parallax background

Monster Calls: จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

Monster Calls: จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ปอรรัชม์ ยอดเณร


แนวคิดด้านจิตวิทยาสมัยใหม่นั้น มุ่งเน้นที่จะศึกษาพฤติกรรมภายในของมนุษย์ เช่น ความคิด ความรู้สึก จิตใจ ฯลฯ มากกว่าการศึกษาพฤติกรรมภายนอก เช่น การกระทำ การพูด ฯลฯ  เพราะมีความเชื่อว่า พฤติกรรมภายในนั้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมภายนอก ซึ่งลักษณะการศึกษาจิตด้วยหลักวิทยาศาสตร์ใหม่เหล่านี้กลับมีความพ้องพานสัมพันธ์กับภาษิตเก่าที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อจิตหรืออุปมาเป็นพฤติกรรมภายใน เช่น ความรู้สึกนึกคิดของเรา เป็นไปในทางไหน เราก็จะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อความคิดนั้น ในทางพุทธศาสนาก็มักจะกล่าวว่า จิตนั้นถูกควบคุมด้วยกิเลสและปัญญา หากเมื่อใดที่กิเลส  อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำความคิดและความรู้สึก จิตของเราก็มักจะเผลอไผลหลงไปในกิเลสทางมืด เราก็จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ฯลฯ แต่หากมีปัญญาเป็นตัวควบคุมกิเลส จิตของเราก็จะไม่ตกลงไปและสามารถแสวงหาแนวทางการคิดและการกระทำพฤติกรรมที่เหมาะควรในทางสว่างได้

สิ่งที่กล่าวมานี้ เกี่ยวข้องในเชิงนิเทศศาสตร์อย่างไรบ้าง

ในทางนิเทศศาสตร์นั้นได้มีการนำหลักการทางจิตวิทยา พฤติกรรมภายนอกที่ถูกควบคุมโดยพฤติกรรมภายในนี้มาประยุกต์ใช้ในหลายสาขา อาทิ สาขาการภาพยนตร์ มีการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้แนวคิดนี้มาเป็นฐานในการนำเสนอเนื้อหาของสาร (message) สาขาการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็มีการสร้างหนังโฆษณาที่แสดงให้เห็นถึงภาวะของการตัดสินใจเลือกบางสิ่งบางอย่าง ในทางสื่อสารการละคร มีแนวคิดการสื่อสารการแสดงที่ใช้วิธีการสร้างความเชื่อจากภายใน หรือ Inner Believe ที่รู้จักกันในสายการฝึกฝนการแสดงแบบ Inside out และมีละครที่ใช้วิธีการนำเสนอเรื่องราวผ่านความคิด 2 ด้านของตัวละครให้เห็นมากมาย  ในทางวาทวิทยาในยุคใหม่นี้ ได้มีทฤษฎีแนวทางการสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication) ใหม่ๆ ก่อเกิดขึ้นมากมาย โดยให้ใช้คำพูดหรือภาษาในการกำหนดจิตเพื่อให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดที่ต้องการด้วยวิธีการต่างๆ นานา จุดประสงค์ของแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ เหล่านี้ก็เพื่อให้เราตระหนักรู้และสามารถควบคุมจิตให้ไปในทางดีเพื่อให้กายสามารถมีแรงขับในการกระทำสิ่งต่างๆ อย่างที่น่าจะเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมภายนอกที่ผิดที่ผิดทางหรือไม่เป็นไปตามที่จิตต้องการ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นจะยกตัวอย่าง ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรรกรรมเยาวชนเรื่อง A Monster Calls ที่ตัวเอกในเรื่องนั้นรู้สึกโกรธและกดดันจากสภาวะภายนอก จึงคิดไปเองว่าตนเองนั้นจินตนาการว่าได้ระบายอารมณ์ความอัดอั้นที่มีมานานโดยการสั่งการให้ปีศาจต้นไม้ทำลายบ้านที่เห็นในความฝันให้ย่อยยับและตนเองก็เป็นผู้ร่วมทำลายด้วย เมื่อจินตนาการภาพแห่งความสะใจหมดไป ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ ห้องรับแขกในบ้านของคุณยายผู้ซึ่งหวงแหนทรัพย์สมบัติเก่าแก่ที่เก็บไว้มานานชั่วอายุคนได้ถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี พลันทันใดนั้น ตัวเอกในเรื่องก็ได้สติฉุกคิดขึ้นมาได้และเสียใจกับสิ่งที่เห็นตรงหน้านั้น

ภาพเปรียบเทียบจินตนาการและความเป็นจริงจากตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง A Monster Calls

หนังพยายามจะแสดงให้เห็นว่า ปีศาจต้นไม้นั้น ก็คือมุมมืดของจิตของตัวเอก ที่เมื่อไรก็ตามที่เราไม่รู้เท่าทันความคิด ความรู้สึกของตนเอง หรือแม้กระทั่งพยายามที่จะเก็บ ลด ละ เลิก พฤติกรรมภายในเหล่านั้นมากเท่าไร ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เปรียบเสมือนการปล่อยปีศาจร้ายภายในออกมาภายนอกโดยที่ไม่รู้ตัว

จิตและกายนั้นไม่อาจจะแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นส่วนเกี่ยวนำซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งผู้เขียนเองในขณะเขียนบทความนี้นั้นก็สื่อสารขัดแย้งภายในตนเองระหว่างการเขียนบทความนี้ตลอดเวลา เขียนแล้วก็ลบ ลบแล้วก็กลับมาเขียนใหม่ จิตสั่งให้เขียน แต่กายสั่งให้ลบเมื่อพิจารณาซ้ำ เป็นอย่างนี้ร่ำไป

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องตระหนักรู้และเท่าทันคือ เท่าทันจิตและกายของตนอยู่สม่ำเสมอ เพราะหากเราไม่เท่าทันขึ้นมาเมื่อไรเราก็จะมีพฤติกรรมภายนอกที่รั่วไหลออกมาจากจิตและสัญชาติญาณหรือพฤติกรรมภายใน การเท่าทันนั้นไม่ใช่การเก็บหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากแต่เป็นการตระหนักรู้ถึงความคิด ความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้นทั้งด้านดีและด้านร้าย ด้านที่เราอยากให้เป็นและไม่อยากให้เป็น รู้ว่าเรามีความคิดความรู้สึกไหนเกิดขึ้น มองให้เห็นว่ามี-อยู่-เป็น อย่างนั้นและยอมรับว่าเรากำลังคิด-รู้สึก เป็น-อยู่-คือ เช่นนั้นเอง ไม่ตัดสินว่าสิ่งนั้นดี-ชั่ว ชอบ-ไม่ชอบ ใช่-ไม่ใช่ ขาว-ดำ เพียงแต่ให้รับรู้และกอดรับความคิดความรู้สึกนั้นไว้ด้วยความเข้าใจอย่างอ่อนโยนก็เพียงพอ

รายการอ้างอิง

Paonrach Yodnane
Paonrach Yodnane
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปอรรัชม์ ยอดเณร - อาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำหน้าที่พิธีกรในรายการโทรทัศน์ชื่อดัง อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และโฆษกพรรคการเมือง จากประสบการณ์การอยู่เบื้องหน้า ปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลิตนิสิต มีความสนใจในการประยุกต์ใช้การสื่อสารเชิงวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงในบริบทต่าง ๆ เช่น จิตวิทยาการสื่อสาร การสื่อสารสำหรับผู้นำ การสื่อสารเพื่อการให้บริการ การเป็นพิธีกรและผู้ประกาศ การสื่อสารภายในตนเอง การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง