทนั้นต้องการอะไรในชีวิตของเขา เขาต้องการอะไรในช่วงชีวิตของเขาในเรื่องนี้ เขาต้องการอะไรในฉาก ๆ หนึ่ง หรือในการสนทนากับอีกตัวละครหนึ่ง

ในโจทย์การแสดงที่ตัวละครต้องรับฟังความคิดเห็นและรับรู้ความรู้สึกของตัวละครอีกตัวหนึ่ง ผู้ที่สวมบทบาทเป็นผู้ฟัง สามารถตั้งวัตถุประสงค์ในฉาก ๆ นั้นได้เช่น

  • ต้องการรับรู้และเข้าใจความคิดและความรู้สึกของอีกฝ่าย
  • ต้องการให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงความใส่ใจและความจริงใจที่มอบให้
  • ต้องการเป็นเพื่อนและอยู่เคียงข้างอีกฝ่าย

เมื่อกำหนดความต้องการในลักษณะนี้แล้ว ตัวละครตัวนั้นก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อบรรลุความต้องการนั้น ๆ ด้วยวจนภาษาและอวัจนภาษาทั้งหมด ซึ่งความละเอียดอ่อนของการกระทำนี้ขึ้นอยู่กับการสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบของอีกฝ่ายด้วย ว่าการกระทำที่มอบให้นั้นมันมากไป น้อยไป หรือเกิดประสิทธิภาพแค่ไหน

Bella Merlin กล่าวถึงการแสดงโดยมีความต้องการไว้ว่า

“if you play your objectives precisely scene by scene by scene, while really attending to your partner and noticing whether or not they’re genuinely affected by what you’re doing (through their faces, their reactions, their words, their silences and subtexts), you’ll find that you can’t help but have an emotional connection to the dialogue.” 3

ในบริบทการแสดงนั้น อาจจะมีผู้ฝึกสอน หรือผู้กำกับการแสดงคอยแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางจากมุมมองของบุคคลที่สาม แต่ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันผู้ฟังต้องเป็นคนกำหนด “ความต้องการ” หรือวัตถุประสงค์เอง รวมทั้งคอยสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา แล้วปรับตนเองไปตามสถานการณ์ตรงหน้า ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือการฟังอย่างจริงใจ และความสัมพันธ์ในระดับอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง

2. Observation

หลักการที่สองเป็นสิ่งแรก ๆ ที่นักแสดงทุกคนต้องฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญและละเอียดอ่อน เพราะมันนำไปสู่การเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ และทำงานควบคู่ไปกับการตั้งความต้องการของตัวละคร ทักษะการสังเกตอาจจะแบ่งได้เป็นการสังเกตภายในตนเอง การสังเกตภายนอกผ่านการมองเห็น กับการสังเกตความรู้สึกผ่านประสาทสัมผัสอื่น ๆ ที่ทำให้เราอธิบายได้ถึงบรรยากาศโดยรวมของสถานที่และสถานการณ์นั้น ๆ

  1. ผู้ฟังควรจะฝึกการสังเกตร่ายกายตนเอง รวมไปถึงมีสติกับอากัปกิริยาที่เกิดขึ้นในขณะที่ฟัง โดยที่ก็ไม่ได้จดจ่อมากจนเกินไป ควรรู้ตัวอยู่เสมอว่าท่าทางของตนเองนั้น กำลังสื่อสารอะไรออกไปยังผู้พูด แล้วสิ่งที่สื่อนั้นตรงกับความต้องการของเราในฐานะผู้ฟังหรือไม่ มันสื่อถึงความใส่ใจ หรือสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยหรือเปล่า
  2. ในฐานะผู้ฟังเราควรฝึกการสังเกตอวัจนภาษาของผู้พูดตลอดเวลา โดยไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายใจ การสังเกตเป็นลักษณะการมองมุมกว้าง (peripheral vision) โดยที่มีการประสานสายตากับอีกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ เราสามารถสังเกตท่าทาง จังหวะการขยับตัว มุมของศีรษะและสายตา ลักษณะการหายใจ และส่วนประกอบของอวัจนภาษาอื่น ๆ เพื่อที่เราจะได้ปรับท่าทางของตนเอง (ข้อ 1) ได้ตามสิ่งที่เราสังเกตเห็น เช่นถ้าอีกฝ่ายถอยตัวออกห่าง ก็อาจจะหมายถึงว่าตัวเราอยู่ใกล้เกินไป ควรจะเพิ่มพื้นที่ให้กับเขา หรือหากสังเกตเห็นว่าเขาเขย่าขาและหายใจเร็ว เราก็อาจจะสามารถรับรู้ได้ถึงความกังวลหรือเครียดของเขา แล้วปรับเปลี่ยนท่าทางของเราเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น เป็นต้น
  3. ควรเปิดการรับรู้ถึงบรรยากาศรอบ ๆ ตัว แล้วสำรวจว่าเรามีทางเลือกไหนบ้างที่จะทำให้เรารับรู้และเข้าใจความคิดและความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ดีขึ้น ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงความใส่ใจและความจริงใจที่มอบให้ ทางเลือกเหล่านั้นอาจจะเป็นการเปลี่ยนสถานที่ ปรับอุณหภูมิหรือความสว่าง หรือลดสิ่งรบกวน เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการสื่อสารสำหรับผู้พูดและผู้ฟังมากที่สุด

3. Repetition

หลักการที่สามนี้เป็นสิ่งที่นักแสดงคุ้นเคยอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนทักษะการแสดง หรือในการแสดงจริง (โดยเฉพาะละครเวที) การทำซ้ำนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และการซ้อมหลาย ๆ ครั้งจะทำให้นักแสดงใช้ทักษะได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นแล้วผู้เขียนขอแนะนำแบบฝึกหัดหนึ่งที่ผสมผสานหลักการในข้อสอง คือการสังเกตกับการทำซ้ำเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นการฟังอย่างจริงใจ

Sanford Meisner นักแสดงและผู้ฝึกสอนนักแสดงชาวอเมริกัน ได้พัฒนาต่อยอดแนวทางการฝึกฝนนักแสดงมาจาก Method Acting (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสืออ้างอิง) จนเป็นหลักการของเขาเองที่เรียกว่า the Meisner technique แบบฝึกหัดที่โดดเด่นที่สุดของเขามีชื่อว่า ‘Word Repetition Game’

ใน Word Repetition Game นักแสดงสองคนนั่งตรงกันข้ามกันแล้วสังเกตกันและกัน จากนั้นเขาทั้งสองจึงสลับกันพูดสิ่งที่สังเกตเห็นเช่น “ผมของคุณสีน้ำตาล” และ “คุณใส่เสื้อสีขาว” การพูดถึงสิ่งที่สังเกตเห็นอย่างชัดเจน กระชับ และสลับกันไปเรื่อย ๆ แบบนี้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์กันในระดับเบื้องต้น โดยปราศจากความกังวลหรือทัศนคติใด ๆ มันอาจจะดูแปลก ไม่เหมือนบทสนทนาจริง ๆ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสังเกตกันจริง ๆ โดยปราศจากการตัดสิน

ในขั้นตอนที่สองของแบบฝึกหัดนี้ นักแสดงจะต้องทวนสิ่งที่อีกฝ่ายพูดเกี่ยวกับตัวเราด้วย ซึ่งอาจจะมีการแสดงความคิดเห็นใส่เข้าไปด้วยได้ และนำไปสู่บทสนทนาที่ต่อเนื่อง เช่น

A: “ผมของคุณสีน้ำตาล”

B: “ผมของฉันสีน้ำตาล”

A: “ฉันบอกว่า ผมของคุณสีน้ำตาล”

B: “ใช่ คุณบอกว่า ผมของฉันสีน้ำตาล”

A: “น้ำเสียงของคุณดูเหมือนหงุดหงิด”

B: “น้ำเสียงของฉันดูเหมือนหงุดหงิดเหรอ”

A: “ใช่ น้ำเสียงของคุณดูหงุดหงิด”

B: “เปล่า ฉันไม่ได้รู้สึกหงุดหงิด”

A: “คุณไม่ได้หงุดหงิดเหรอ”

B: “ฉันไม่ได้หงุดหงิด”

A: “แล้วคุณรู้สึกอย่างไร” 4

การทวนสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดนี้ ทำให้เกิดการฟังในสารที่สื่อระหว่างกันจริง ๆ และนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นทั้งในระดับนักแสดงและระดับตัวละครทั้งสองในฉาก ๆ นั้น

หากจะนำแบบฝึกหัดนี้มาใช้นอกบริบทของการแสดง ผู้ที่ต้องการพัฒนาการฟังของตนเองสามารถทำในสิ่งที่นักแสดง B ทำข้างบนได้ เพียงแต่พูดในใจ ไม่ได้เปล่งเสียงออกมา การทวนสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารในใจเป็นการเน้นย้ำว่าเราได้รับสารนั้นจริง ๆ เกิดการรับฟังอย่างตั้งใจ และชะลอการประเมิน ตัดสิน และโต้ตอบในทันทีลง และหลังจากนั้นก็สามารถตัดสินใจที่จะโต้ตอบกลับทางคำพูดได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหรือโต้แย้งก็ตาม

นักแสดงที่เชี่ยวชาญเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังที่ดี และการที่จะพัฒนาการฟังได้ เขาต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเมื่ออยู่กับคู่แสดง มีการสังเกตที่ครอบคลุมและเฉียบคม รวมทั้งทวนซ้ำให้แน่ใจว่าเขาได้รับสารทั้งหมดที่ส่งมาจากอีกฝ่ายแล้ว ก่อนจะเลือกหาวัจนภาษาและอวัจนภาษาที่จะใช้โต้ตอบกลับไป เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในการฝึกฝนนักแสดงเท่านั้น ใครก็ตามที่ต้องการพัฒนาทักษะการฟังของตัวเอง เพื่อสื่อสารความใส่ใจและจริงใจของตนเองให้อีกฝ่ายรับรู้ สามารถนำเอาแนวทางที่กล่าวถึงในบทความนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ ผู้เขียนเชื่อว่าคนรอบข้างจะสามารถสังเกตและสัมผัสได้ถึงคุณภาพการฟังที่เพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

References

  • Merlin, Bella (2010). Acting: The Basics. Taylor and Francis.
  • McIntosh, P., Davis, J. H., Luecke, R., & American Management, A. (2008). Interpersonal Communication Skills in the Workplace. New York: AMA Self-Study.

1 McIntosh, P., Davis, J. H., Luecke, R., & American Management, A. (2008). Interpersonal Communication Skills in the Workplace. New York: AMA Self-Study, p.88.

2 Jacques, L. (2012). Borrowing from Professional Theatre Training to Build Essential Skills in Organization Development Consultants, The Journal of Applied Behavioral Science, 49(2), pp. 246-262

3 Merlin, Bella (2010). Acting: The Basics. Taylor and Francis., p. 117.

4 Merlin, Bella (2010). Acting: The Basics. Taylor and Francis., p. 184-185.

Featured Image: A Photograph from StockSnap in Pixabay
Header Image: A Photograph from StockSnap in Pixabay

Grisana Punpeng
Grisana Punpeng
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะ พันธุ์เพ็ง - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ ทางด้านการฝึกฝนนักแสดง ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกฝนนักแสดง และการประยุกต์ใช้กระบวนการทางด้านการละครเพื่อพัฒนาตนเอง การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ประจำทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เป็นอาจารย์พิเศษทางด้านการแสดงให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงเป็นผู้จัดอบรมด้านการสื่อสารและการบริการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย