ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การศึกษาด้านวาทวิทยาหรือวาทนิเทศอยู่ในวงจำกัดก็คือ ผู้คนโดยทั่วไปไม่เข้าใจขอบข่ายของศาสตร์แขนงนี้ โดยมักเชื่อกันว่าวาทวิทยาสอน (แค่) เรื่องการพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เห็นว่าจะต้องเสียเวลาเรียนไปทำไม บทความเรื่อง ก่อนจะเข้าสู่…วาทนิเทศในองค์กร โดย รุ้ง ศรีอัษฎาพร ได้อารัมภบทถึงขอบข่ายของการศึกษาสาขานี้ สาขาที่เดิมเน้นศึกษาสื่อบุคคล แต่ปัจจุบันได้ขยายตัวไปถึงการศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ในโลกแห่งเทคโนโลยี ดังที่เราจะได้เห็นวิธีคิดและพฤติกรรมการสื่อสารในอินเทอร์เน็ตของกลุ่มคนที่เรียกว่า “ดิจิทัลเนทิฟส์” (Digital Natives) ในบทความของปภัสสรา ชัยวงศ์ เรื่อง อร๊ายยย แรวงส์ มว้ากกกอ่ะแกร…ภาษากับการสื่อสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์
ความสามารถทางการสื่อสารของมนุษย์ (แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องการพูด) นั้นเป็นเรื่องสำคัญต่อคนทุกอาชีพและแวดวง สุกัญญา สมไพบูลย์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การได้รับเชิญไปให้บรรยายเรื่องการสอนให้เข้าถึงใจนักศึกษาหลากหลายสถาบัน ซึ่งผู้เขียนได้แจกแจงคุณสมบัติพื้นฐานของการสื่อสารที่ผู้สอนในฐานะสื่อบุคคลพึงมีนอกเหนือไปจากความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตน ผ่านบทความ สื่อ / สาร / สอน ในขณะที่ ปอรรัชม์ ยอดเณร ได้เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมเรื่องการสื่อสารด้วยการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการให้บริการทางการแพทย์นั้นมีความละเอียดอ่อนที่จะต้องใส่ใจเรื่องการสื่อสารเพียงใด และเราสามารใช้ประโยชน์จากพลังแห่งการสื่อสารได้เพียงใด ในบทความ พลังของคำ The Power of Words
ในโลกที่ผู้คนแสดงความเชื่อมั่นต่อ “พหุนิยมทางวัฒนธรรม” โดยเห็นว่าเป็นหนทางที่เหมาะสมการอยู่ร่วมกัน แต่ ปรีดา อัครจันทโชติ กลับตั้งคำถามว่าแนวคิดนี้อาจไม่เพียงพอต่อการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมย่อยในโลกปัจจุบัน ผ่านบทความ จากทรัมป์ถึงทรูโด: ความล้มเหลวของพหุนิยมทางวัฒนธรรม กับปัญหาการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมภายในชาติ จากวิกฤตของความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติดังกล่าวนี้ ปัญหาหลักสืบเนื่องมาจากลัทธิการเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แม้จะอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นแต่ก็ไม่ประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน บทความ ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย โดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ จึงได้จูงมือเราไปทำความรู้จักวิถีคิดและวิถีชีวิตของเพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดนีเซีย ผ่านการวิเคราะห์นวนิยายเรื่อง Di Bawah Lindungan Ka’bah ของ ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา และการดัดแปลงสู่ภาพยนตร์
นอกจากนี้เรายังมีบทความต่อเนื่องในชุดการวิเคราะห์วาทกรรมในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง เวลาเป็นของมีค่า : วาทกรรมสมเด็จย่า โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดย ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร ได้ใช้แนวคิดวาทกรรมเชิงวิพากษ์ ของ นอร์แมน แฟร์คลัฟ (Norman Fairclough) เป็นกรอบการวิเคราะห์
เหล่านี้ล้วนเป็นบทความที่เราเชื้อเชิญผู้อ่านก้าวเข้ามาสัมผัสโลกแห่งวาทวิทยา ขอเชิญทุกท่านอ่านโดยพลัน…
บรรณาธิการ