parallax background

การสื่อสารภายในตนเอง กับการเดินทางขึ้นสู่ปล่องภูเขาไฟฟูจิ

การสื่อสารภายในตนเอง กับการเดินทางขึ้นสู่ปล่องภูเขาไฟฟูจิ

ปอรรัชม์ ยอดเณร


เมื่อวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยมีเป้าหมายเพื่อไปปีนพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสขึ้นไปเฉพาะในฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี แล้วแต่ช่วงจังหวะและสภาพอากาศซึ่งต้องคอยติดตามข่าวสารกันเป็นระยะ

การเดินทางในครั้งนี้ผู้เขียนได้วางแผนกันตั้งแต่ต้นปีเมื่อรู้ตารางเวลาวันหยุดยาวในประเทศไทยและจัดสรรเวลาที่จะสามารถไปได้ทันในช่วงที่เปิดให้ขึ้นเขาได้ ซึ่งตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาในเดือนกรกฎาคมพอดี แต่กว่าจะสามารถจองที่พักและการเดินทางสู่ยอดเขาได้ก็ต้องรอเวลาถึงเดือนเมษายนจึงจะสามารถยืนยันการเดินทางและที่พักบนยอดเขาได้ ซึ่งอาศัยน้องๆ ที่รู้จักที่ญี่ปุ่นคอยช่วยส่งข้อมูลและเป็นผู้จองทัวร์การเดินทาง อันเนื่องจากบริษัททัวร์ในเมืองไทยก็มีไม่กี่เจ้าที่จะเปิดขายทัวร์นี้และก็มีราคาสูงมาก จึงต้องจองจากทางญี่ปุ่น และการจองก็มีทั้งแบบการเดินทางไปพร้อมกับหัวหน้าทัวร์โดยจะขึ้นเป็นชุดๆ ไปพร้อมกัน หรือจะเลือกเดินทางขึ้นเขาเองแล้วนัดหมายขึ้นรถบัสไปกลับพร้อมกัน หรือจะเลือกแบบแบคแพคเกอร์ทำเองทุกอย่างเลยก็ได้ แต่จากการศึกษาและการปรึกษาสมาชิกภายในกลุ่มจึงได้คำตอบว่าเราเลือกทางที่มีบริษัททัวร์พาไปแต่ไม่ต้องนำทาง เพราะเส้นทางขึ้นเขามีทางเดียว หมายถึงถ้าเราเลือก trail แล้วก็แค่ไปตามทางไม่มีหลง เดินตามๆ กันไป เพราะในแต่ละปีมีคนขึ้นเขาเป็นจำนวนมากอีกทั้งยังเป็นเป้าหมายของคนญี่ปุ่นที่ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องพิชิตยอดเขาฟูจิเพื่อไปดูแสงแรกแห่งวันให้สมกับเป็นดินแดนอาทิตย์อุทัยให้ได้ เราจึงเห็นในรีวิวต่างๆ มีลูกเด็กเล็กแดงจนถึงผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต่างค่อยๆ ปีนขึ้นไปบนยอดเขา ฟังดูง่ายๆ และโรแมนติกใช่ม๊า … นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนคิดในครั้งแรกที่ตกลงเลือกทริปการเดินทางในครั้งนี้ แต่ต่อจากนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น … เริ่มจาก

ก่อนออกเดินทาง Self คุณนายละเอียดหิวข้อมูล เริ่มทำงาน

การเลือกเส้นทาง จากรีวิวเราพบว่าเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขานั้นมี 4 เส้นทาง ทางที่นิยมมากที่สุดคือ Yoshida Trail ซึ่งเป็นทางที่ผู้เขียนเลือก ส่วนเส้นทางน้องใหม่ที่มาแรงแซงโค้งคือ Fujinomiya Trail ซึ่งมีจุดขายว่าเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเนื่องจากจุดเริ่มต้นเลยจากชั้น 5 ขึ้นไปอีกหน่อย ส่วนเส้นทางที่ยากที่สุดคือ Gotemba Trail และอีกเส้นทางที่ไม่ค่อยนิยมแต่มีต้นไม้ร่มรื่นคือ Chibashiri Trail (ข้อมูลจาก https://www.jnto.or.th/activities/fuji/ เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560)

จากข้อมูลที่รวบรวมมา เราเลือกบริษัททัวร์ที่มีรถบัสมารับจากในเมืองโตเกียวเพื่อพาเราไปยังสถานีฟูจิชั้น 5 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเขาในเส้น Yoshida Trail เมื่อไปถึงผู้นำทัวร์ก็จะนัดหมายเวลาในการเข้าพักบนที่พักที่เรียกว่า Hut ที่สถานีชั้น 8 ซึ่งที่พักจะจัดเตรียมอาหารเย็นและอาหารเช้าไว้ให้เราซึ่งควรถึงในเวลา 18.00 น. และเวลาการนัดหมายลงมาพบกันที่จุดเริ่มต้นเพื่อออกรถบัสกลับเข้าโตเกียวพร้อมกันเวลา 12.00 น แต่แนะนำให้เราลงมาถึงให้ทัน 10.30 น. เพื่อหลีกเลี่ยงรถติด จากนั้นก็ปล่อยอิสระให้เราเดินกันขึ้นไปตามอัธยาศัย

จากการได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งของญี่ปุ่นเองและของต่างชาติที่ได้ทำรีวิวไว้รวมถึงคนไทยเองที่เคยขึ้นไปก็ตาม เราก็จะพบว่ามันช่างสุดแสนจะโรแมนติก สะดวกสบาย ไม่ยากๆ เด็กๆ ก็ปีนได้ แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนรีวิวถึงเส้นทางขาลง ซึ่งนั่นแหละคือจุดหฤหรรษ์และโหดสุดของเส้นทางในความเป็นจริง

การเตรียมอุปกรณ์

จากการสำรวจข้อมูลหลายๆ แหล่งพบว่า เราควรเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการเดินป่าจริงๆ แบบกึ่งๆ มืออาชีพ ที่ไม่ควรสมัครเล่นมากไปเพราะจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางระยะไกล เช่น

เสื้อกางเกง ควรเป็นแบบระบายอากาศได้ดี หากมีคุณสมบัติแห้งเร็วด้วยจะช่วยให้สบายตัวมากขึ้น

รองเท้า ควรเป็นรองเท้าพื้นหนาจะเป็นรองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ หรือเปิดหัว เพราะเดินลงน้ำหนักจะจิกไปที่ปลายเท้ามากหน่อยลดแรงกระแทกและกันข้อเท้าพลิกได้ หรือถ้าไม่มีจริงๆ ไม่อยากหาซื้อ ก็รองเท้าผ้าใบกีฬาออกกำลังกายที่ใส่สบาย แนะนำให้เลือกรองเท้าที่ใหญ่กว่าปกติ 1 เบอร์หรือมีพื้นที่ส่วนหน้าเหลือเพื่อไม่ให้ปลายนิ้วกดกระแทกกับรองเท้าตอนขาลง เพื่อนในทีมเล็บม่วงมาแล้วจากการที่ปลายนิ้วชนกับหัวรองเท้าด้านใน

เสื้อกันฝนกันลม และเสื้อกันหนาว ควรมีติดไว้เพราะอากาศข้างบนแปรปรวน บางครั้งบางคนไปเจอฝนหนักบางคนไม่เจอรอบที่ผู้เขียนไปไม่เจอฝนเลยซักเม็ดแม้ว่าฟ้าจะครึ้มๆ อยู่ตลอดก็ตาม แต่ย้ำว่าลมแรงยิ่งเมื่อใกล้ยอดเขาและเวลาพระอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว

น้ำเปล่า เป็นสิ่งที่จำเป็นมากใครแบกไหวให้แบกไป ไกด์แนะนำเราว่าให้มีคนละอย่างน้อย 2 ลิตร แต่ทีมเราร่างบอบบางแบกกันไม่ไหว จึงหิ้วไปกันน้อยแล้วไปซื้อเอาตามจุดพักต่างๆ ซึ่งแพงมากขวดละ 500 เยนจากราคาปกติ 100 เยน

หมวก ควรมีหมวกกันแดดและกันหนาวติดไปด้วยเพราะแดดแรงและยูวีสูงมาก โปะครีมกันแดดเต็มแม็กไม่ต้องกลัวหมดเพื่อลดรายจ่ายในการกลับมาทรีตเม้นหน้า

ไฟฉายแบบคาดหัว Head lamp จำเป็นมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน

ไม้เท้าปีนเขา จะเป็นชนิดชิ้นเดียวหรือสองชิ้นก็ได้ ช่วยในการพยุงตัวผ่อนแรง ใช้แบบไม้ปีนเขาจริงๆ ไปเลยก็ลงทุนครั้งเดียวเก็บไว้ใช้โอกาสอื่นได้อีก หรือจะไปซื้อไม้พลองที่จุดเริ่มต้นก็ได้มีราคาตั้งแต่ 900-1500 เยน ซึ่งนี่คือความพิเศษที่เมื่อคุณซื้อแล้วในช่วงขาขึ้นแต่ละ station ที่ผ่านขึ้นไปจะมีจุด stamp คล้ายๆ กับการเก็บ RC Rally แต่ RC เหล่านี้ต้องจ่ายเงินในแต่ละจุด จุดละ 200-500 เยน รวมๆ แล้วค่า stamp แพงกว่าค่าไม้หลายเท่าตัวนัก

อุปกรณ์เสริมอื่นๆ อาทิ เครื่องดื่มและขนมให้พลังงาน Energy bar เสื้อผ้าถุงเท้าสำรองฉุกเฉินยาประจำตัว ยาแก้แพ้ความสูง ออกซิเจนกระป๋อง เป็น option เสริม มีไว้ก็เพื่อความอุ่นใจ

ต่อจากนี้เป็นบทสนทนาภายในตนเองที่เกิดขึ้นจากตัวตน (Self) ต่างๆ ของผู้เขียนที่ปรากฎขณะเดินขึ้นและลงภูเขาไฟฟูจิ

Prologue: 6 เดือน ก่อนออกเดินทาง

Self กระทิงผู้กล้า: เรื่องเดินต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง สบายๆ ทำได้ ชัวร์
Self ผู้โดดเด่นดุจเหยี่ยวบนฟากฟ้า: นี่มันสุดยอดเลย เราต้องไปเพราะยังไม่มีคนรอบๆ ตัวเราทำได้เลย cool ที่สุด
Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: เราต้องออกกำลังกายละ จะได้แข็งแรง เดี๋ยวไม่ไหวบนเขาต้องแย่แน่ๆ เอ้า…ฮึบๆ
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: นี่คือตารางการออกกำลังกาย วันละ 40 นาที และนี่คือนาฬิกาอัจฉริยะสำหรับวัดจำนวนก้าว (แอคชั่น /// รูดบัตรเครดิตปรื้ดๆ ผ่อนนาฬิกา 0% 6 เดือน)
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: ตื่นเต้นๆ จะได้เที่ยวแล้วววววเฮ้!!!

ณ ภูเขาไฟฟูจิ

Station 5 ที่ระดับ 2,305 เมตรจากระดับน้ำทะเล

Self กระทิงผู้กล้า: เราต้องทำได้ สบายๆ ไปยังๆ พวกเรา พร้อม ลุย!!!
ทุก Self รวมกัน: พร้อมแล้ว ปายยยย+++
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: แฮปปี้มากๆ โลกกว้างช่างสวยงาม การออกเดินทางคือเรื่องใหม่สดเสมอ
Self ผู้โดดเด่นดุจเหยี่ยวบนฟากฟ้า: ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอสิ เราต้องบันทึกความทรงจำไว้ว่าครั้งหนึ่งเรามาพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิ และคนอื่นๆต้องรู้… โลกต้องรู้ว่าฉันทำได้…
Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: ค่อยๆ เดินทีละก้าว เมื่อถึงทางชันให้ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าก่อนก้าวสั้นๆแต่ถี่จะช่วยลดความเหนื่อย
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: เสื้อกันฝน… พร้อม!! เสื้อหนาว… พร้อม!! น้ำดื่ม… พร้อม!! โทรศัพท์… พร้อม!! กระเป๋าเงิน… พร้อม!! กระเป๋าเหรียญ… พร้อม!! ของกิน… พร้อม!! กินยาแก้แพ้ความสูงเดี๋ยวนี้… ปฏิบัติ!!

ผ่านเวลาไป 2 ชั่วโมงที่ความสูง 2,750 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: (ออกคำสั่ง) หายใจเข้า หายใจออก ค่อยๆ ก้าว ใช้ไม้เท้าค้ำ ระวังซ้ายมีหน้าผา ข้างหน้ามีก้อนหินใหญ่ มือขวาปักไม้ มือซ้ายจับหิน เหยียบพื้นให้มั่งคงก่อนยันน้ำหนักตัวขึ้นไป ฮึบๆ
Self กระทิงผู้กล้า: ลุยขึ้นไป อย่าหยุด ข้างบนวิวสวยมาก
Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: ร่างกายเริ่มร้อนแล้ว ถอดอุปกรณ์ก่อนจะได้เดินสบายขึ้น
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: โอเค ถอดเสื้อกันลม พับใส่กระเป๋า เอาไว้บนๆ จะได้หยิบใช้ได้ง่าย

ผ่านเวลาไป 4 ชั่วโมง ที่ความสูง 3,250 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล Self ใหม่ๆ เริ่มปรากฏ

Self ตัดพ้อท้อแท้: ชั้นมาทำอะไรที่นี่ ทำไมชีวิตมันต้องลำบากขนาดนี้ อีกนานมั้ยกว่าจะถึง (พูดพร้อมเสียงหอบของลมหายใจปนน้ำตารื้นๆ)
Self ง้องแง้งสุดที่จะทน : ไม่เอาแล้ว เดินไม่ไหวแล้ว จะกลับบ้าน จะนอน จะหยุดพัก ต้องการน้ำ หิวน้ำ
Self ผู้โดดเด่นดุจเหยี่ยวบนฟากฟ้า: เรามาไกลขนาดนี้แล้ว ดูนั่นสิ เราอยู่เหนือเมฆแล้ววว วู้ฮู้…………… (ดีใจประหนึ่งได้รับรางวัลนักผจญภัย National Geographic)
Self ออดอ้อนออเซาะ: หนาวๆๆ… ขอจับมือหน่อย อากาศเย็นจุงเบยยย
Self กระทิงผู้กล้า: ไปๆ… เดินหน้าต่อ… เป้าหมายอีกไม่ไกลแล้ว

ผ่านไปอีกครึ่งชั่วโมง ที่ความสูง 3,350 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

Self ง้องแง้งสุดที่จะทน: ไหนบอกว่าจะถึงแล้วไง แงๆๆๆๆๆ เหนื่อยมากกกกกแล้ว
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: นั่งพัก จิบน้ำ เดี๋ยวร่างกายจะขาดน้ำ พระอาทิตย์ลับฟ้าแล้วอากาศเย็น หยิบถุงมือมาใส่เดี๋ยวไม่สบาย
Self ผู้โดดเด่นดุจเหยี่ยวบนฟากฟ้า: ดูนั่น… พระจันทร์ขึ้นแล้ว สวยงามมากกก ถ่ายรูปเร็วววว
Self กระทิงผู้กล้า: คนอื่นๆ เค้าไปกันหมดแล้ว เร่งมือหน่อย
Self ขี้งกนักคำนวน: (หยิบกระเป๋าตังค์ขึ้นดู) นี่ใช้เงินไปเยอะมากเลย ทั้งค่าปั้มตราบนไม้พลอง ทั้งค่าน้ำขวด 100… 200… 300… 400…
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปเตะขอบฟ้า: (รีบตัดบท) โอยยย… ช่างเหอะ… มาถึงนี่ละ มีเงินก็ใช้ไปเหอะ ไปๆๆ ออกเดินทาง

ผ่านเวลาไป 6 ชั่วโมงครึ่ง ณ ที่พักบน station 8.5

Self กระทิงผู้กล้า: ชนะแล้วในที่สุดก็มาถึง ไชโย!!!!
Self ผู้โดดเด่นดุจเหยี่ยวบนฟากฟ้า: ถ่ายรูปๆ ลงไปพื้นล่างเมื่อไรจะต้องรีบโพสต์ให้โลกรู้ว่า เราทำได้!!!
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: จุดหมายปลายทางนั้นสำคัญเสมอ
Self ขี้งกนักคำนวน: 500… 600… 700… 800…………………………
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: เก็บเสื้อกันลมไว้ทางขวา เก็บเสื้อหนาวไว้ทางซ้าย เก็บไม้เท้าไว้เหนือที่นอน แขวนกระเป๋าเป้ไว้เหนือศรีษะ กระเป๋าเงินอยู่ในชั้นลึกสุดของกระเป๋าเป้ กระเป๋าเหรียญเก็บไว้ในกระเปากางเกงขวา โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋ากางเกงซ้าย
Self ขี้งกนักคำนวน: 900… 1000… 1100…
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: โอ้ยยย… เลิกนับได้มั้ย
Self ผู้ประสานไมตรีหมายเลข 9: อย่าเถียงกันเลย ไปกินข้าว แล้วไปนอนกันนะ

ณ เวลา ตีหนึ่งของวันรุ่งขึ้น หลังจากได้ยินเสียงกุกกัก ก้อกแก้ก จ็อกแจ็ก ของคนอื่นๆ

Self กระทิงผู้กล้า: ตื่นเร็ว ลุกได้แล้ว
Self ขี้เกียจติดที่นอน: อืออออ ต้องตื่นแล้วเหรอ
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: ใช่แล้ว… เราจะขึ้นไปพิชิตปล่องภูเขาไฟกัน เฮ้!!
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: ตรวจเช็คอุปกรณ์ เสื้อผ้า กระเป๋า โทรศัพท์ รองเท้า ถุงเท้า ไม่มีอะไรลืมทิ้งไว้นะ ไป พวกเรา ออกเดินทาง

ระหว่างทาง

Self ไฮโซรักไพรเวซี่: โอยย… นี่คนเยอะอะไรขนาดนี้เนี่ย เบียดกันไปหมด
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: นั่นสิ ทางก็แคบยังจะเดินแซงอีก ทำไมไม่ต่อคิว
Self ผู้พิพากษา: คนประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระเบียบก็แซงคิวเป็นเนอะ หึหึ… (มองแรง)
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: ไปเถอะๆ อย่าไปสนใจเลย ข้างหน้าคือทางของเรา
Self ง้องแง้งสุดที่จะทน: ต้องเดินอีกแล้วเหรอ เค้าจะไม่ไหวแล้วน๊า
Self ผู้โดดเด่นดุจเหยี่ยวบนฟากฟ้า: นั่นๆ แสงแรกของวันใหม่กำลังจะมาแล้ว ฉันเห็นคนแรกเลย
Self กระทิงผู้กล้า: เป้าหมายอีกไม่ไกล เราต้องไปให้ถึง ลุยยยย

บนยอดเขาปากปล่องภูเขาไฟ

Self กระทิงผู้กล้า: ถึงแล้ววววววววว บรรลุภารกิจ ไชๆๆโยๆๆ
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: ขอเดินไปสำรวจปล่องภุเขาไฟก่อนนะ
Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: ระวังนะ ตรงนั้นเป็นหินภูเขาไฟ ระวังลื่น
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปเตะขอบฟ้า: เขียนไปรณียบัตรแล้วแสตมป์ส่งไปถึงตัวเองที่เมืองไทยดีกว่า (ลัลลาสุดๆ)
Self คุณท่านวินัยเจ้าระเบียบ: หกโมงเช้าละ ได้เวลาลงละ เดี๋ยวจะไปไม่ทันรถออก
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: ว้า… นี่เราต้องจากกันแล้วรึนี่ ฟูจิ
Self กระทิงผู้กล้า: เป้าหมายใหม่ต้องลงไปถึงข้างล่างให้ทันรถออก 11 โมง
Self ไฮโซรักไพรเวซี่: นั่น… ทางลงเหรอเนี่ย ทำไม่ผู้คนแย่งกันนักนะ มีทางอื่นอีกมั้ย
Self ผู้ประสานไมตรีหมายเลข 9: ไม่มีแล้วละ เมื่อกี้นี้ ได้ยินคนเค้าบอกว่าทางลงปิด ต้องลงทางเดิม
Self ไฮโซรักไพรเวซี่: กรี้ดด… นี่ชั้นต้องเบียดกันคนอื่นอีกแล้วเหรอ โอ้ย ความโรแมนติก ความเป็นส่วนตัวอยู่ที่ไหนกัน
Self ผู้ประสานไมตรีหมายเลข 9: ไม่เป็นไรนะ ใจเย็นๆ ต่างคนต่างไป เดี๋ยวก็ถึง

ระหว่างทางขาลง

Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: ก้าวซ้าย ก้าวชวา ค่อยๆ ไปทีละก้าว (ปรื้ดดดด… เสียงเท้าลื่นก้อนหินภูเขาไฟตัวสไลด์ไปข้างหน้า 2 เมตร)
Self ง้องแง้งสุดที่จะทน: โอ้ย… ลื่นอีกแล้ว ก้อนหินเข้าในรองเท้าด้วย ขอหยุดสะบัดก่อน อีกไกลแค่ไหนเนี่ย มองไม่เห็นจุดพักเบย แงๆๆ
Self ตัดพ้อท้อแท้: กลับมาอีกหน ชั้นมาทำอะไรที่นี่ ทำไมชีวิตมันต้องลำบากขนาดนี้ อีกนานมั้ยกว่าจะถึง (พูดพร้อมเสียงหอบของลมหายใจปนน้ำตารื้นๆ)
Self ลั้ลลาอิสระจะออกไปแตะขอบฟ้า: นั่นไง มองเห็นจุดพักแล้ว เดี๋ยวเราไปซื้อน้ำกันตรงนั้น อดทนหน่อยนะ
Self กระทิงผู้กล้า: ถึงจุดพักแล้ว แต่มีแต่ห้องน้ำ ไม่มีร้านขายน้ำ งั้นเราต้องลุยต่อ
Self ผู้พิทักษ์ลักษณ์ 8: ก้าวซ้าย ก้าวชวา ก้าวซ้าย ก้าวขวา (ปรื้ดดดด… เสียงเท้าลื่นก้อนหินภูเขาไฟตัวสไลด์ไปข้างหน้า 2 เมตร)
Self ง้องแง้งสุดที่จะทน: โอ้ย… ลื่นอีกแล้ว เมื่อไรจะถึง
Self ไฮโซรักไพรเวซี่: แค่กแค่ก… ฝุ่นเยอะไปหมด จะหายใจไม่ออกแล้วนะ คอแห้งไปหมด
Self ง้องแง้งสุดที่จะทน: น้ำ… จะกินน้ำ… ต้องการน้ำ… ฮือ

ระหว่างทางลงนี้ใช้เวลาอีกราว 5 ชั่วโมง ไม่นับรวมเวลาจากปล่องภูเขาไฟมาถึงทางลงเพราะต้องลงทางเดิมซึ่งจราจรจะติดขัดระหว่างคนขึ้นและคนลงในเวลาเดียวกัน เส้นทางเป็นหินภูเขาไฟก้อนเล็กๆ เป็นทางลาดซิกแซกลงมาเรื่อยๆ มีจุดแวะพักให้เข้าห้องน้ำได้ 3 จุด ไม่มีร้านขายของซึ่งนั่นทำให้ไม่มีน้ำขายระหว่างทางขาลง ดังนั้นคนที่จะไปต้องเผื่อน้ำสำหรับขาลงด้วย เนื่องจากทางลงมีฝุ่นจากก้อนหินสูง มีผ้าปิดจมูกไว้ด้วยก็จะดี ในขณะนี้ self ต่างๆ เกิดเสียงจอแจในหัวดังไปหมดจนไม่สามารถจะแยกแยะเสียงใดออกได้ มีเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยควบคุมร่างกายให้ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง นั้นก็คือ “สติ” ที่คอยกำกับย่างก้าวขณะปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีต และอนาคต แต่ค่อยเป็นค่อยไปทีละก้าว ทำให้เสียงใดๆ ในหัวก็ต่างนิ่งเงียบสงบเพื่อพากายและใจไปพร้อมกัน จนมาถึงจุดนัดหมาย ระหว่างทางขึ้นรถกลับมองภาพวิวสองข้างทางมองเห็นภูเขาไฟฟูจิแบบเต็มๆ ตาชัดๆ อีกครั้ง พบเพียงแต่ self-esteem ที่เกิดขึ้นภายในใจ เป็นความภาคภูมิที่ครั้งหนึ่งสามารถเอาชนะร่างกายและจิตใจตนเองให้ฝ่าฟันสิ่งต่างๆ ไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้สำเร็จ

ขอบคุณทุกๆ self ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย แต่นั่นทำให้เราได้ตระหนักรู้ภายในตนเอง (self-awareness) ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ยิ้มในใจบนใบหน้าที่อิดโรย จนหลับไป

หมายเหตุ: ที่มาของ self ต่างๆ มาจากการสร้างสรรค์ของผู้เขียนเองโดยเป็นการผสมผสานกันของแนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยาบุคลิกภาพที่ใช้ในการอธิบายการสื่อสารภายในตนเอง 4 แนวคิดที่ผู้เขียนคลุกคลีอยู่ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ทฤษฎีบุคลิกภาพ DISC ของวิลเลียม มาร์สตัน, แนวคิดนพลักษณ์, แนวคิดผู้นำ 4 ทิศ และแนวคิด Voice Dialogue ของเจมี โอนา แพนกายา โดยใช้ฐานจากแนวคิด voice dialogue ที่เปรียบเทียบตัวตนของมนุษย์ว่ามีหลากหลายเหมือนไพ่ 1 สำรับ 52 ใบ เพียงแต่เราเลือกที่จะถือไพ่ใบไหนไว้ในมือหรือทิ้งใบไหนไป มาเป็นฐานในการสร้างสรรค์ตัวตน (self) ต่อยอดด้วยการผนวกภาพสัญลักษณ์สัตว์ต่างๆ ที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจนจากแนวคิดผู้นำ 4 ทิศ (หรือสัตว์ 4 ทิศ) ซึ่งซ้อนทับกับตัวอักษรจากทฤษฎี DISC ได้อย่างลงตัวพอดี แล้วจึงนำมุมมองในเชิงลักษณ์ที่แสดงตัวตนเป็นเหมือนสามเส้าที่มีลูกศรสะท้อนกันในภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ซึ่งคุมด้วยปีกของลักษณ์อีกทีจากแนวคิดเรื่องนพลักษณ์มาทาบทับ โดยทั้งหมดนี้นำมาสร้างสรรค์เป็นชื่อเรียกของตัวตน (self) หรือเสียงต่างๆที่อยู่ภายในตนเองของผู้เขียนที่กำลังสื่อสารบางสิ่งบางอย่างกับตนเองในภาวะทางอารมณ์ที่ต่างๆ กัน มีบางตัวตน (self) ที่เกิดจากการรวมกันมากกว่า 1 แนวคิด หรือรวมกันได้ทั้ง 4 แนวคิดบ้างก็มี ซึ่งอาจจะตรงใจกับท่านผู้อ่านบ้างก็เป็นได้ นอกจากนี้ ยังได้แต่งเติมอรรถรสในการอ่านด้วยแนวทางสื่อสารการแสดงเพื่อให้สามารถเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตามและฉายภาพการสื่อสารภายในตนเองให้ปรากฎอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

รายการอ้างอิง

  • วรภัทร์ ภู่เจริญ. ศิษย์สี่ทัศน์: ศาสตร์แห่งการค้นหาตนเอง. กรุงเทพฯ: อริยชน, 2557.
  • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม. นพลักษณ์เพื่อการพัฒนาตน. โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรการอบรมและกระบวนการด้านจิตตปัญญาศึกษา. กรุงเทพฯ: ศูนย์คุณธรรม, 2551.
  • Marston, William. DISC, Integrative Psychology. 1931.
  • Onapangaia, Jaime. An Introduction to voice dialogue. USA: Heart of the Garden, 2012.

Featured Image: A Photograph by 12019 on Pixabay
Header Image: A Photograph by 日本語 on Pixabay

Paonrach Yodnane
Paonrach Yodnane
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปอรรัชม์ ยอดเณร - อาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำหน้าที่พิธีกรในรายการโทรทัศน์ชื่อดัง อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และโฆษกพรรคการเมือง จากประสบการณ์การอยู่เบื้องหน้า ปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลิตนิสิต มีความสนใจในการประยุกต์ใช้การสื่อสารเชิงวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงในบริบทต่าง ๆ เช่น จิตวิทยาการสื่อสาร การสื่อสารสำหรับผู้นำ การสื่อสารเพื่อการให้บริการ การเป็นพิธีกรและผู้ประกาศ การสื่อสารภายในตนเอง การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง