มนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเอง การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มจากภายในบุคคล บุคคลใดที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงย่อมนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ตนเองเป็นอันดับแรก และการเคลื่อนเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยจากบุคคลคนหนึ่งนั้นย่อมส่งผลกระทบถึงบุคคลอื่นๆรอบข้างได้โดยไม่รู้ตัว จากการศึกษาแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง Transformative Learning ของ Jack D. Mezirow พบว่า มีองค์ประกอบหลักของการเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1. ประสบการณ์ (Experience) อันเป็นของเฉพาะตัว เกิดขึ้นกับเฉพาะคนคนนั้นไม่ซ้ำใครไม่มีใครเหมือน 2. การใคร่ครวญสะท้อนคิด (Critical Reflection) การคิดพิจารณาทบทวนอย่างมีวิจารณญาณลดละอคติทั้งทางบวกและทางลบ 3. การแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผล (Rational Discourse) การสนทนาขยายความที่ก่อให้เกิดปัญญาในการมองสถานการณ์ๆ ต่างๆ อย่างไม่ตัดสินเลือกข้าง แนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ถูกนำมาใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ตามแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อกระตุ้นให้ในวัยผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆและเกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด-พฤติกรรม จากภายในตนเองซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีกไม่หยุดนิ่งหากเจ้าของประสบการณ์นั้นทำการใคร่ครวญและพิจารณาอย่างมีเหตุผลจะพบประตูสู่การเปลี่ยนแปลง นำพามาซึ่งวิธีคิดอื่นๆ พฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับตนเอง นับว่าเป็นภาวะการนำตนเอง (self-leadership) อย่างหนึ่ง
จากการที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะผู้นำโดยทำการทดสอบกับกลุ่มผู้นำทางการเมืองเพื่อหาข้อสรุปกระบวนการที่จะช่วยพัฒนาภาวะผู้นำจากภายในตนเอง พบว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักการเมืองให้นำไปสู่การพัฒนาคุณลักษณะด้านต่างๆนั้น ต้องใช้กระบวนการเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์จริง การใคร่ครวญสะท้อนคิด และการแลกเปลี่ยนอย่างมีวิจารณญาณ ตามแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning Theory) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนรู้3 ฐาน 1) ฐานกาย โดยการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจความรู้สึกอันเป็นฐานประสบการณ์สำคัญที่นำมาใช้ในกระบวนการต่อไป 2) ฐานปัญญา การใคร่ครวญสะท้อนคิดและการแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลที่ต่อเนื่องมาจากการใคร่ครวญสิ่งต่างๆอย่างดีแล้ว และ 3) ฐานใจ การเชื่อมโยงความรู้สึกของตนเองจากผลของการกระทำโดยการสนทนาและการจินตนาการความรู้สึกผู้อื่นเพื่อทำความเข้าใจหรือเรียกง่ายๆว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมเป็นฐาน (practice-based activity) ซึ่งใช้กิจกรรมเชิงสุนทรียะและศิลปะประเภทต่างๆ โดยไม่มีการวัดและประเมินค่าที่ตัวผลงาน (product) แต่ให้ความสำคัญกับการใคร่ครวญและการแลกเปลี่ยนความรู้สึกระหว่างกระบวนการดำเนินกิจกรรม (process) ของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
โดยความสำคัญของกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนนั้น มุ่งเน้นการออกแบบกิจกรรมให้สัมพันธ์กับคุณลักษณะภาวะการนำตนเองที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เป้าหมายของกระบวนการบรรลุวัตถุประสงค์ เน้นการเชื่อมโยงกิจกรรมใหม่กับประสบการณ์เดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้การตั้งคำถามกระตุ้นฐานปัญญา สร้างบรรยากาศให้เกิดความสนุกในการเรียนรู้โดยต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
จากการประมวลผลการศึกษา ของกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงผู้นำหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครในการร่วมตลอดระยะเวลาของกิจกรรม ซึ่งผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่านที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ทั้งหมดมา ณ ที่นี้ ที่ให้เกียรติเข้าร่วมในกิจกรรมการศึกษาวิจัยในครั้งนี้อย่างอดทนและซื่อตรงโดยไม่มีสิ่งใดตอบแทน พบว่า ประเด็นเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาภาวะการนำตนเองตามแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์จริงเข้าสู่ความคิด-จิตใจภายใน โดยการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติโดยการทำกิจกรรมฐานกายประเภทต่างๆนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเคาะประตูเพื่อนำเข้าไปสู่การสื่อสารการทบทวนใคร่ครวญภายในตนเองด้วยการคิดผ่านฐานหัว และสามารถเชื่อมโยงจดจำความรู้สึกผ่านฐานใจและสุดท้ายจะต้องแสดงออกหรือถ่ายทอดผ่านการกระทำโดยการสื่อสารออกมาเป็นคำพูดจากการสนทนานำไปสู่การเสวนาแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผลกับผู้อื่น ก่อให้เกิดความอดทน ยอมรับฟังผู้อื่นอย่างน้อมนำเข้ามาสู่ใจตนโดยไม่ประเมินหรือตัดสินผู้อื่นล่วงหน้า อีกทั้งจากการสื่อสารสนทนากับผู้อื่นอย่างมีเหตุผลนี้เองจะวกกลับไปสู่การสื่อสารใคร่ครวญทบทวนภายในตนเองใหม่อีกครั้งเพื่อทบทวนหาทางเลือกใหม่เป็นวงกลมที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค้นพบกรอบความคิดความเชื่อที่ฝังอยู่ภายในตนเองซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ใหม่จากประสบการณ์ชุดใหม่ การทบทวนใหม่ และการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดอย่างมีเหตุผล ตามแนวทางของทฤษฎี หัวใจสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง คือ การถอดบทเรียนจากตนเอง ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญโดยผู้เรียนจะต้องตั้งคำถาม วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อสรุปรวบยอดแบบแผนความคิด แบบแผนความรู้สึก และแบบแผนการกระทำของตนเอง ซึ่งได้จากวิธีการถอดรหัสการสื่อสารภายในตนเอง และการสื่อสารระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเสวนาความคิด-ความรู้สึกที่ผุดเกิดขึ้นจากประสบการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นผ่านการเสวนาสะท้อนคิดท้ายกิจกรรม การอ่านบันทึกประสบการณ์ของตนเอง หรือการพูดคุยสัมภาษณ์ระหว่างเพื่อนร่วมห้องและกระบวนกร เป็นต้น
การสื่อสารเพื่อการพัฒนาภาวะการนำตนเองโดยกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย เช่น เยาวชน หรือประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณลักษณะการนำตนเอง จากภายในตนเอง ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคต เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่าง ดังนั้น หน้าที่ของนักการศึกษา จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาและวิจัยในการสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ขึ้นเพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความคิด จิตใจ พฤติกรรม และความรู้ใหม่ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจากภายในตนเอง และเพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพสู่สังคมต่อไป