parallax background

นักแสดง กับการพัฒนาทักษะทางด้านจินตนาการ (2)

นักแสดง กับการพัฒนาทักษะทางด้านจินตนาการ (2)

กฤษณะ พันธุ์เพ็ง


ในครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านจินตนาการของนักการละครสองคน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทฤษฎีการฝึกฝนนักแสดงสมัยใหม่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 (Konstantin Stanislavski และ Michael Chekhov) และแม้ว่าจะเป็นแบบฝึกหัดที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในบริบทของละครเวทีตะวันตกในช่วงเวลาหนึ่ง การนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ก็สามารถทำได้ไม่ยากและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน เช่นเพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเองและสร้างแรงผลักดันในการทำงาน หรือเพื่อให้ผู้ให้บริการเข้าใจความรู้สึกของผู้รับบริการ เป็นต้น

ฟิลลิป ซาริลลี (Phillip Zarrilli) นักการละครร่วมสมัยอีกหนึ่งคนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในครั้งนี้ได้พัฒนาทฤษฎีและรูปแบบการฝึกฝนนักแสดงขึ้นมาอย่างเป็นระบบในแบบที่เรียกว่า Psychophysical Actor Training โดยดึงเอาหลักการฝึกฝนนักแสดงมาจากหลากหลายศิลปะป้องกันตัวและการฝึกพัฒนาสติของเอเชีย (Kalarippayattu โยคะ ไท้เก๊ก ละครโน เป็นต้น)

Psychophysical actor training ในแบบของซาริลลีเป็นการฝึกฝนระยะยาว มากกว่่าสามเดือนขึ้นไป โดยเน้นการฝึกฝนท่าทางซ้ำๆ ทุกๆ วัน เพื่อให้เกิดสภาวะที่เขาเรียกว่า “Acting as an embodied phenomenon and process” ซึ่งก็คือการที่สภาวะภายในกับภายนอกของนักแสดงมีการสื่อสารสัมพันธ์กันในกระบวนการรับรู้ รู้สึก จดจำ ปรับให้เข้ากัน และจินตนาการ ซึ่งเป้าหมายทางการแสดงของซาริลลี ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การแสดงแบบใดแบบหนึ่ง เพราะเขาให้ความสำคัญกับพลังงานในตัวของนักแสดงในขณะแสดงมากกว่า หลักการของเขาจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นๆ ที่หลากหลายได้

พลังงานในตัวของนักแสดงที่กล่าวถึง ไม่ใช่เรื่องของกำลังร่างกาย (Physical power) แต่อย่างใด เพราะแม้แต่ในขณะที่นักแสดงยืนอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อใดๆ ก็ยังเกิดกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างภายในกับภายนอก ทั้งการเปิดการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส สร้างความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายกับสภาพแวดล้อม การมีสติกับปัจจุบัน การใช้ความจดจำ การรับรู้ความรู้สึก และการใช้จินตนาการ เขาก็สามารถสื่อสารพลังงานออกไปให้คนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้ซาริลลีเรียกว่า “Actor’s presence”

สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นนักแสดง การฝึกฝนเพื่อสร้าง presence ก็เป็นประโยชน์ในการสื่อสารระหว่างบุคคล และเป็นประโยชน์อย่างมากในการพูดในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามการฝึกฝนตามแบบของซาริลลี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการฝึกที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจไม่สะดวกสำหรับบุคคลทั่วไป ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอยกแนวทางการฝึกฝนของเขาขึ้นมาเป็นตัวอย่าง และเสนอแนะวิธีการที่ผู้อ่านจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เองได้

1. การใช้จินตนาการเพื่อเตรียมความพร้อม

การใช้จินตนาการเป็นกระบวนการที่มีพลังและเชื่อมโยงโดยตรงกับการเคลื่อนไหวและสภาวะร่างกาย ไม่ใช่แค่กระบวนการทำงานของสมองเพียงอย่างเดียว ในการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึก ซาริลลีจะให้นักแสดงของเขาจินตนาการการเคลื่อนที่ของลมหายใจเข้าและออก รับรู้ให้ชัดเจนถึงตำแหน่งของลมหายใจ ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริงทางสรีรวิทยาเลยก็ได้ (เช่นการที่จินตนาการว่าลมหายใจเคลื่อนที่ไปถึงบริเวณสะโพกได้) พร้อมกับเปิดการรับรู้ถึงพื้นที่ด้านหลัง ข้าง บน และล่างของนักแสดง เสมือนว่ามีดวงตาอยู่ที่แผ่นหลัง หัวไหล่ บนศีรษะและใต้ฝ่าเท้า

จากนั้นนักแสดงจะจินตนาการว่า มีดวงตาอีกดวงหนึ่งบริเวณท้องน้อย (ประมาณสองนิ้วลงมาจากสะดือ) ด้านหลังของดวงตานี้มีแหล่งน้ำใสๆนิ่งๆอยู่ และน้ำจากจุดๆ นี้จะไหลลงไปตามขาทั้งสองข้างลงไปในพื้นดินใต้ฝ่าเท้า จากนั้นจินตนาการต่อว่ามีสายน้ำเล็กๆ จากแหล่งน้ำนี้ที่ไหลขึ้นผ่านกลางลำตัว ขึ้นไปที่หน้าอก หัวไหล่ขวา ต้นแขน ท่อนแขน ผ่านฝ่ามือออกไปยังปลายนิ้ว ทะลุออกลงไปที่พื้น จากนั้นนักแสดงจะขยับแขน เพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของสายน้ำให้พุ่งตรงไปด้านหน้าในระดับสายตาไปยังเส้นขอบฟ้า จากนั้นจึงลองใช้แขนทั้งสองข้าง และเริ่มเคลื่อนที่ไปรอบๆ โดยน้ำที่ถูกผลิตขึ้นมานี้จะไหลเวียนไปเรื่อยๆ ทั่วร่างกายไม่มีที่สิ้นสุด และแผ่ขยายออกไปยังพื้นที่รอบๆ นักแสดงจะต้องพยายามรักษาจินตนาการนี้ให้ต่อเนื่องในขณะที่เคลื่อนที่

ซาริลลี่เน้นย้ำให้นักแสดงรักษาการมีสติกับลมหายใจและจินตนาการให้ยาวนานที่สุด ซึ่งเมื่อทำซ้ำหลายๆ ครั้งนักแสดงก็จะยิ่งสามารถมีสติอยู่กับจินตนาการนี้ได้นานมากขึ้น ลดความคิดรบกวนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นได้ง่ายขึ้น ดึงจิตกลับมาอยู่กับกายและสภาวะปัจจุบัน

สำหรับพุทธศาสนิกชนแล้ว แบบฝึกหัดนี้เปรียบได้เป็นการฝึกสติแบบหนึ่ง เพียงแค่เพิ่มการใช้จินตนาการเข้าไป เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการสื่อสารพลังงานออกมา และส่งออกไปยังผู้ชมหรือผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผู้ที่จะต้องการประยุกต์ใช้แบบฝึกหัดนี้ในชีวิตประจำวัน หรือในโอกาสสำคัญที่จำเป็นจะต้องใช้ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ก็สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดของภาพที่จินตนาการได้ เช่นแทนที่จะเป็นภาพของน้ำ ก็สามารถเปลี่ยนเป็นภาพของลม ไฟ หรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความรู้สึก จังหวะ น้ำเสียง และภาษากายโดยรวมของผู้สื่อสารได้ เช่นในการพูดเพื่อสร้างแรงผลักดัน การเตรียมพร้อมด้วยการจินตนาการถึงดวงไฟที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกาย และแผ่ขยายไปรอบๆ ก็สามารถช่วยให้การสื่อสารนั้นมีความเข้มข้น มีจังหวะที่หนักแน่น และเต็มไปด้วยพลังได้

2. การใช้จินตนาการเพื่อสร้างแผนที่การสื่อสาร

ในการฝึกฝนเพื่อการแสดงในแบบ psychophysical acting ซาริลลี่จะให้นักแสดงสร้าง “performance score” ขึ้นมา ซึ่งเป็นโครงสร้างการแสดงอย่างเป็นลำดับขั้นตอนของนักแสดงคนหนึ่งในการแสดงครั้งหนึ่ง โครงสร้างนี้ประกอบด้วย การกระทำ/การเคลื่อนไหวของนักแสดง หรือภาพจินตนาการ ซึ่งถูกร้อยเรียงอย่างมีเหตุมีผล มีความต่อเนื่อง เต็มไปด้วยรายละเอียดในแง่ของจินตนาการ ความรู้สึก จังหวะ ระดับและขนาดของการเคลื่อนไหว อาจจะเปรียบเทียบได้กับชุดท่าเต้น (choreography) ของนักเต้น แต่เพิ่มรายละเอียดของสภาวะภายใน หรือความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะภายในกับภายนอกของนักแสดงเข้าไปด้วย ซึ่งหมายความว่าใน performance score นักแสดงอาจแทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่ายกายภายนอกเลยก็ได้ แต่กลับเต็มไปด้วยการทำงานของพลังงานภายใน

การสร้าง performance score ลักษณะนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพูดในที่สาธารณะ หรือการพูดในที่ประชุมได้ โดยผู้สื่อสารสามารถแบ่งการพูดออกเป็นลำดับ (ซึ่งจะแตกต่างจากการแบ่งการพูดตามเนื้อหา) โดยอาจจะกำหนดเป็นการเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง กำหนดเป็นจังหวะในการสื่อสาร (เร็ว ช้า สั้น ยืด) หรือตามภาพจินตนาการ ยกตัวอย่างเช่น ผู้พูดคนหนึ่งที่ต้องการจะสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาขยะบริเวณชายหาด ในขณะที่เคลื่อนที่ไปยังจุดที่หนึ่ง เขาสามารถที่จะจินตนาการว่าพื้นที่รอบๆ ตัวของเขาเป็นชายหาดที่กว้างใหญ่เต็มไปด้วยน้ำทะเลที่ใสสะอาดในช่วงแรก แต่พอเขาเปลี่ยนอากัปกิริยา หรือเปลื่ยนตำแหน่งที่ยืน ในช่วงที่เขาต้องบรรยายเกี่ยวกับปัญหาขยะ ภาพนั้นอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นภาพของชายหาดที่สกปรก เต็มไปด้วยสีเทา น้ำทะเลที่เต็มไปด้วยขยะ และกลิ่นที่เหม็นคลุ้ง การกำหนดภาพเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพเหมือนจริง เพียงแต่ต้องเป็นภาพที่ผู้สื่อสารสามารถจินตนาการและมีความรู้สึกร่วมไปด้วยได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาษากายและพลังในการสื่อสารของเขา และจะสามารถทำให้ผู้รับสารเข้าถึงภาพและความรู้สึกของผู้ส่งสารได้อย่างเต็มที่ด้วย

แบบฝึกหัดของซาริลลี่ทั้งสองอย่างนี้อาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่เมื่อลองทำจริงๆ แล้วผู้ฝึกฝนจะรู้ว่าการที่จะรักษาจินตนาการให้ต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาที่พูด ผู้รับสาร หรือสิ่งอื่นๆที่อาจจะรบกวนสมาธิได้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนมั่นใจว่าหากได้ลองฝึกฝนอย่างต่อเนื่องแล้ว แบบฝึกหัดทางจินตนาการจะช่วยเพิ่ม presence ให้ผู้สื่อสาร เพิ่มพลังในการสื่อสาร พัฒนาบุคลิกภาพ และความมั่นใจ และทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

รายการอ้างอิง

  • Zarrilli, P., Daboo, J. and Loukes, R., 2013. Acting: Psychophysical Phenomenon and Process: Intercultural and Interdisciplinary Perspectives. Palgrave Macmillan.
  • Zarrilli, P., 2009. Psychophysical Acting: An Intercultural Approach After Stanislavski. Routledge
Featured Image: A Featured Image by Rafael Hernandezfrom from “A Roundup of Physical Theatre Training Programs in the U.S.” in American Theatre
Header Image: A Photograph from Told By the Wind by Jo Shapland in Art Scene in Wales

Grisana Punpeng
Grisana Punpeng
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะ พันธุ์เพ็ง - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ ทางด้านการฝึกฝนนักแสดง ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกฝนนักแสดง และการประยุกต์ใช้กระบวนการทางด้านการละครเพื่อพัฒนาตนเอง การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ประจำทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เป็นอาจารย์พิเศษทางด้านการแสดงให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงเป็นผู้จัดอบรมด้านการสื่อสารและการบริการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย