parallax background

ภาวะผู้นำ กับการสื่อสารภายในตนเอง สู่การเปลี่ยนแปลง

ภาวะผู้นำ กับการสื่อสารภายในตนเอง สู่การเปลี่ยนแปลง
Self-Leadership through Transformative Learning

ปอรรัชม์ ยอดเณร


มนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเอง การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มจากภายในบุคคล บุคคลใดที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงย่อมนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ตนเองเป็นอันดับแรก และการเคลื่อนเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยจากบุคคลคนหนึ่งนั้นย่อมส่งผลกระทบถึงบุคคลอื่นๆรอบข้างได้โดยไม่รู้ตัว จากการศึกษาแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง Transformative Learning ของ Jack D. Mezirow พบว่า มีองค์ประกอบหลักของการเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1. ประสบการณ์ (Experience) อันเป็นของเฉพาะตัว เกิดขึ้นกับเฉพาะคนคนนั้นไม่ซ้ำใครไม่มีใครเหมือน 2. การใคร่ครวญสะท้อนคิด (Critical Reflection) การคิดพิจารณาทบทวนอย่างมีวิจารณญาณลดละอคติทั้งทางบวกและทางลบ 3. การแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผล (Rational Discourse) การสนทนาขยายความที่ก่อให้เกิดปัญญาในการมองสถานการณ์ๆ ต่างๆ อย่างไม่ตัดสินเลือกข้าง แนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ถูกนำมาใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ตามแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อกระตุ้นให้ในวัยผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆและเกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด-พฤติกรรม จากภายในตนเองซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีกไม่หยุดนิ่งหากเจ้าของประสบการณ์นั้นทำการใคร่ครวญและพิจารณาอย่างมีเหตุผลจะพบประตูสู่การเปลี่ยนแปลง นำพามาซึ่งวิธีคิดอื่นๆ พฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับตนเอง นับว่าเป็นภาวะการนำตนเอง (self-leadership) อย่างหนึ่ง

จากการที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะผู้นำโดยทำการทดสอบกับกลุ่มผู้นำทางการเมืองเพื่อหาข้อสรุปกระบวนการที่จะช่วยพัฒนาภาวะผู้นำจากภายในตนเอง พบว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักการเมืองให้นำไปสู่การพัฒนาคุณลักษณะด้านต่างๆนั้น ต้องใช้กระบวนการเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์จริง การใคร่ครวญสะท้อนคิด และการแลกเปลี่ยนอย่างมีวิจารณญาณ ตามแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning Theory) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนรู้3 ฐาน 1) ฐานกาย โดยการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจความรู้สึกอันเป็นฐานประสบการณ์สำคัญที่นำมาใช้ในกระบวนการต่อไป 2) ฐานปัญญา การใคร่ครวญสะท้อนคิดและการแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลที่ต่อเนื่องมาจากการใคร่ครวญสิ่งต่างๆอย่างดีแล้ว และ 3) ฐานใจ การเชื่อมโยงความรู้สึกของตนเองจากผลของการกระทำโดยการสนทนาและการจินตนาการความรู้สึกผู้อื่นเพื่อทำความเข้าใจหรือเรียกง่ายๆว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมเป็นฐาน (practice-based activity) ซึ่งใช้กิจกรรมเชิงสุนทรียะและศิลปะประเภทต่างๆ โดยไม่มีการวัดและประเมินค่าที่ตัวผลงาน (product) แต่ให้ความสำคัญกับการใคร่ครวญและการแลกเปลี่ยนความรู้สึกระหว่างกระบวนการดำเนินกิจกรรม (process) ของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

  1. การกระตุ้นการเรียนรู้ภายใน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารภายในตนเอง การทำความรู้จักและทำความเข้าใจภายในตนเอง โดยใช้กิจกรรมเชิงสุนทรียะและศิลปะประเภทต่างๆ อาทิ การเล่าเรื่องเร้าพลัง กิจกรรมแผนที่ชีวิต การวาดภาพสะท้อนตัวตน และการเขียนบันทึกประสบการณ์เพื่อสะท้อนความรู้สึก เป็นต้น
  2. การเรียนรู้เชิงกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างบุคคลและการสื่อสารกลุ่มเน้นการทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น เข้าใจในความหลากหลายและเกิดประสบการณ์ใหม่ในการพัฒนาตนเอง โดยใช้ กิจกรรมผู้นำสี่ทิศ กิจกรรมแม่เหล็กอำนาจ กิจกรรมกระจกสี่ด้าน กิจกรรมรวมพลังข้ามแม่น้ำพิษ
  3. การตระหนักรู้ถึงสังคมและส่วนรวม เพื่อให้เกิดการคิดถึงผู้อื่นและตระหนักถึงความรู้สึกของคนในสังคม การสร้างจิตสำนึกสาธารณะและเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ โดยใช้ กิจกรรมวิพากษ์สังคมผ่านการชมภาพยนตร์ การสวมบทบาทสมมุติ และsurvivor game
  4. การสร้างสรรค์แนวทางใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างกรอบความคิดใหม่หรือแนวทางใหม่ด้วยตนเองนำไปสู่การปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ โดยใช้ กิจกรรมสุนทรียสนทนา กิจกรรมถอดบทเรียน การเขียนบันทึกสะท้อนความรู้สึกตนเอง การถอดรหัสตัวตน

โดยความสำคัญของกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนนั้น มุ่งเน้นการออกแบบกิจกรรมให้สัมพันธ์กับคุณลักษณะภาวะการนำตนเองที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เป้าหมายของกระบวนการบรรลุวัตถุประสงค์ เน้นการเชื่อมโยงกิจกรรมใหม่กับประสบการณ์เดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้การตั้งคำถามกระตุ้นฐานปัญญา สร้างบรรยากาศให้เกิดความสนุกในการเรียนรู้โดยต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

จากการประมวลผลการศึกษา ของกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงผู้นำหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครในการร่วมตลอดระยะเวลาของกิจกรรม ซึ่งผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่านที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ทั้งหมดมา ณ ที่นี้ ที่ให้เกียรติเข้าร่วมในกิจกรรมการศึกษาวิจัยในครั้งนี้อย่างอดทนและซื่อตรงโดยไม่มีสิ่งใดตอบแทน พบว่า ประเด็นเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาภาวะการนำตนเองตามแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์จริงเข้าสู่ความคิด-จิตใจภายใน โดยการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติโดยการทำกิจกรรมฐานกายประเภทต่างๆนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเคาะประตูเพื่อนำเข้าไปสู่การสื่อสารการทบทวนใคร่ครวญภายในตนเองด้วยการคิดผ่านฐานหัว และสามารถเชื่อมโยงจดจำความรู้สึกผ่านฐานใจและสุดท้ายจะต้องแสดงออกหรือถ่ายทอดผ่านการกระทำโดยการสื่อสารออกมาเป็นคำพูดจากการสนทนานำไปสู่การเสวนาแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผลกับผู้อื่น ก่อให้เกิดความอดทน ยอมรับฟังผู้อื่นอย่างน้อมนำเข้ามาสู่ใจตนโดยไม่ประเมินหรือตัดสินผู้อื่นล่วงหน้า อีกทั้งจากการสื่อสารสนทนากับผู้อื่นอย่างมีเหตุผลนี้เองจะวกกลับไปสู่การสื่อสารใคร่ครวญทบทวนภายในตนเองใหม่อีกครั้งเพื่อทบทวนหาทางเลือกใหม่เป็นวงกลมที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค้นพบกรอบความคิดความเชื่อที่ฝังอยู่ภายในตนเองซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ใหม่จากประสบการณ์ชุดใหม่ การทบทวนใหม่ และการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดอย่างมีเหตุผล ตามแนวทางของทฤษฎี หัวใจสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง คือ การถอดบทเรียนจากตนเอง ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญโดยผู้เรียนจะต้องตั้งคำถาม วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อสรุปรวบยอดแบบแผนความคิด แบบแผนความรู้สึก และแบบแผนการกระทำของตนเอง ซึ่งได้จากวิธีการถอดรหัสการสื่อสารภายในตนเอง และการสื่อสารระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเสวนาความคิด-ความรู้สึกที่ผุดเกิดขึ้นจากประสบการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นผ่านการเสวนาสะท้อนคิดท้ายกิจกรรม การอ่านบันทึกประสบการณ์ของตนเอง หรือการพูดคุยสัมภาษณ์ระหว่างเพื่อนร่วมห้องและกระบวนกร เป็นต้น

การสื่อสารเพื่อการพัฒนาภาวะการนำตนเองโดยกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย เช่น เยาวชน หรือประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณลักษณะการนำตนเอง จากภายในตนเอง ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคต เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่าง ดังนั้น หน้าที่ของนักการศึกษา จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาและวิจัยในการสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ขึ้นเพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความคิด จิตใจ พฤติกรรม และความรู้ใหม่ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจากภายในตนเอง และเพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพสู่สังคมต่อไป

รายการอ้างอิง

  • ปอรรัชม์ ยอดเณร. กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักการเมืองบนฐานทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.
  • Mezirow,J. Transformative dimensions of adult learning. Adult Education Quarterly.
  • Mezirow,J. Contemporary paradigms of learning. Adult Education Quarterly.
  • Mezirow,J. Transformative learning: Theory to practice. New Directions for Adult and Continuing Education, Summer, 1997.

Featured Image: A Photograph by Sergey Klimkin in Pixabay
Header Image: A Photograph by Eutah Mizushima in Unsplash

Paonrach Yodnane
Paonrach Yodnane
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปอรรัชม์ ยอดเณร - รองคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิต และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำหน้าที่พิธีกรในรายการโทรทัศน์ชื่อดัง อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และโฆษกพรรคการเมือง จากประสบการณ์การอยู่เบื้องหน้า ปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลิตนิสิต มีความสนใจในการประยุกต์ใช้การสื่อสารเชิงวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงในบริบทต่าง ๆ เช่น จิตวิทยาการสื่อสาร การสื่อสารสำหรับผู้นำ การสื่อสารเพื่อการให้บริการ การเป็นพิธีกรและผู้ประกาศ การสื่อสารภายในตนเอง การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง