parallax background

Lift Up Your Wings กับการพัฒนาบุคลิกภาพและศักยภาพการคิด การพูด และการนำเสนอตนเอง ในการสัมภาษณ์งานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

Lift Up Your Wings กับการพัฒนาบุคลิกภาพและศักยภาพการคิด การพูด และการนำเสนอตนเอง ในการสัมภาษณ์งานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

ปภัสสรา ชัยวงศ์


ยังคงว่าด้วยการนำเสนอองค์ความรู้สกัดเข้มข้นจากโครงการปริญญานิพนธ์สาขาวาทวิทยา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการเปิดพื้นที่การเรียนรู้แบบกึ่ง Action Research เพื่อให้นิสิตนำความรู้ทางวาทนิเทศและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาประยุกต์ใช้ เรียนรู้กระบวนการการบริหารโครงการอย่างมืออาชีพและครบวงจร มีความสมจริงสมจังเพื่อจะพร้อมเข้าสู่การทำงานและการบริหารโครงการในอนาคต และจะได้เผยแพร่ต่อผู้สนใจทางเว็บไซต์ของทางภาควิชาฯ โดยมีธีม “นวัตกรรม คิด ทำ เพื่อสังคม” เป็นแก่นหลักของโครงการฯ เพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ ได้นำแนวคิด design thinking ของ d.school (หรือ The Hasso Plattner Institute of Design มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา) มาปรับใช้ในกระบวนการด้วย

โครงการชุดที่ 2 ที่จะดำเนินการเผยแพร่ (project dissemination) ผ่านแพลตฟอร์มนี้ เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาบุคลิกภาพ” และ “การพัฒนาศักยภาพการคิด การพูด และการแสดงออก” ในบริบทต่าง ๆ โดยโครงการที่จะนำเสนอในตอนนี้ เรียกได้ว่า “เปิดรับสมัครปุ๊บ ก็ต้องปิดปั๊บ” – นั่นเป็นเพราะทันทีที่ประชาสัมพันธ์ออกไป ก็มีผู้สมัครเข้ามาถล่มทลายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จนเกินกว่าจำนวนที่รับได้แล้วจึงต้องขออนุญาตปิด แต่หากย้อนกลับไปดูชื่อตอน คงไม่มีอะไรต้องสงสัย เพราะหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยม และเป็นความฝันของหนุ่มสาวหลายคนมาตลอดยุคสมัย คือการเป็น “พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน”

หลังจากได้ทำการ “รับฟัง” ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ผู้ดำเนินโครงการ (ชื่อเรียงตามตัวอักษร) คือ นิสิตนโม ดิสกุล และนิสิตศุภรัตน์ สาครเสถียร ก็ define and identify ว่าศาสตร์วาทนิเทศเป็นพื้นฐานสำคัญในการ “ติดตั้งกระบวนการคิด” และ “สร้างความแตกต่างอย่างน่าประทับใจ” ของผู้มีฝันจะเป็นนางฟ้าและเทวดา ซึ่งได้แก่ ผู้สมัครงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคน คิดได้ดังนี้ จึงตั้งชื่อโครงว่า “Lift up you wings: สร้างความมั่นใจในการสัมภาษณ์งานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน”

ต้องเกริ่นไว้ก่อนดูคลิปว่า โครงการนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เข้าอบรมให้สามารถสอบเข้าไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินใดสายการบินหนึ่ง หากแต่นิสิตได้ ideate และสร้างกระบวนการ “ติดตั้งวิธีคิด” เพื่อเป็นกรอบให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสมัครงานกับสายการบินใด ๆ หรือแม้กระทั่งการสมัครงานในองค์กรอื่น ๆ ได้เช่นกัน วิธีคิดเพื่อติดตั้งที่ว่าอยู่ภายใต้กรอบ “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ผสานเข้ากับแนวคิดการสัมภาษณ์และการสื่อสารองค์กร โดย “รู้เขา” ว่าด้วยการรู้ถึงวัฒนธรรมขององค์กร แนวคิด แนวทางปฏิบัติ เกณฑ์การคัดเลือกพนักงานของสายการบินโซนตะวันตก ตะวันออก ตะวันออกกลาง และไทย พูดง่าย ๆ ว่า “รู้จักผู้รับสารของเรา” เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาดูว่า “เขากับเราจะเข้ากันได้มั้ย” หรือ “เราจะเข้ากับเขาคนไหนได้ดีกว่ากัน” จากนั้นมาสู่การ “รู้เรา” คือการสังเกตภาษาและอวัจนภาษาทั้งที่เรารู้ และเราไม่รู้ ผ่านมุมมองของทั้งตัวเราและบุคคลอื่น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในหลักสูตร ส่วนสุดท้าย เป็นการ “รู้รบ” ฉบับย่อ ผ่านการตอบคำถามชี้ชะตาสุดคลาสสิคว่า “ทำไมจึงอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน”

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

Lift up you wings: สร้างความมั่นใจในการสัมภาษณ์งานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Part 1 – รู้เขา) โดย นโม ดิสกุล และ ศุภรัตน์ สาครเสถียร

คลิกเพื่อชมวีดีโอโครงการ

Lift up you wings: สร้างความมั่นใจในการสัมภาษณ์งานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Part 2 – รู้เรา) โดย นโม ดิสกุล และ ศุภรัตน์ สาครเสถียร

เช่นเดียวกับโครงการปริญญานิพนธ์ 2 โครงการก่อนหน้านี้ ภายใต้เงื่อนไขเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง การดำเนินการโครงการยังมีข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น กรอบเวลาในการดำเนินงาน จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการฝึกอบรมที่อาจจะไม่สามารถตอบทุกคำถามที่ผู้เข้าอบรม (รวมถึงท่านผู้ชม ณ ขณะนี้) อยากทราบได้ ดังนั้น หากท่านผู้อ่าน/ท่านผู้ฟังมีข้อเสนอแนะ ข้อชวนคิดต่าง ๆ สามารถแชร์เข้ามาได้ผ่านช่องทาง inbox ของแฟนเพจ Speech Communication Network เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวาทนิเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลิกภาพ และศักยภาพในการเป็นสื่อบุคคลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในฐานะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและในงานบริการด้านอื่น ๆ ต่อไป

Featured Image: A Photograph by Thai Airways on Thai Airways
Header Image: A Photograph by Skitterphoto on Pixabay

Papassara Chaiwong
Papassara Chaiwong
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปภัสสรา ชัยวงศ์ - สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและเอกจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับวาทวิทยา ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านการสื่อสารในองค์กร การสื่อสารระหว่างบุคคลในบริบทต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีกับการสื่อสารของมนุษย์