คุยกับหมา หมาเลียปาก: ประโยชน์ของการสื่อสารกับสุนัขของคุณ
กฤษณะ พันธุ์เพ็ง
ความจริงที่เราต้องยอมรับก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว เรามองสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยมุมมองแคบๆ ของความเป็นมนุษย์ เราพยายามมองหาลักษณะของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่คล้ายคลึงกับเรา เราตื่นตาตื่นใจกับการที่มีใบหน้าคนปรากฏบนต้นไม้ สุนัขยืนสองขา นกพูดภาษาคนได้ หรือแมวที่นั่งไขว่ห้างอยู่ข้างถนน เราเพียรพยายามที่จะสอนทักษะมนุษย์ให้กับสัตว์เลี้ยง พร้อมทั้งชื่นชมมันเมื่อมันทำได้ และลงโทษมันเมื่อมันไม่เข้าใจเรา
Anthropomorphism คือการที่เรามอบลักษณะความเป็นมนุษย์ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือสิ่งของที่ไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในนิทาน นิยายและภาพยนตร์แฟนตาซี สำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง anthropomorphism ปรากฏอยู่ในการสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ของเรา การฝึกและคาดหวังให้มันทำสิ่งต่างๆ ภายใต้กฏเกณฑ์ของมนุษย์ (ขับถ่ายในที่ที่กำหนดให้ เก็บของ นั่ง หมอบ คลาน เชคแฮนด์เมื่อได้รับคำสั่ง) และการที่เราคิดว่าเราสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของมันผ่านอากับกิริยาต่างๆ (อาการรู้สึกผิด เขิน กลัว) ผู้เชี่ยวชาญทางพฤติกรรมของสัตว์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เสนอว่า anthropomorphism เป็นสิ่งที่ต้องละเว้นให้ได้หากเราต้องการที่จะศึกษาพฤติกรรมของสัตว์อย่างจริงจัง เราควรจะศึกษาพวกมันผ่านมุมมองของมันให้ได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันนักวิจัยหลายๆ คนก็ยอมรับว่าการละเว้นนั้นเป็นไปไม่ได้เลย (Horowitz & Bekoff, 2007)
สำหรับคนทั่วๆ ไปคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนที่เลี้ยงสัตว์จะพูดคุยกับสัตว์เลี้ยงเหมือนกับเป็นคนในครอบครัวคนหนึ่ง (หรืออย่างน้อยๆผู้เขียนก็เชื่ออย่างนั้น) และไม่ใช่แค่การพูดเป็นคำสั่งสั้นๆ ให้ “นั่ง” “ลง” จากโซฟา หรือ “หยุดเห่า” แต่เป็นการสื่อสารด้วยประโยคยาวๆ บางครั้งผู้เขียนก็ถามความรู้สึกของสุนัขว่า “วันนี้เบื่อไหมที่อยู่บ้านทั้งวัน” เล่าให้ฟังถึงแผนการเดินทางไปเที่ยวทะเล หรือแม้กระทั่งระบายให้สุนัขฟังถึงความเครียดจากการที่เขียนบทความส่งบรรณาธิการไม่ทัน
Hal Herzog ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาที่ Western Carolina University ช่วยยืนยันให้ผู้เขียนมั่นใจว่าการพูดคุยกับสัตว์เป็นเรื่องปกติ เขาให้สัมภาษณ์ในนิตยสารออนไลน์ The Atlantic 1 ว่ามนุษย์เป็น anthropomorphizers โดยธรรมชาติ เรารู้ดีว่าสัตว์ (หรือต้นไม้ ตุ๊กตา รูปปั้น) อาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูดในลักษณะที่มนุษย์เข้าใจ แต่เราก็ยังเชื่อว่าสัตว์เลี้ยงเข้าใจเราและเราเข้าใจสัตว์เลี้ยง เราไม่ได้คาดหวังให้เขาพยักหน้า ส่งเสียงตอบ หรือเดินเข้ามาตบไหล่ให้กำลังใจ แต่เราจินตนาการว่าเขาได้รับสารที่เราส่งให้ เรายอมรับในปฏิกิริยาทุกอย่างที่เขาทำ และมองว่านั่นคือการแสดงออกถึงการรับรู้ของเขา
ในทางการสื่อสาร การพูดคุยกับสัตว์เป็นหนึ่งในลักษณะการสื่อสารแบบ extrapersonal communication หรือการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น พระเจ้า เทพเจ้า วิญญาณ หุ่นยนต์ หรือ Artificial Intelligence ที่ถือกำเนิดขึ้นมาไม่นานมานี้ และถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว (ลองนึกถึง Siri Google Assistant Alexa เป็นต้น 2 ) เวลาที่เราสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงในลักษณะที่กล่าวข้างต้น ความเข้าใจในสารของสัตว์เลี้ยงนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย มีเหตุผลหลักๆอยู่ 3 อย่างที่ทำให้มนุษย์มีความสุขกับการที่ได้สื่อสารกับสัตว์เลี้ยง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาอาจจะไม่ได้รับสารที่เราส่งให้เลยก็ตาม (หลังจากนี้ไปผู้เขียนขอเน้นที่การสื่อสารกับสุนัขเท่านั้น เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ผู้เขียนเข้าใจดีที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์ประเภทอื่น แม้ว่าสิ่งที่จะกล่าวถึงนี้อาจจะเชื่อมโยงได้กับแมว ช้าง ม้า ลิง ควาย และสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้เหมือนกัน)
สุนัขรับรู้อารมณ์ความรู้สึกเราได้และพร้อมจะอยู่เคียงข้างเรา
สุนัขมีระดับความสามารถในการรับรู้และแยกแยะคำที่ต่างกัน สุนัขบางตัวสามารถแยกแยะคำสั่งของเจ้าของได้หลายร้อยจนถึงพันคำ 3 และสุนัขหลายตัวก็อาจจะเข้าใจในสิ่งที่เจ้าของสั่ง แต่ก็เลือกที่จะไม่โต้ตอบ อย่างไรก็ตามสุนัขที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ทุกตัวสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเราได้ผ่านน้ำเสียงและภาษากาย เนื่องมาจากการที่สุนัขได้มีวิวัฒนาการในฐานะเพื่อนมนุษย์มาหลายพันปี เขาอ่านเราได้ดีกว่ามนุษย์ด้วยกันเองด้วยซ้ำ (อาจจะเป็นเพราะเขาไม่สามารถพึ่งภาษาพูดในการสื่อสารความรู้สึกได้ ทักษะในด้านการอ่านภาษากายมนุษย์จึงพัฒนาขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว)
ถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะรู้ว่าสุนัขแทบจะไม่มองตากันเพื่อสื่อสาร แต่สุนัขเรียนรู้ที่จะมองตามนุษย์เพื่ออ่านความรู้สึกและความต้องการ เขารู้ว่าเราโกรธ เสียใจ หรือมีความสุขได้ทันที และตอบสนองกับภาษากายและพลังงานที่เราส่งให้ตามศักยภาพที่เขามี ซึ่งอาจจะเป็นความใกล้ชิด การเลีย เห่า เขี่ย ฯลฯ และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ความเชื่อใจระหว่างมนุษย์กับสุนัขพัฒนาขึ้นมา
สุนัขเป็นผู้ฟังที่ดีและไม่ตัดสินเรา
เจ้าของสุนัขทุกคนรู้ดีว่าสุนัขดีกว่าแฟนหรือสามีภรรยาในฐานะผู้ฟังที่ไม่ตัดสิน เขาพร้อมที่จะเป็นที่ระบายความคิด ความรู้สึกของเรา เขาไม่ขัด ไม่เอาเรื่องของเราไปเล่าต่อให้สุนัขข้างบ้านฟัง และไม่ตัดสินเราว่าเป็นเพื่อนที่คิดมาก หรือแฟนที่ขี้หึง เขาสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับเรา และในพื้นที่นี้เราไม่ได้คาดหวังความเข้าใจ หรืออะไรที่นอกเหนือจากความเป็นสุนัขที่อยู่เคียงข้างเราเลย เมื่อเราได้พูดระบายออกมาก็ช่วยให้เรามองเห็นปัญหาได้ชัดเจน และจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น
การพูดกับสุนัขช่วยให้เรามีสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
ทุกคนเข้าใจดีว่าการได้ใช้เวลาอยู่กับสุนัขช่วยให้เราผ่อนคลายได้ ความไม่ซับซ้อนของสุนัขทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อหน้าเขา เราเป็นตัวของเราเองได้อย่างเต็มที่ ปราศจากความกังวลในความบกพร่องหรือขัดข้องในการสื่อสารที่พบได้ทั่วไปในการสื่อสารระหว่างบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นสุนัขยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นนักบำบัดในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา โรงเรียน และสถานพยาบาลผู้พิการต่างๆ ในหลายประเทศ และมีรายงานวิจัยที่ระบุว่าเด็กที่เป็นโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorders) จะมีส่วนร่วมในบทสนทนาและกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีสุนัขอยู่ร่วมด้วย (Norton, 2013) 4
การพูดกับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกจากจะไม่ใช่เรื่องประหลาดแล้ว ยังเป็นสัญญาณของความฉลาดด้วย นักพฤติกรรมศาสตร์ Nicholas Epley ยืนยันว่ามันคือการกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถชั้นสูงของสมองมนุษย์ (Rebolini, 2017) อย่างไรก็ตามความจริงที่เราต้องยอมรับในความสัมพันธ์นี้ก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่าการสื่อสารกับสุนัขล้วนทำให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ในฐานะผู้ส่งสาร มากกว่าที่ตัวของสุนัขที่เป็นผู้รับสาร เราใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้สุนัขมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้ และตัดสินมันเมื่อมันทำไม่ได้ ในขณะที่สุนัขก็ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำความเข้าใจกับความต้องการและความรู้สึกของเรา มันพร้อมจะอยู่เคียงข้าง เป็นผู้ฟังที่ดี และ “เลีย” ตอบในทุกๆ ครั้งที่เราต้องการ คำถามที่เจ้าของสุนัขรวมถึงสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ต้องถามตัวเองก็คือ
“เราได้พยายามที่จะเข้าใจพวกเขาผ่านสายตาของเขาอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง”
รายการอ้างอิง
- Horowitz, A. C., & Bekoff, M. (2007). Naturalizing Anthropomorphism: Behavioral Prompts to Our Humanizing of Animals. Anthrozoös, 20(1), 23-35.
- Kane, E. (2014, May 8). 5 Reasons We Recommend Talking to Your Dog. Retrieved November 18, 2017, from https://www.dogster.com/lifestyle/dog-behavior-training-communication-tips-talk
- Lombardi, L. (2015, February 5). What’s Going On When You Talk to Your Pet. Retrieved November 18, 2017, from https://www.vetstreet.com/our-pet-experts/whats-really-going-on-when-you-talk-to-your-pet
- Nadalin, T. (2017, July 19). Health benefits of talking to your dog. Retrieved November 18, 2017, from https://www.heraldsun.com.au/news/sponsored-content/health-benefits-of-talking-to-your-dog/news-story/23f58a76c56c07554ff06eca1efca62a
- Norton, A. (2013, February 26). Can Therapy Dogs Help Kids With Autism? Retrieved November 18, 2017, from https://consumer.healthday.com/cognitive-health-information-26/autism-news-51/can-therapy-dogs-help-kids-with-autism-673659.html
- Rebolini, A. (2017, August 18). Why Do Humans Talk to Animals If They Can’t Understand? Retrieved November 18, 2017, from https://www.theatlantic.com/health/archive/2017/08/talking-to-pets/537225/
1 Rebolini, A. (2017, August 18). Why Do Humans Talk to Animals If They Can’t Understand? Retrieved November 18, 2017, from https://www.theatlantic.com/health/archive/2017/08/talking-to-pets/537225/
2 ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับ AI จะมีความใกล้เคียงกับการสื่อสารระหว่างมนุษย์จนอาจจะแยกไม่ออกเลยก็ได้
3 มีสุนัขพันธุ์ Border Collie ชื่อ Chaser ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะสามารถเข้าใจคำสั่งได้มากถึงหนึ่งพันคำ (Kane, 2014)
4 แต่ก็ไม่ใช่ว่าสุนัขทุกตัวจะทำหน้าที่นักบำบัดได้ มีกระบวนการคัดเลือกและทดสอบที่ซับซ้อนพอสมควร
Header Image: A Photograph by Sven Lachmann on Pixabay